ออฟฟิศซินโดรม (Office Syndrome) โรคของคนวัยทำงาน ป้องกันรักษาอย่างไร
ออฟฟิศซินโดรม (Office Syndrome) คือ กลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อและเยื่อพังผืด (myofascial pain syndrome) ซึ่งมักจะเกิดจากการที่ต้องใช้กล้ามเนื้อมัดเดิมซ้ำไปมาเป็นระยะเวลานานและต่อเนื่อง รวมถึงอาการปวดหรือชาจากอาการอักเสบจากเนื้อเยื่อและเอ็น ตลอดจนปวดเมื่อยตามอวัยวะส่วนอื่นๆ ไล่ลงมาตั้งแต่คอ หลัง บ่า ไหล่ แขน หรือแม้กระทั่งบริเวณข้อมมือ มักเกิดขึ้นกับกลุ่มวัยทำงานที่ต้องนั่งทำงานในออฟฟิศหรือทำงานโดยใช้คอมพิวเตอร์และมือถือเป็นประจำ ซึ่งหากผู้ที่พบว่ามีอาการของโรคออฟฟิศซินโดรม แต่ไม่ทำการรักษาตัวในทันทีที่พบ อาการอาจทรุดหนักลงและลุกลามจนผู้ป่วยมีอาการปวดชนิดเรื้อรังก็เป็นได้
กลุ่มที่เสี่ยงเป็นออฟฟิศซินโดรม
1.คนทำงานในออฟฟิศ คนกลุ่มนี้แม้ไม่ได้เคลื่อนไหวร่างกายมากมาย จนดูเหมือนว่าจะไม่ได้ใช้กล้ามเนื้อ แต่การนั่ง ยืน หรือค้างอยู่ในท่าๆ หนึ่งที่นานเกินไป เช่น การก้มหน้าใช้งานมือถือ นั่งทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์นานๆ จะส่งผลให้กล้ามเนื้อมัดที่ใช้อิริยาบถนั้น ๆ เกิดอาการตึงและปวด
2.ผู้ใช้แรงานเป็นประจำหรือนักกีฬา เกิดการเคลื่อนไหวที่ไม่เหมาะสม เช่น การยกของผิดท่า การกระชากกล้ามเนื้อเร็วเกินไป การออกแรงมากเกินไป หรือต้องแบกของที่มีน้ำหนักมากเกินไป ทำให้กล้ามเนื้อหรือกระดูกได้รับบาดเจ็บเฉียบพลันหรือเรื้อรัง
พฤติกรรมเสี่ยงเป็นออฟฟิศซินโดรม
1.ทำกิจกรรมหรือทำงานลักษณะเดิมๆ ต่อเนื่อง อย่างน้อย 6 ชั่วโมง เช่น การทำงานของพนักงานออฟฟิศ พนักงานขายที่ต้องยืนขายตลอดทั้งวัน พนักงานขับรถที่ต้องนั่งขับรถเป็นเวลานานๆ
2.ผู้ที่ทำงานในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม เช่น ออฟฟิศแออัด อากาศไม่ถ่ายแท หรือโต๊ะเก้าอี้ที่ไม่เหมาะสมในการนั่งทำงาน
3.ผู้ที่ไม่ได้เคลื่อนไหวร่างกาย หรือ ไม่ค่อยออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
4.ผู้ทำงานที่ใช้แรงงานเป็นประจำ เช่น งานแบกหาม งานลาก ยก หรือเข็นวัสดุสิ่งของ
5.มีอาการปวดเรื้อรังพอรักษาหรือยืดกล้ามเนื้อแล้วอาการดีขึ้น แต่สักพักกลับมาเป็นอีก มักมีอาการบริเวณกล้ามเนื้อ บริเวณไหล่ ต้นคอ สะบัก และส่วนหลัง หรือมีอาการปวดร้าวไปยังส่วนต่างๆ เช่น ปวดร้าวขึ้นศีรษะ ปวดร้าวไปที่ไหล่หรือแขน ปวดร้าวลงขา
การป้องกันอาการออฟฟิสซินโดรม
1. ปรับพฤติกรรมและสภาพแวดล้อมในการทำงาน เช่น กำหนดเวลาพักเป็นระยะ ทุก 2-3 ชั่วโมงหรือเร็วกว่านั้น ลุกขึ้นมาเคลื่อนไหวหรือบริหารผ่อนคลายกล้ามเนื้อ ปรับเปลี่ยนท่าทางไม่ค้างอยู่ท่าใดท่าหนึ่งนานเกินไป เลือกใช้โต๊ะเก้าอี้ทำงานที่เหมาะสมกับศรีษะ ปรับระดับและท่านั่งที่ถูกต้อง คือนั่งหลังตรง จอคอมพิวเตอร์จะต้องอยู่ในระดับสายตา ไม่ก้มหรือเงย และหัวไหล่ไม่ยกขณะทำงาน
2.ออกกำลังกายเป็นประจำ โดยเป็นการออกกำลังกาย ดังนี้
-ออกกำลังกายแบบคาร์ดิโอ เช่น วิ่ง ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน ซึ่งช่วยให้การหมุนเวียนเลือดมีประสิทธิภาพ กล้ามเนื้อเนื้อมีความแข็งแรง ป้องกันเอ็นและข้อยึดเกิดความยืดหยุ่น
-ออกกำลังกายแบบเสริมสร้างความแข็งแรงกล้ามเนื้อ เช่น การหมุน การก้ม-เงย หรือออกกำลังกายเพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อส่วนแกนกลางลำตัว เช่น การออกกำลังกายแบบพิลาทิศ
-ออกกำลังกายแบบยืดเหยียด ซึ่งมีประโยชน์ทำให้ข้อต่อเคลื่อนไหวได้เป็นปกติ ลดอาการตึง และเมื่อยล้าของกล้ามเนื้อ