Generic selectors
Exact matches only
Search in title
Search in content
Post Type Selectors

สมรสเท่าเทียมที่ถูกทำให้ไม่เท่าเทียม

กระแสการยอมรับความหลากหลายของสังคม ภายใต้แนวคิดพหุนิยม เป็นกระแสในระดับสากลที่ส่งผลถึงประเทศไทย ความหลากหลายที่ว่านี้ก็คือ การยอมรับความแตกต่างทางเพศ เชื้อชาติ ชาติพันธุ์ และศาสนา ในประเด็นนี้ที่เป็นความสนใจของคนรุ่นใหม่ก็คงไม่พ้นกระแสความหลากหลายทางเพศที่เป็นส่วนหนึ่งในการแสดงออกถึงอัตลักษณ์ของคนรุ่นใหม่และการกำหนดวิถีชีวิตที่สอดคล้องกับความต้องการของพวกเขา แม้สังคมไทยจะได้ขึ้นชื่อว่าเปิดกว้างในการแสดงออกของเพศที่หลากหลาย แต่ก็ไม่ได้ทำให้พวกเขารู้สึกถึงความเท่าเทียมและเสมอภาค รวมถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่ควรจะได้รับ เพราะกฎหมายที่เป็นอยู่มิได้ยอมรับความหลากหลายของอัตลักษณ์ทางเพศของพวกเขา สิ่งเหล่านี้สะท้อนได้ดีถึงการต่อสู้ในการมีการสมรสที่เท่าเทียมของคนรักเพศเดียวกัน เริ่มจากสิ่งที่สะท้อนออกมาจากการดำเนินการของรัฐในการร่างพระราชบัญญัติที่เกี่ยวกับการแต่งงานของคนรักเพศเดียวกัน ที่เป็นการ ‘ให้ชื่อ’ และนิยามใหม่ว่า “พระราชบัญญัติคู่ชีวิต” คำอุบัติใหม่นี้ทำให้สังคมไทยได้รู้จักพระราชบัญญัติคู่ชีวิต ในความหมายว่า สังคมเปิดทางให้คนเพศเดียวกันใช้ชีวิตร่วมกัน แต่งงานกันได้ เช่นเดียวกับคู่สมรสอื่น หากจริง ๆ แล้วคำถามจากกลุ่มหลากหลายทางเพศก็เกิดขึ้นว่า สิทธิที่ได้รับไม่เท่าเทียมกับเพศชายหญิงที่แต่งงาน อาทิ สิทธิการรับรองบุตร สิทธิการได้รับสวัสดิการ ข้อถกเถียงของฝากฝั่งคนรักเพศเดียวกันมองว่าที่เป็นเช่นนี้เพราะรัฐมองว่าคนไม่เท่ากัน จริง ๆ เพศที่หลากหลายมองว่า พวกเขาเท่าเทียมกับเพศชายหญิงในสังคม จึงเสนอให้แก้ไขกฎหมายให้เปลี่ยนนิยามการแต่งงานจากการแต่งงานคือ เพศหญิงและเพศชายแต่งงานกัน ให้มาเป็นบุคคลแต่งงานกัน ซึ่งความหมายของคำว่าบุคคล ไม่จำเป็นที่ต้องจัดประเภทภายใต้กรอบเพศหญิงชายตามกำเนิด และได้มีการดำเนินการตามกรอบแนวคิดนี้ในการร้องให้ผู้ตรวจการแผ่นดินส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 มาตรา 1448 และพระราชบัญญัติจดทะเบียนครอบครัว พ.ศ. 2478 ที่กำหนดให้ชายและหญิงจดทะเบียนสมรสได้เท่านั้นว่ามีปัญหากับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญมาตรา 27 ที่ว่า “บุคคลย่อมเสมอกันในทางกฎหมาย ชายและหญิงมีสิทธิเสรีภาพและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล ไม่ว่าด้วยเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ ความพิการ สภาพทางกายหรือสุขภาพสถานะของบุคคล จะกระทำไม่ได้” แต่การณ์ปรากฏในวันที่ 2 ธันวาคม 2564 ที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่ากฎหมายดังกล่าวไม่ขัด และที่สำคัญคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญสะท้อนให้เห็นความคิดที่ยังคงกังวลห่วงใยในเรื่องการกระทบกระเทือนต่อบรรทัดฐานดั้งเดิมของสังคมที่มองว่าเพศปกติในสังคมคือเพศชาย เพศหญิงเท่านั้น แม้จะเห็นว่าโลกเปลี่ยนอย่างไรก็ไม่อาจยอมรับให้กลุ่มเพศหลากหลายมาใช้กฎหมายฉบับเดียวกันของคู่รักชายหญิงได้

พ.ร.บ.คู่ชีวิต สมรสเท่าเทียม
ช้อแตกต่างระหว่าง พรบ.คู่ชีวิต และ พรบ.สมรสเท่าเทียม

เพื่อให้สอดรับกับกระแสการเคลื่อนไหว  Pride Month และการผ่านร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวกับการแต่งงานของคนรักเพศเดียวกัน สำนักวิชาพหุภาษาและการศึกษาทั่วไปจึงขอนำเสนอภาพยนตร์สารคดีที่พูดถึงประเด็นเหล่านี้ คือ

The Circle มีเธอ มีฉัน มีเรา จาก Documentary Club ภาพยนตร์รางวัลออสการ์ สาขาภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยม ปี 2015 ที่เป็นเรื่องราวของคนรักเพศเดียวกันที่ยืนหยัดด้วยความรักและการต่อสู้ต่อกระแสสังคมที่เกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกัน และเป็นข้อพิสูจน์ว่าความรักของคนรักเพศเดียวกันไม่ได้ฉาบฉวยหรือเป็นเรื่องชั่วคราว แต่ทั้งสองคน คือ แอร์นสทฺ ออสเตอร์ทกฺ (Ernst Ostertag) และโรฮฺบี้ เรพ (Röbi Rapp) (27 May 1930-26 August 2018) ตัวละครที่มีชีวิตจริงในประวัติศาสตร์ได้พิสูจน์ให้คนทั้งโลกเห็น และเขาทั้งสองคนก็เป็นคู่รักเพศเดียวกันคู่แรกที่ได้จดทะเบียนสมรสถูกต้องตามกฎหมายและส่งผลให้ประเทศสวิตเซอร์แลนด์เป็นประเทศแรกที่อนุญาตให้คนรักเพศเดียวกันได้แต่งงานกันอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ใน พ.ศ. 2550 แม้จะถูกจำกัดสิทธิหลายอย่างให้น้อยกว่าคู่รักต่างเพศ และล่าสุดเมื่อ พ.ศ. 2564 สวิตเซอร์แลนด์เพิ่งประชามติผ่านกฎหมายให้คนรักเพศเดียวกันสามารถจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมร่วมกันได้และสำหรับคู่รักเพศหญิงสามารถมีบุตรผ่านการบริจาคเสปิร์มได้ ในขณะที่ประเทศยุโรปในหลายประเทศผ่านการรับรองแล้ว

ภาพยนต์ เรื่อง The Circle มีเธอ มีฉัน มีเรา
ภาพยนต์ เรื่อง The Circle มีเธอ มีฉัน มีเรา

สำหรับประเทศไทย การเรียกร้องกฎหมายสมรสเท่าเทียม มากกว่าพรบ.ชีวิตคู่ ก็เพื่อต้องการให้เกิดการก้าวไปข้างหน้าของสิทธิคนรักเพศเดียวกันมากกว่าถอยหลังไปที่จุดเริ่มต้นของหลายประเทศที่ค่อย ๆ เรียนรู้และค่อย ๆ ผ่านกฎหมาย ก็ในเมื่อเรามีตัวอย่างในหลายประเทศให้ดูในเรื่องการต่อสู้ในประเด็นนี้แล้ว ทำไมรัฐบาลไทยไม่ให้สิ่งที่ก้าวหน้าที่สุดแก่กลุ่มหลากหลายทางเพศให้เป็นพลเมืองเต็มขั้นที่สิทธิเดียวกันถูกรองรับด้วยกฎหมายเดียวกันไม่มีแบ่งแยกล่ะ

บทความโดย: ดร.ทวีลักษณ์ พลราชม

อ้างอิง:
– https://www.ilaw.or.th/node/6169
– https://m.media-amazon.com/images/M/MV5BMjAzMTUwNjgyNV5BMl5BanBnXkFtZTgwMTE2MjEzMTE@.V1_FMjpg_UX1000.jpg
– https://www.bltbangkok.com/wp-content/uploads/2020/07/107616757_2666214130307913_2122901308588987621_o.jpg
– https://www.ilaw.or.th/node/6009?fbclid=IwAR2A-7tq3xetRUiQhwQQZphNQPCx5hOXj2xLVdM85bQpJJuszRROx7wUYpI

Facebook Comments Box