Generic selectors
Exact matches only
Search in title
Search in content
Post Type Selectors

เขย่งก้าวกระโดดอย่างไรให้ไปไกลถึงโอลิมปิก

1 สิงหาคม พ.ศ.2565

บทความโดย อาจารย์ ดร.วัชรี ฤทธิวัชร์
สาขาวิทยาศาสตร์การกีฬาและการออกกำลังกาย
สำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

เขย่งก้าวกระโดด (Triple jump) เป็นกีฬากรีฑา (Athletics) ประเภทลาน (Field even) ซึ่งมีการเคลื่อนไหวและทักษะที่ซับซ้อน (Complex movement) มีแรงกระแทกสูง (High impact) และท้าทายที่สุด การเคลื่อนไหวแต่ละครั้งต้องประสานสัมพันธ์กัน (Coordination) และใช้ความสมดุลสูง (Balanced) (Brimberg; Hurley; & Ladany. 2006: 208-214) เทคนิคประกอบไปด้วยการวิ่งก่อนกระโดด (Approach run) การเขย่ง (Hop) การก้าว (Step) การกระโดด (Jump) และการลงสู่พื้น (Landing) โดยเป้าหมายคือมุ่งให้ได้ระยะทางรวมมากที่สุดจากระยะทางการเขย่ง ระยะทางการก้าว และระยะทางการกระโดด

ที่มา: Jonathan Edwards’ great strides

ปัจจัยที่สำคัญที่ส่งผลต่อความสำเร็จในการเขย่งก้าวกระโดด ประกอบไปด้วย ความเร็ว เทคนิคและความแข็งแรง และจากการศึกษาวิจัยล่าสุดพบว่า ปัจจัยหรือตัวแปรทางชีวกลศาสตร์ที่สำคัญที่สามารถร่วมกันทำนายหรือส่งผลต่อระยะทางในการเขย่งก้าวกระโดด (Triple jump distance) ในแต่ละช่วง (Phases) ประกอบไปด้วย:

  1. ช่วงการเขย่ง (Hop phase ) นักกีฬาต้องพยายามสร้างความเร็วสูงสุดที่ควบคุมได้เพื่อใช้ในการเขย่งและไม่ควรใช้มุมในการเขย่งมากหรือสูงเกินไปเพราะจะทำให้นักกีฬาเสียสมดุลและเกิดการบาดเจ็บขณะสัมผัสพื้น สรุปคือ เน้นใช้ความเร็วสูงในมุมที่เหมาะสมกับความเร็วของนักกีฬา
  2. ช่วงการก้าว (Step phase) นักกีฬาควรเพิ่มระยะเวลาในการสัมผัสพื้นในการก้าวเพื่อสร้างกำลังสูงสุด ซึ่งนักกีฬาส่วนใหญ่โดยเฉพาะนักกีฬาใหม่ๆจะใช้เวลาในการสัมผัสพื้นค่อนข้างสั้นซึ่งส่งผลให้ได้ระยะทางในการก้าวน้อย
  3. ช่วงการกระโดด (Jump phase) นักกีฬาต้องพยายามสร้างความเร็วและแรงในการกระโดดให้มาก เพราะความเร็วและแรงถูกใช้ไปในสองช่วงก่อนหน้าแล้ว ดังนั้นนักกีฬาจึงต้องมีความแข็งแรงและสร้างความเร็วตั้งแต่การวิ่งเพื่อสามารถนำไปใช้ได้ในทุกช่วง ซึ่งพบว่าถ้านักกีฬาผ่านช่วงแรกดีช่วงถัดไปก็จะดีตามลำดับด้วยเช่นเดียวกัน และทั้งหมดนี้เป็นปัจจัยหรือตัวแปรที่สำคัญที่มีอิทธิพลร่วมกันในการส่งผลต่อระยะทางในการเขย่งก้าวกระโดด

ที่มา: The ideal takeoff angle generated by the kick-off timing


กล่าวโดยสรุปการมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีระหว่างความเร็ว ความแข็งแรงและเทคนิคจะช่วยส่งผลให้นักกีฬาประสบความสำเร็จ และยังมีปัจจัยอื่นๆที่เกี่ยวข้องอีก เช่น การฝึกซ้อม สภาพจิตใจ กองเชียร์ และประสบการณ์ ฯลฯ ปัจจัยทั้งหมดล้วนส่งผลโดยตรงและโดยอ้อมต่อประสิทธิภาพของนักกีฬา และนอกจากทางด้านร่างกายแล้วในส่วนของด้านจิตใจก็สำคญเช่นเดียวกัน โดยนักกีฬาต้องสามารถควบคุมแรงกดดันและความเครียดที่อาจเกิดขึ้นในการแข่งขันและสร้างพลังให้กับตัวเองได้ เป็นต้น สุดท้ายการทราบปัจจัยหรือตัวแปรสำคัญที่มีอิทธิพลต่อความสามารถในการเขย่งก้าวกระโดดจะเป็นประโยชน์และเป็นแนวทางในการวางแผนการฝึกซ้อมและแข่งขันสำหรับผู้ฝึกสอนและนักกีฬานำไปใช้เพื่อเพิ่มศักยภาพของนักกีฬาสู่ความเป็นเลิศในระดับที่สูงขึ้น และสำหรับบุคคนทั่วไปที่สนใจได้ทำความเข้าใจก่อนการเริ่มฝึกอย่างถูกต้อง และสำหรับนักศึกษา มวล ที่สนใจอยากทราบว่าชีวกลศาสตร์ในการเขย่งก้าวกระโดดเป็นอย่างไร และการนำวิทยาศาสตร์การกีฬามาช่วยในการเพิ่มศักยภาพการกีฬาอย่างไร สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ Facebook Fanpage: Sports Science WU หรือเจอกันที่สนามกีฬากลาง ศูนย์กีฬาและสุขภาพ มวล.