Generic selectors
Exact matches only
Search in title
Search in content
Post Type Selectors

ทักษะการให้คำปรึกษา (Counseling skill) ทักษะที่ HR และองค์กรควรมี

ปัจจุบันแนวโน้มการเกิดปัญหาด้านสุขภาพจิตในที่ทำงานมีมากขึ้น ทั้งภาวะความเครียดสะสม ภาวะหมดไฟหรือ Burnout โรคซึมเศร้า หรือแม้กระทั่งปัญหาส่วนตัวที่มีผลกระทบต่อจิตใจ อย่างการสูญเสียบุคคลสำคัญ ปัญหาความสัมพันธ์ หรือปัญหาด้านการเงิน ที่อาจกระทบผลการทำงาน ยิ่งทำให้คนทำงานต้องการความช่วยเหลือด้านจิตใจเพิ่มมากขึ้น การจะกำจัดปัจจัยที่กระตุ้นความเครียด ความกดดัน ปัญหาความขัดแย้งในที่ทำงาน หรือแม้กระทั่งการเมืองในที่ทำงาน เป็นเรื่องที่ทำได้ยาก

โดยปกติแล้วการดูแลด้านสุขภาพจิตจะเป็นหน้าที่ของจิตแพทย์และนักจิตวิทยา แต่หลายครั้งที่การดูแลอาจไม่ทั่วถึง และหลายกรณีที่ช่วยเหลือไม่ทันการ ดังนั้นบุคคลแรกที่ควรเป็นผู้ที่จะสามารถปฐมพยาบาล (ทางใจ) เบื้องต้นให้กับพนักงานในองค์กรได้ ก็คือฝ่ายทรัพยากรบุคคล (HR)

ทักษะการให้คำปรึกษาคือการเยียวยาด้านอารมณ์และความรู้สึก เพื่อพาผู้ที่กำลังประสบปัญหาได้รู้สึกว่ามีคนรับฟัง มีคนที่พร้อมช่วยเหลือ มีคนช่วยสะท้อนสิ่งที่เกิดขึ้นและมุมมองของพวกเขา จนกระทั่งสามารถนำพาให้ผู้ที่กำลังประสบปัญหาสามารถจัดการกับปัญหาที่กำลังเผชิญอย่างถูกต้องเหมาะสม ซึ่งนักให้คำปรึกษาคือผู้ที่คอยสร้างบรรยากาศที่ปลอดภัยและไว้วางใจพอ ที่ผู้เข้ารับคำปรึกษาจะพูดถึงสิ่งที่เกิดขึ้น และอนุญาตให้นักให้คำปรึกษาได้เข้าถึงความรู้สึก อารมณ์ และเรื่องราวส่วนตัว ดังนั้นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งที่จะสร้างให้คนในองค์กรมีทักษะการให้คำปรึกษา คือ จรรยาบรรณในการรักษาความลับของผู้รับคำปรึกษา

ผู้ที่จะทำหน้าที่เป็นนักให้คำปรึกษาอย่างถูกวิธีนั้น จำเป็นต้องได้รับการฝึกฝนที่ถูกต้องจากนักจิตวิทยาคลินิกและนักจิตวิทยาการให้คำปรึกษา เรียนรู้จิตวิทยาที่หลากหลายด้านเพียงพอ และมีชั่วโมงการฝึกปฏิบัติที่มากพอ หากผู้ให้คำปรึกษาไม่รู้วิธีพูด วิธีการคุย วิธีการแสดงออกที่ถูกต้อง อาจยิ่งทำให้ทุกอย่างแย่ลง

ประโยชน์ที่จะเกิดกับองค์กรหากมี HR หรือบุคลากรที่มีทักษะการให้คำปรึกษาที่ถูกต้อง

  • ผลการทำงานของพนักงานและขององค์กรโดยรวมดีขึ้น

  • ลดอัตราการขาดงานของพนักงาน

  • ลดอัตราการเข้าออกของพนักงาน

  • เกิดกระบวนรับมือกับปัญหาด้านสุขภาพจิตอย่างมีขั้นตอนและถูกต้องเหมาะสม

      อย่างไรก็ตามการให้คำปรึกษาเป็นเพียงการช่วยเหลือเยียวยาจิตใจในเบื้องต้นเท่านั้น โดยนักให้คำปรึกษาจะสังเกตพฤติกรรมและประเมินความเครียดและให้คำปรึกษา ในกรณีที่นักให้คำปรึกษาไม่สามารถช่วยเหลือผู้เข้ารับคำปรึกษาหรือเกินขอบเขตของศักยภาพนั้น ผู้ให้คำปรึกษาสามารถส่งต่อให้กับนักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์เพื่อทำการรักษาในขั้นตอนต่อไปได้

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก istrong mental health

Facebook Comments Box