Generic selectors
Exact matches only
Search in title
Search in content
Post Type Selectors

ความรู้กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาเบื้องต้น

ถ้าพูดถึง “ทรัพย์สินทางปัญญา” หลายคนคงคุ้นเคยกับคำนี้ และเป็นเรื่องค่อนข้างใกล้ตัวเรามาก วันนี้เราจะมารู้จักกับความรู้กฎหมายของทรัพย์สินทางปัญญาแบบเบื้องต้น เพื่อให้เรารู้จักกับความหมายของแต่ละอย่าง ว่าเป็นอย่างที่คิดหรือเปล่า มาดูกัน !

ทรัพย์สินทางปัญญา หมายถึง ผลงานอันเกิดจากการประดิษฐ์ คิดค้น หรือการสร้างสรรค์ของมนุษย์ ซึ่งเน้นที่ผลผลิตของสติปัญญาและความชำนาญ โดยไม่จำกัดชนิดของการสร้างสรรค์หรือวิธีการแสดงออกในรูปแบบของสิ่งที่จับต้องได้ เช่น สินค้าต่างๆ หรือในรูปแบบของสิ่งของที่จับต้องไม่ได้ เช่น บริการ แนวคิดในการดำเนินธุรกิจ กรรมวิธีการผลิตในอุตสาหกรรม เป็นต้น

          ทรัพย์สินทางปัญญา แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ลิขสิทธิ์  และทรัพย์สินทางอุตสาหกรรม  ดังนี้

1) ลิขสิทธิ์

หมายถึง สิทธิแต่เพียงผู้เดียวของเจ้าของลิขสิทธิ์ที่จะกระทำการใดๆ กับงานที่ผู้สร้างสรรค์ได้ทำขึ้น ไม่ว่างานดังกล่าวจะแสดงออกในรูปแบบอย่างใด โดยประเภทของงานอันมีลิขสิทธิ์ที่กฎหมายกำหนดไว้ ได้แก่ วรรณกรรม (รวมถึงโปรแกรมคอมพิวเตอร์), นาฏกรรม, ศิลปกรรม, ดนตรีกรรม, โสตทัศนวัสดุ, ภาพยนตร์, สิ่งบันทึกเสียง, งานแพร่เสียงแพร่ภาพ, งานอื่นใดในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ

นอกจากนี้กฎหมายลิขสิทธิ์ยังให้ความคุ้มครองถึงสิทธิของนักแสดงด้วย ทั้งนี้การคุ้มครองลิขสิทธิ์ไม่ครอบคลุมถึงความคิด ขั้นตอน กรรมวิธี ระบบ วิธีใช้ วิธีทำงาน แนวความคิด หลักการ การค้นพบ ทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์หรือคณิตศาสตร์

2) ทรัพย์สินทางอุตสาหกรรม

หมายถึง ความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ที่เกี่ยวกับสินค้าอุตสาหกรรมต่างๆ ความคิดสร้างสรรค์นี้อาจเป็นความคิดในการประดิษฐ์คิดค้น ซึ่งอาจจะเป็นกระบวนการหรือเทคนิคในการผลิต ที่ได้ปรับปรุงหรือคิดค้นขึ้นใหม่ หรือการออกแบบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่เป็นองค์ประกอบและรูปร่างของตัวผลิตภัณฑ์ นอกจากนี้ยังรวมถึงเครื่องหมายการค้า ความลับทางการค้า การคุ้มครองพันธุ์พืช แบบผังภูมิของวงจรรวม และสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ เป็นต้น ทรัพย์สินทางอุตสาหกรรมแบ่งออกได้ ดังนี้

2.1 สิทธิบัตร

เป็นการคุ้มครองการคิดค้นสร้างสรรค์ที่เกี่ยวกับการประดิษฐ์  หรือ การออกแบบผลิตภัณฑ์  ที่มีลักษณะตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่

  • สิทธิบัตรการประดิษฐ์ หมายถึง การให้ความคุ้มครองการคิดค้นที่เกี่ยวกับลักษณะองค์ประกอบโครงสร้าง หรือกลไกของผลิตภัณฑ์ รวมทั้งกรรมวิธีในการผลิต การเก็บรักษา หรือการปรับปรุงคุณภาพของผลิตภัณฑ์ให้ดีขึ้น หรือทำให้เกิดผลิตภัณฑ์ขึ้นใหม่ ที่แตกต่างไปจากเดิม และเน้นการประดิษฐ์ที่มีลักษณะของการแก้ไขปัญหาทางเทคนิคที่ไม่สามารถคิดค้นขึ้นโดยง่าย เช่น กลไกของเครื่องยนต์ ยารักษาโรค
  • อนุสิทธิบัตร หมายถึง การให้ความคุ้มครองการประดิษฐ์จากความคิดสร้างสรรค์ที่มีระดับการพัฒนาเทคโนโลยีไม่สูงมาก โดยอาจเป็นการประดิษฐ์คิดค้นขึ้นใหม่ หรือปรับปรุงจากการประดิษฐ์ที่มีอยู่ก่อนเพียงเล็กน้อย
  • สิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ การให้ความคุ้มครองความคิดสร้างสรรค์ที่เกี่ยวกับรูปร่างลักษณะภายนอกของผลิตภัณฑ์ องค์ประกอบของลวดลายหรือสีของผลิตภัณฑ์ ซึ่งสามารถใช้เป็นแบบสำหรับผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมรวมทั้งหัตถกรรมได้ และแตกต่างไปจากเดิม

ผู้ทรงสิทธิบัตรการประดิษฐ์ ผู้ทรงอนุสิทธิบัตร หรือผู้ทรงสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ มีสิทธิเด็ดขาดหรือสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในการแสวงหาผลประโยชน์จากการประดิษฐ์หรือการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ได้รับสิทธิบัตร หรืออนุสิทธิบัตรนั้น ภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด

2.2 แบบผังภูมิของวงจรรวม

หมายถึง แบบ แผนผัง หรือภาพที่ทำขึ้น ไม่ว่าจะปรากฏในรูปแบบหรือวิธีใดเพื่อแสดงถึงการจัดวางและการเชื่อมต่อของวงจรไฟฟ้า เช่น ตัวนำไฟฟ้า หรือตัวต้านทาน เป็นต้น

2.3 เครื่องหมายการค้า

หมายถึง เครื่องหมาย สัญลักษณ์ หรือตรา ที่ใช้กับสินค้าหรือบริการ แบ่งออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่

  • เครื่องหมายการค้า  หมายถึง เครื่องหมายที่ใช้หรือจะใช้กับสินค้าเพื่อแสดงให้เห็นว่าสินค้าที่ใช้เครื่องหมายนั้นแตกต่างกับสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่น เช่น กระทิงแดง M-150 มาม่า ไวไว เป็นต้น
  • เครื่องหมายบริการ  เครื่องหมายที่ใช้หรือจะใช้กับบริการเพื่อแสดงว่าบริการที่ใช้เครื่องหมายนั้นแตกต่างกับบริการที่ใช้เครื่องหมายบริการของบุคคลอื่น เช่น การบินไทย ธนาคารกรุงไทย เป็นต้น
  • เครื่องหมายรับรอง  หมายถึง เครื่องหมายที่เจ้าของเครื่องหมายรับรองใช้หรือจะใช้เป็นที่หมายหรือเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการของบุคคลอื่น เพื่อรับรองเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการนั้น เช่น ตลาดต้องชม หนูณิชย์บอกต่อความอร่อย ฮาลาล เป็นต้น
  • เครื่องหมายร่วม  หมายถึง เครื่องหมายการค้าหรือเครื่องหมายบริการที่ใช้หรือจะใช้โดยบริษัทหรือวิสาหกิจในกลุ่มเดียวกัน หรือโดยสมาชิกของสมาคม สหกรณ์ สหภาพ สมาพันธ์ กลุ่มบุคคล หรือองค์กรอื่นใดของรัฐ หรือเอกชน เช่น ตราช้างของบริษัท ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) เป็นต้น

2.4 ความลับทางการค้า

หมายถึง ข้อมูลการค้าซึ่งยังไม่เป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไป โดยเป็นข้อมูลที่มีมูลค่าในเชิงพาณิชย์เนื่องจากข้อมูลนั้นเป็นความลับ และมีการดำเนินการตามสมควรเพื่อทำให้ข้อมูลนั้นปกปิดเป็นความลับ

2.5 ชื่อทางการค้า

หมายถึง ชื่อที่ใช้ในการประกอบกิจการ เช่น ไทยประกันชีวิต ขนมบ้านอัยการ เป็นต้น

2.6 สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์

หมายถึง สัญลักษณ์ หรือสิ่งอื่นใดที่ใช้เรียกหรือใช้แทนแหล่งภูมิศาสตร์และสามารถบ่งบอกว่า

สรุป ทรัพย์สินทางปัญญาก็มีสองแบบด้วยกัน อย่างที่ข้างต้นกล่าวมา แต่ละแบบจะแตกต่างกัน เพื่อแบ่งหมวดการขอสิทธิ์ความคุ้มครองแตกต่างกัน บทความนี้ทำให้รู้ว่าแต่ละอย่างหมายถึงอะไร ถ้าต้องการจดลิขสิทธิ์หรืออะไรที่เกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญานั้น ก็สามารถเอาความรู้จากบทความนี้ไปต่อยอดได้อีกด้วย

(อ้างอิง : อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ https://sciencepark.wu.ac.th/ipservice)

Facebook Comments Box