Generic selectors
Exact matches only
Search in title
Search in content
Post Type Selectors

ยุทธศาสตร์ “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง”

บทความโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ไพรินทร์ ศรีสินทร อาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาจีน สำนักวิชาศิลปศาสตร์

ภาพ : https://th.wikipedia.org/

ยุทธศาสตร์ “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ริเริ่มโดยประธานาธิบดีสีจิ้นผิงและได้ประกาศเป็นครั้งแรกต่อสาธารณชนเมื่อกล่าวสุนทรพจน์ ณ Nazarbayev University ประเทศคาร์ซัคสถานในวันที่ 7 กันยายน 2013 ยุทธศาสตร์ดังกล่าวมาจากนโยบาย “แถบเศรษฐกิจเส้นทางสายไหม” ผนวกกับ “เส้นทางสายไหมทางทะเลในศตวรรษที่ 21” อาจกล่าวได้ว่า ยุทธศาสตร์นี้เป็นยุทธศาสตร์ที่สืบเนื่องมาจากนโยบายปฏิรูปเปิดประเทศของจีน แต่ “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” มีขอบเขตในการเปิดกว้างมากกว่าการปฏิรูปเชิงเศรษฐกิจอย่างเดียว เนื่องจากยุทธศาสตร์ดังกล่าวคือ การดำเนินนโยบายเปิดกว้างทุกด้านต่อต่างประเทศทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมืองและวัฒนธรรม ด้วยการนำเสนอหลักคิดแบ่งปันผลประโยชน์ร่วมกันอย่างเสมอภาค และการหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกันของทั่วโลกในระบบโลกาภิวัตน์  ยังเอื้อต่อการพัฒนามณฑลตอนในและมณฑลตะวันตกของจีน สืบต่อจากความสำเร็จของการพัฒนามณฑลทางใต้และหัวเมืองชายฝั่งทะเลของจีนที่เป็นผลมาจากนโยบายปฏิรูปเปิดประเทศช่วงทศวรรษที่ 1980 ของเติ้งเสี่ยวผิง  Wang Yiwei (2015)  หลักเชื่อมโยงความร่วมมือของยุทธศาสตร์“หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง”มี 5 ด้าน ได้แก่ การเมือง คมนาคม การค้า การเงินและจิตวิญญาณมนุษย์หลักการสำคัญของนโยบายนี้คือ Duan Kun (2016), Du Juchang (2016)

1.การเผยแพร่และพัฒนาเส้นทางสายไหมซึ่งเคยเป็นเส้นทางเชื่อมจีนกับเอเชียและแอฟริกาทั้งทางบกและทางน้ำ เพื่อให้มีการแลกเปลี่ยนสินค้า วัฒนธรรม ศาสนาและลำเลียงสินค้าและเทคโนโลยีระหว่างจีนกับประเทศแถบเส้นทางนี้ การพัฒนาเส้นทางสายนี้จะมีประโยชน์ต่อคาบสมุทรอินโดจีนซึ่งมีพื้นที่ 2 ล้านตารางกิโลเมตร คิดเป็นหนึ่งในห้าของจีน ถ้าจีนนำเข้าน้ำมันดิบจากยุโรปผ่านช่องแคบมะละกาย่อมสะดวกและรวดเร็วขึ้น กอปรกับคาบสมุทรอินโดจีนยังมีทรัพยากรแม่น้ำหลายสายเชื่อมหลายเมือง ทำให้สะดวกต่อการขนส่งสินค้า

2. ความร่วมมือที่เปิดกว้างกับประเทศแถบเส้นทางสายไหม หากพิจารณาจากสภาพปัจจุบัน จีนเปิดประเทศยังไม่สมดุล เพราะแถบตะวันออกและหัวเมืองชายฝั่งทะเลตอนใต้เป็นพื้นที่ได้เปรียบเชิงภูมิศาสตร์ จึงเปิดประเทศในดินแดนส่วนนี้สู่ภายนอกไปก่อน ดังนั้นนโยบาย “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” จะส่งเสริมให้ดินแดนตอนในเปิดออกสู่ต่างประเทศให้มากกว่าเดิม เนื่องจากพื้นที่จีนในภาคกลางและมณฑลตอนในยังพัฒนาเศรษฐกิจได้ช้า และพื้นที่ส่วนใหญ่คือเมืองแถบเส้นทางสายไหมนั่นเอง

3. เชื่อมเส้นทางขนส่งสินค้าทั้งทางบกและทางน้ำ เมื่อพิจารณาจากเส้นทาง “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” เห็นได้ว่าเชื่อมทั้งตะวันตกและตะวันออก ทางบกกับทางน้ำ ทำให้ทางบกและทางน้ำไม่ถูกแยกจากกัน กลายเป็นการเชื่อมกันเป็นหนึ่งเดียว

4. นโยบายร่วมกันรับผลประโยชน์ win win ขณะนี้จีนได้สร้างท่อส่งน้ำมัน และสาธารณูปโภค แร่ธาตุ พลังงานออกไปต่างประเทศ แสดงว่าเทคโนโลยีก้าวไกล จึงต้องดำเนินการต่อเนื่องเพราะจีนมีอุปทานพลังงานเหลือเฟือจึงต้องทำให้สินค้าพลังงานสมดุลและถือว่าทำให้ประเทศรายรอบได้รับผลประโยชน์ร่วมด้วย

5. วางพื้นฐานความร่วมมือกับต่างประเทศ หากพิจารณาจากดินแดนประเทศแถบยุทธศาสตร์ “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” แล้ว จะพบว่าหัวเข็มขัดด้านหนึ่งเป็นเขตเศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิกที่รุ่งเรือง อีกหัวเข็มขัด คือเขตเศรษฐกิจยุโรปที่พัฒนาแล้ว ตรงกลางคือดินแดนจีนแถบมณฑลส่านซี กานซู่ ชิงไห่ หนิงเซี่ยซินเกียงเสฉวน ฉงชิ่ง ยูนนาน กวางสี  มีจุดสำคัญคือ การเชื่อมความร่วมมือจีนกับเอเชียกลาง และเอเชียอาคเนย์

6. สร้างความสมดุลให้สภาพโลกาภิวัตน์ จีนเห็นว่าสภาพเดิมประเทศแถบชายฝั่งทะเลพัฒนาไปก่อน ดินแดนตอนในที่เป็นภูเขาสูง มีอุปสรรคทางธรรมชาติ ถ้าได้สร้างเส้นทางคมนาคมที่เชื่อมกัน ย่อมทำให้เศรษฐกิจพัฒนา มุ่งการพัฒนาไปด้านตะวันตกของจีน ทำให้ด้านตะวันตกสมดุลกับตะวันออก

ทั้งนี้เส้นทางเศรษฐกิจสายหลักที่เชื่อมร้อยกับทั่วโลกจะแบ่งเป็น Jiang Xiaotian (2017)

  1. ระเบียงเศรษฐกิจจีน-คาบสมุทรอินโดจีน ผ่านทะเลจีนใต้ไปตะวันตกเข้ามหาสมุทรอินเดียเพื่อเชื่อมระเบียงเศรษฐกิจจีน-ปากีสถาน และระเบียงเศรษฐกิจจีน-บังคลาเทศ-อินเดีย-พม่า จากนั้นสร้างเส้นทางเศรษฐกิจจีน-มหาสมุทรอินเดีย –แอฟริกา –ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน
  2. เส้นทางผ่านทะเลจีนใต้ไปทางใต้เชื่อมมหาสมุทรแปซิฟิก เพื่อสร้างช่องทางเศรษฐกิจจีน- โอเชียเนีย-แปซิฟิกใต้
  3. สร้างเส้นทางเศรษฐกิจมหาสมุทรอาร์กติกเชื่อมทวีปยุโรป                  

นโยบาย“หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางเน้นไปที่การเชื่อมโยงเป็นเอกภาพทั้งในและนอกประเทศดังกล่าวข้างต้น สอดคล้องกับหลักปรัชญาลัทธิขงจื่อที่มองสรรพสิ่งแบบองค์รวม   นักวิชาการจีนส่วนใหญ่เห็นว่านโยบาย “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” สร้างบนพื้นฐานทางสายไหม ควรยึดความร่วมมือด้านเศรษฐกิจเป็นหลัก เพื่อสนับสนุนการแลกเปลี่ยนด้านมนุษยศาสตร์ รวมถึงแนวคิดความร่วมมือและการเห็นอกเห็นใจกัน ใช้แรงผลักดันด้านวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ทำให้ประเทศกำลังพัฒนาแถบเอเชียกลาง เอเชียใต้ เอเชียอาคเนย์ เอเชียตะวันตกเชื่อมต่อกัน สนับสนุนกันและกัน สร้างสายโซ่อุปสงค์และอุปทาน สายการผลิต ทั่วเอเชียเพื่อทำให้ดินแดนเอเชียร่วมมือกันในรูปแบบใหม่  เฉินเป่าหรง หัวหน้าศูนย์วิจัยองค์กรความร่วมมือของเซี่ยงไฮ้ กล่าวว่า เป้าหมายระยะใกล้ของยุทธศาสตร์นี้อยู่ที่ การก่อสร้างถนน การสร้างท่อส่งพลังงาน โทรคมนาคม ท่าเรือให้เชื่อมต่อกัน ส่งเสริมการลงทุนและการค้าให้สะดวก เป้าหมายระยะกลาง คือ ก้าวไปสู่เขตการค้าเสรีในดินแดนที่เงื่อนไขพร้อมแล้ว เพื่อสร้างกลไกความร่วมมือกับภูมิภาคแถบเอเชียแปซิฟิก และเป้าหมายระยะไกลคือสร้างเขตการค้าเสรีครอบคลุมทวีปเอเชีย ยุโรปและแอฟริกา ลาตินอเมริกากว่า 100 ประเทศ (CaiXiheng, Cheng Guoqiang  news.hexun.com/2014-8-21/167727609.html) ขณะที่นักวิชาการรัสเซียเห็นว่านโยบายนี้จะปฏิรูปแนวคิดการค้าระหว่างประเทศที่อาศัยเงินดอลล่าร์เป็นสกุลเงินแลกเปลี่ยนอย่างสิ้นเชิง

อ้างอิง:

Cai Xiqin. (2009).The Speech of Confucius. Peking. HuafaJiaoxue Press.
Li  Zehou. (2008). The System Thinking in Ancient China. Peking. ShenghuoDushuXinsanlian Press.
Ning Xuming. (2009). The Introduction of China. Shandong.  Shandong University Press.
Wang Fengyan. (2004). Chinese Cultural Psychology. Guangzhou. Jinan University Press.
Wang Yiwei.(2015).One Belt One Road: Opportunity and Challenge.Peking.Renmin University of China Press.
Du Juchang (2016). The Analysis of Policy Design of the One Belt One Road initiative. Master degree thesis in Marxism theory,  Dong Hua University.
Duan Kun. (2016).The Challenges and Measures of The Belt and Road initiative.Master Degree Thesis in political science,  Xiangtan University, China.
Jiang Xiaotian. (2017). Study on the Public Diplomacy of China to ASIAN Countries form  Thethe Perspective of 21st Century Maritime Silk Road. Master Degree Thesis in internationalpolitic,  Jilin  University, China.
Li Tongtong (2016).Cultural Exchang studies of the One Belt One Road initiative. Master degree in cultural development strategy,  Chinese National Academy of Arts.
Zhu Naihua. (2015). The Cultural Symbolic of Silk Road. Master degree in arts economics. The Chinese National Academy of Arts.
Cai  Xiheng, Cheng Guoqiang. The Perspective of Chinese and Foreign Experts aboutOne Belt One Road initiative. สืบค้นเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2560 จาก news.hexun.com/2014-08-21/167727609.html.
Huang Fenglin. TheSecret of One Belt One Road Strategy. สืบค้นเมื่อ 18 มีนาคม 2560 จาก comment.gog.cn/system/2016/01/18/014727717.html. Zhao  Kejin.  One Belt One Road initiativeand Globalization. สืบค้นเมื่อ 18 มีนาคม 2560 จาก world.people.com.cn/n1/2017/0930/cI002-29570556.html.

Facebook Comments Box