1. การใช้ยาโรคประจำตัวในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง
ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังทั้งที่มีและไม่มีโรคร่วมอื่น ๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง ควรใช้ยาโรคประจำตัวตามคำแนะนำของแพทย์และเภสัชกรอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ โดยห้าม
1. ปรับลดขนาดยา
2. ปรับเพิ่มขนาดยา
3. หยุดยา
4. ซื้อยารับประทานด้วยตนเอง
เนื่องจาก แพทย์และเภสัชกรได้ตรวจสอบขนาดยาให้เหมาะสมกับการทำงานของไตในผู้ป่วย เพื่อให้สามารถควบคุมอาการของโรคและไม่ส่งผลเสียต่อการทำงานของไต รวมทั้งหากไม่สามารถควบคุมโรคร่วมอื่นได้จะส่งผลให้โรคไตเรื้อรังแย่ลง
2. ยาที่ควรระวังการใช้ในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง
– สมุนไพร ยาต้ม ยาหม้อ ยาลูกกลอนและอาหารเสริมบางประเภทสามารถลดการทำงานของไตและส่งผลให้เสียสมดุลเกลือแร่ในร่างกาย ความดันโลหิตสูงขึ้น รวมทั้งอาจเกิดอันตรกิริยากับยาโรคประจำตัวที่ใช้อยู่เดิมได้
– ยาบรรเทาอาการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์หรือที่เรารู้จักกันทั่วไปในชื่อ “ ยาแก้ปวด แก้ยอก ” สามารถทำให้เกิดการคั่งของน้ำ ความดันโลหิตสูงและทำให้การทำงานของไตลดลงได้ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังระยะที่ 3 เป็นต้นไป
– ยาฆ่าเชื้อบางประเภทจำเป็นต้องปรับลดขนาดยาลงตามการทำงานของไต เนื่องจาก ในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังการขับยาฆ่าเชื้อออกจากร่างกายจะลดลง ทำให้ยาสะสมอยู่ในร่างกายได้ยาวนานขึ้น ส่งผลให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์จากยาหรือเป็นพิษต่อไตโดยตรงได้
– สารทึบรังสีบางประเภทสามารถทำให้การทำงานของไตลดลงอย่างเฉียบพลันได้ ผู้ป่วยบางรายที่มีความจำเป็นต้องได้รับการวินิจฉัยทางรังสีเพิ่มเติม ควรแจ้งแพทย์ผู้ทำการรักษาทุกครั้งว่าตนเองมีโรคประจำตัว
– ยาอื่น ๆ บางชนิดเมื่อเข้าสู่ร่างกายจะถูกขับออกผ่านทางไต สามารถเกิดพิษต่อไตหรืออาจทำให้ไม่สามารถควบคุมอาการของโรคร่วมอื่นได้ ซึ่งส่งผลทำให้โรคไตเรื้อรังแย่ลง ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังจึงไม่ควรซื้อยาจากร้านที่ไม่มีแพทย์หรือเภสัชกรประจำอยู่ โดยเฉพาะยาที่จัดเป็นชุดมารับประทานด้วยตนเอง
