การเทียบเคียงผลการดำเนินงาน (Benchmarking) หมายถึง วิธีการในการวัดและเปรียบเทียบผลผลิต บริการ และวิธีการปฏิบัติกับองค์กรที่สามารถทำได้ดีกว่า เพื่อนำผลการเปรียบเทียบมาใช้ในการปรับปรุงองค์กรของตนเพื่อมุ่งความเป็นเลิศทางธุรกิจ (ที่มา: คู่มือการประกันคุณภาพการศึกษาภายใน ระดับอุดมศึกษา พ.ศ. 2557)

ในการดำเนินการเกี่ยวกับการเทียบเคียงผลการดำเนินงาน (Benchmarking) มีข้อพึงระวังดังนี้
- การเทียบเคียงผลการดำเนินงานจัดทำเพื่อการเรียนรู้ และนำไปสู่การปรับปรุงคุณภาพ ไม่ใช่ทำเพื่อการแข่งขัน
- การเปรียบเทียบข้อมูลตัวเลข ไม่ถือว่าเป็นการเทียบเคียงผลการดำเนินงาน การเทียบเคียงผลการดำเนินงานที่ถูกต้อง จะต้องบอกได้ว่าเราได้เรียนรู้อะไรจากคู่เทียบ และจะนำมาปรับใช้อย่างไร
- ก่อนประสานงานกับคู่เทียบ จะต้องศึกษาหาข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูลของคู่เทียบให้ชัดเจนก่อนว่ามีการดำเนินงานที่โดดเด่นกว่าทั้งในด้านวิธีปฏิบัติ กระบวนการ และผลลัพธ์
- การเทียบเคียงผลการดำเนินงานกับองค์กรอื่น ควรบอกวัตถุประสงค์หรือทำข้อตกลงกับคู่เทียบให้ชัดเจนตั้งแต่ต้นว่าต้องการจะใช้ข้อมูลใด และมีข้อมูลเปิดเผยได้ หรือข้อมูลใดเปิดเผยไม่ได้
- การเทียบเคียงผลการดำเนินงานไม่ควรใช้ความรู้สึกในการตัดสินใจ เช่น เรารู้สึกว่าเราดีกว่าหรือด้อยกว่าคู่เทียบแต่ต้องใช้ ข้อเท็จจริง มาใช้เพื่อตอบคำถามและการตัดสินใจในการดำเนินการต่าง ๆ
- การตัดสินใจเลือกคู่เทียบต้องอธิบายเหตุผลกับผู้ประเมินได้ว่าเพราะเหตุใดจึงเลือกคู่เทียบนั้น ๆ เพื่อตอบโจทย์หรือบริบทต่าง ๆ ของเรา ด้านวิสัยทัศน์ พันธกิจ เป้าหมาย/วัตถุประสงค์ เป็นต้น
การเทียบเคียงผลการดำเนินงาน (Benchmarking) ให้พึงระลึกอยู่เสมอว่า มีวัตถุประสงค์ในการปรับปรุง พัฒนา แสวงหากระบวนการหรือแนวปฏิบัติเพื่อพัฒนาการจัดการศึกษาไปสู่ความเป็นเลิศ ไม่ใช่เพื่อการแข่งขัน
Facebook Comments Box