Generic selectors
Exact matches only
Search in title
Search in content
Post Type Selectors

มารู้จัก “งานตรวจสอบภายใน มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์” กันเถอะ

ทุกคนเคยสงสัยกันหรือไม่คะว่า หน่วยตรวจสอบภายใน มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์  มีหน้าที่อย่างไร  งานของผู้ตรวจสอบภายในเป็นอย่างไร  การปฏิบัติงานของผู้ตรวจสอบภายในมีกระบวนการอย่างไรบ้าง  งานตรวจสอบภายในสามารถสนับสนุนส่งเสริมให้การปฏิบัติงานในทุกระดับของมหาวิทยาลัยบรรลุตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพได้อย่างไร ???  วันนี้เรามีคำตอบให้ทุกคนค่ะ….

  1. หน่วยตรวจสอบภายใน มีหน้าที่อย่างไร ?

หน่วยตรวจสอบภายในมีหน้าที่ส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการกำกับดูแลที่ดี  มีความโปร่งใสในการปฏิบัติงานภายใต้การบริหารความเสี่ยงและการควบคุมภายในที่มีประสิทธิผล  เพื่อเพิ่มคุณค่าและปรับปรุงการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยให้ดียิ่งขึ้น  ทำให้เกิดการบันทึกรายการทางบัญชีและรายงานผลตามหน้าที่และความรับผิดชอบ เพื่อให้มหาวิทยาลัยได้ข้อมูลหรือรายงานผลที่ถูกต้อง ครบถ้วน สมบูรณ์  ช่วยปรับปรุงระบบงานให้รัดกุม ลดขั้นตอนที่ซ้ำซ้อนและให้เหมาะสมกับสถานการณ์ตลอดเวลา  ช่วยลดเวลาและค่าใช้จ่าย เป็นสื่อกลางระหว่างผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงาน  การปฏิบัติงานของมหาวิทยาลัยมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล

2. บุคลากรของหน่วยตรวจสอบภายใน มีหน้าที่อย่างไร ?

หน้าที่หลักสำคัญของผู้ตรวจสอบภายใน มี 2 เรื่อง คือ 1) การปฏิบัติงานให้ความเชื่อมั่น  และ 2) การปฏิบัติงานให้คำปรึกษา 

3. งานตรวจสอบภายใน มีลักษณะอย่างไร ?

งานตรวจสอบภายในสามารถแบ่งลักษณะตามประเภทของงาน ได้ดังนี้

1)  งานบริการให้ความเชื่อมั่น (Assurance  Services)  คือ การตรวจสอบหลักฐานต่าง ๆ อย่างเที่ยงธรรม  เพื่อให้ได้มาซึ่งการประเมินผลอย่างอิสระในกระบวนการกำกับดูแล  การบริหารความเสี่ยง  และการควบคุมของมหาวิทยาลัย  โดยตัวอย่างของงานบริการให้ความเชื่อมั่น   ได้แก่

1.1)  การตรวจสอบการเงิน (Financial  Auditing)  คือ การตรวจสอบความถูกต้อง  ความครบถ้วน  และความเชื่อถือได้ของข้อมูลการเงิน  และรายงานการเงิน  การตรวจสอบการปฏิบัติตามมาตรฐานการบัญชี  นโยบายการบัญชี  กฎหมาย  ระเบียบ  ข้อบังคับ  หลักเกณฑ์  ประกาศที่เกี่ยวข้อง  รวมถึงการประเมินความเสี่ยง  ระบบการควบคุมภายใน  และความเป็นไปได้ที่จะเกิดข้อผิดพลาดและการทุจริตด้านการเงินและบัญชี

1.2)  การตรวจสอบการปฏิบัติตามกฎระเบียบ (Compliance  Auditing)  คือ การตรวจสอบการปฏิบัติตามกฎหมาย  ระเบียบ  ข้อบังคับ  หลักเกณฑ์  ประกาศ  มติคณะรัฐมนตรี  รวมถึงมาตรฐาน  แนวปฏิบัติ  และนโยบายที่กำหนดไว้

1.3)  การตรวจสอบดำเนินงาน (Performance  Auditing)  คือ การตรวจสอบความประหยัด  ความมีประสิทธิผล  ความมีประสิทธิภาพ  และความคุ้มค่าของกิจกรรมที่ตรวจสอบ

1.4)  การตรวจสอบอื่น ๆ  หมายถึง  การตรวจสอบอื่นนอกเหนือจาก ข้อ 1.1 – 1.3  เช่น  การตรวจสอบความมั่นคงปลอดภัยของเทคโนโลยี โดยการประเมินความเสี่ยงและการควบคุมภายในด้านเทคโนโลยี และการตรวจสอบพิเศษ (การตรวจสอบตามที่ได้รับมอบหมายเป็นกรณีพิเศษ) เป็นต้น

2)  งานบริการให้คำปรึกษา (Consulting  Services)  คือ  การบริการให้คำปรึกษา แนะนำและบริการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง  ซึ่งลักษณะงานและขอบเขตของงานจะเป็นไปตามข้อตกลงที่ทำขึ้นร่วมกับผู้รับบริการ  โดยมีจุดประสงค์เพื่อเพิ่มคุณค่าให้กับมหาวิทยาลัย  และปรับปรุงกระบวนการกำกับดูแล  การบริหารความเสี่ยง  และการควบคุมของมหาวิทยาลัยให้ดีขึ้น

4. กระบวนการตรวจสอบ เป็นอย่างไร ?

กระบวนการตรวจสอบของหน่วยตรวจสอบภายใน มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ประกอบด้วย 4 ขั้นตอนสำคัญ  ได้แก่  การวางแผนการตรวจสอบ  การปฏิบัติงานตรวจสอบการรายงานผลการตรวจสอบ  และการติดตามผลการตรวจสอบ

ภาพที่ 1 กระบวนการตรวจสอบของหน่วยตรวจสอบภายใน มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

1)  การวางแผนการตรวจสอบ แผนตรวจสอบมี 2 ลักษณะ ดังนี้

1.1)  แผนการตรวจสอบระยะยาว

แผนการตรวจสอบระยะยาว 3 ปี ซึ่งในการจัดทำแผนการตรวจสอบระยะยาวประจำปีงบประมาณ 2565 – 2567 ได้กำหนดให้สอดคล้องกับการบรรลุเป้าหมายแผนยุทธศาสตร์ 20 ปี (พ.ศ. 2561 – 2580) ในการเป็นมหาวิทยาลัยสมบูรณ์แบบชั้นนำของประเทศ  โดยกำหนดกรอบในแผนให้ครอบคลุมทุกหน่วยงานตามลำดับความเสี่ยง ได้แก่ หน่วยงานวิสาหกิจ  หน่วยงานที่เป็นผู้รับผิดชอบของภารกิจหลักของมหาวิทยาลัย  หน่วยงานตั้งใหม่  หน่วยงานที่ผู้บริหารให้ความสนใจห่วงใย 

1.2)  แผนการตรวจสอบประจำปี

แผนการตรวจสอบประจำปีกำหนดภารกิจหรือกิจกรรมที่ต้องตรวจสอบในปีงบประมาณนั้น ๆ ซึ่งประกอบด้วย  เรื่องที่ตรวจ  วัตถุประสงค์การตรวจสอบ  หน่วยรับตรวจ  ความถี่ในการตรวจสอบ  ช่วงเวลาที่ดำเนินการตรวจสอบ  ไตรมาสที่แล้วเสร็จและผู้รับผิดชอบ  ซึ่งในกระบวนการจัดทำแผนการตรวจสอบประจำปีได้ผ่านการวิเคราะห์ข้อมูลจากผลการประเมินความเสี่ยงในภาพรวมของมหาวิทยาลัย และจัดลำดับความสำคัญของทุกประเด็นเสี่ยงเพื่อคัดเลือกภารกิจหรือกิจกรรมสำคัญที่มีความจำเป็นต้องตรวจสอบตามลำดับ  หน่วยตรวจสอบภายในมีการรวบรวมข้อมูลเพื่อใช้ในการระบุปัจจัยเสี่ยงอย่างรอบคอบทุกด้านและครอบคลุมทุกภารกิจของมหาวิทยาลัย 

2)  การปฏิบัติงานตรวจสอบ

2.1)  การวางแนวการตรวจสอบ

แนวการตรวจสอบเป็นแผนการทำงานที่ทำให้ผู้ตรวจสอบภายในสามารถปฏิบัติงานตรวจสอบให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนดและเป็นไปตามแผนการตรวจสอบประจำปี  เป็นแนวทางการปฏิบัติงานสำหรับงานที่ได้รับมอบหมาย  ทำให้ผู้ตรวจสอบภายใปฎิบัติงานได้อย่างตรงประเด็น  ทั้งนี้  แนวการตรวจสอบต้องได้รับความเห็นชอบจากหัวหน้าหน่วยตรวจสอบภายในก่อนเริ่มปฏิบัติงานตรวจสอบ 

2.2)  การปฏิบัติการตรวจสอบ

ผู้ตรวจสอบภายในจัดทำหนังสือแจ้งการเข้าตรวจสอบต่อหัวหน้าหน่วยรับตรวจก่อนเริ่มปฏิบัติงานตรวจสอบ  หัวหน้าทีมตรวจสอบประชุมทีมเพื่อมอบหมายงานให้กับผู้ตรวจสอบภายใน และผู้ตรวจสอบภายในปฏิบัติงานตรวจสอบตามแนวการตรวจสอบโดยมีวิธีการตรวจสอบหลายวิธี เช่น การตรวจสอบเอกสารหลักฐาน  การสัมภาษณ์  การสังเกตการณ์การปฏิบัติงาน เป็นต้น  หลังจากการวิเคราะห์และประเมินผลข้อมูลแล้วจัดทำกระดาษทำการบันทึกผลการตรวจสอบ กระดาษทำการสรุปผลการตรวจสอบ และรายงานผลการตรวจสอบ เพื่อรายงานผลต่อผู้ที่เกี่ยวข้องต่อไป

3)  การรายงานผลการตรวจสอบ

3.1)  การรายงานผลการตรวจสอบต่อหน่วยรับตรวจ  ผู้ตรวจสอบภายในจัดประชุมเพื่อรายงานผลการตรวจสอบต่อหัวหน้าหน่วยรับตรวจและผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อรับฟังความคิดเห็นต่อรายงานผลการตรวจสอบ

3.2)  การรายงานผลการตรวจสอบต่ออธิการบดีและคณะกรรมการติดตาม ตรวจสอบและประเมินผลการดำเนินงานของมหาวิทยาลัย ผู้ตรวจสอบภายในจัดทำรายงานผลการตรวจสอบฉบับสมบูรณ์ โดยสรุปประเด็นข้อตรวจพบทุกประเด็น พร้อมทั้งความคิดเห็นของหน่วยรับตรวจ เพื่อรายงานต่ออธิการบดี  และสรุปประเด็นข้อตรวจพบพร้อมความเห็นของอธิการบดีเพื่อรายงานต่อคณะกรรมการติดตาม ตรวจสอบฯ

4)  การติดตามผลการตรวจสอบ

ผู้ตรวจสอบภายในติดตามผลการดำเนินงานของหน่วยรับตรวจตามข้อเสนอแนะของหน่วยตรวจสอบภายใน ตามช่วงเวลาที่กำหนดไว้ตามแผนการตรวจสอบ  ซึ่งมีขั้นตอนการปฏิบัติงานเป็นไปตามประกาศมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เรื่อง หลักเกณฑ์การติดตามการปฏิบัติตามข้อเสนอแนะของหน่วยตรวจสอบภายใน พ.ศ. 2564 กล่าวโดยสรุปว่า หน่วยตรวจสอบภายใน มีหน้าที่ให้บริการความเชื่อมั่นและการให้คำปรึกษาอย่างเที่ยงธรรมและเป็นอิสระ เพื่อเพิ่มคุณค่าและปรับปรุงการปฏิบัติงานของมหาวิทยาลัย  ช่วยให้มหาวิทยาลัยบรรลุเป้าหมายได้ด้วยการประเมินและปรับปรุงประสิทธิผลของกระบวนการกำกับดูแล การบริหารควรเสี่ยง และการควบคุม อย่างเป็นระบบและเป็นระเบียบ

อ้างอิง :   กรมบัญชีกลาง  กระทรวงการคลัง. หนังสือกรมบัญชีกลาง ที่ กค 0409.2/ว614 ลงวันที่ 23 ธันวาคม 2563 เรื่อง การกำหนดประเภทของงานตรวจสอบภายใน. สืบค้นจาก : https://www.cgd.go.th/cs/internet/internet

ผู้เขียน:นางฉัตรหทัย สุวรรณมาลัย
รักษาการแทนหัวหน้างานตรวจสอบการเงิน และการปฏิบัติตามกฏ ระเบียบและนโยบาย

Facebook Comments Box