Generic selectors
Exact matches only
Search in title
Search in content
Post Type Selectors

เคล็ดไม่ลับ..นักศึกษาสหกิจ ฯ : เอาชนะช่องว่างระหว่างวัย ทำงานยังไงให้มีความสุข

            การออกปฏิบัติสหกิจศึกษาของนักศึกษาอาจนำปัญหาความกังวลใจแก่นักศึกษาเมื่อต้องทำงานร่วมกับ หัวหน้างาน หรือเพื่อนร่วมงานที่มีความต่างระหว่างวัย ( Gap Generation ) จนนำไปสู่ความกังวลที่ว่าจะวางตัวอย่างไร? เสนอไอเดียอย่างไรให้เหมาะสม ? หรือในบางครั้งก็เกิดความไม่เข้าใจกันจนทำให้การทำงานไม่มีความสุข และน่าเบื่อหน่าย กลายเป็นฝันร้ายตลอดการปฏิบัติสหกิจศึกษา

            แน่นอนว่าในการทำงาน นักศึกษาย่อมพบเจอกับความแตกต่างและหลายหลากของทัศนคติ วิธีการทำงาน หรือแม้กระทั่งวัฒนธรรมขององค์กร ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ต่างส่งผลกระทบต่อการทำงาน ซึ่งอาจเป็นเรื่องที่ยากสำหรับนักศึกษาบางส่วนในการปรับตัว แต่จะทำอย่างไรให้เข้าใจและพร้อมรับมือกับความต่างเหล่านี้ได้

            เรามาทำความรู้จักลักษณะของช่วงวัยที่มีอยู่ในการสังคมทำงาน พร้อมเคล็ดลับการทำงานร่วมกันกับแต่ละ Generation ดังนี้ 

1. Baby Boomer

            ส่วนใหญ่แล้ว  Baby Boomer จะอยู่ในตำแหน่งระดับผู้บริหารระดับสูง นักศึกษาอาจจะไม่ได้พบเจอเท่าไรนัก แต่หากได้มีโอกาสได้ร่วมงานกัน การขอคำปรึกษาจาก boomer จะช่วยให้พวกเขารู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า  แต่ควรระมัดระวังเรื่องการใช้คำพูดและการมีสัมาคารวะด้วยเช่นกัน นอกจากนี้การทำงานร่วมกันจะต้องแสดงให้เห็นถึงความทุ่มเทในการทำงาน มีความละเอียดรอบคอบและตรงต่อเวลา  และในบางครั้งพวกเค้าเหล่านี้อาจจะขอความช่วยเหลือเกี่ยวกับเรื่องเทคโนโลยีบ้างก็อย่างเพิ่งทำท่าทีรำคาญ หรือเบื่อหน่าย   

2. Generation X

           กลุ่ม Generation X  ในการทำงานโดยส่วนใหญ่แล้วจะอยู่ในระดับ ผู้บริหาร ผู้จัดการ หัวหน้าทีม หรือรุ่นพี่ทำงานที่มีความชำนาญและอายุงานสูง สามารถใช้เทคโนโลยีได้ พร้อมที่จะทุ่มเทกับการทำงานอย่างเต็มที่ การทำงานร่วมกับ GEN X นักศึกษาจะต้องทำงานอย่างเป็นระเบียบทั้งการทำงานและเวลา และ สื่อสารอย่างกระชับ และชัดเจน และควรเคารพพื้นที่และเวลาส่วนตัว และแน่นอนว่าในการทำงานเป็นทีม Gen X พร้อมที่จะเป็นฝ่ายสนับสนุนและมอบคำแนะนำที่ดีได้เสมอ  

3. Generation Y

            กลุ่ม Gen Y หรือที่เรียกกันว่า  มิลเลนเนียม (Millennials)  นักศึกษาอาจพบเจอคนกลุ่ม GEN Y ในตำแหน่งผู้จัดการ  หัวหน้าทีม หรือรุ่นพี่ที่ทำงานที่อาจทำหน้าที่พี่เลี้ยงค่อยดูแลนักศึกษาฝึกงานหรือพนักงานใหม่ การทำงานร่วมกับคนกลุ่มนี้ จะค่อนข้างยืดหยุ่นกว่า 2 กลุ่มที่ผ่านมา สามารถใช้เทคโนโลยีได้อย่างดีและสามารถปรับเปลี่ยนการทำงานได้ตามสถานการณ์ เปิดรับความคิดเห็นที่ตรงไปตรงมามากขึ้น กล้าแสดงความคิดเห็น สามารถทํางาน หลาย ๆ อย่างพร้อมกันได้ดี ได้ดีแต่ยังคงต้องการการสื่อสารที่มีความกระชับ และชัดเจน สามารถเป็นพี่เลี้ยงให้คำปรึกษานักศึกษาได้ดี มีความเข้าใจและเปิดกว้างในการรับฟังความคิดเห็น จึงเป็นตัวกลาง คอยประสานได้ดีระหว่าง Generation Z และ  Generation X และ Boomers

4. Genneration Z

            คนกลุ่มนี้ อาจจะมาในรูปแบบของเพื่อนร่วมงาน รุ่นพี่ที่มีอายุงานน้อยๆ  Gen Z  มีความทันโลก สามารถวิเคราะห์สถิติเรื่องต่างๆ เพื่อคาดการณ์อนาคตได้เร็ว ตัดสินใจทำอะไรอย่างรวดเร็ว กล้าตั้งคำถามกับการทำงานแบบเดิม ๆ เพื่อหาทางใหม่ที่เร็วขึ้น ยอมรับกับวัฒนธรรมที่แตกต่างมากขึ้น มีความเชื่อเกี่ยวกับความเป็นปัจเจกของบุคคล หากมีคำถาม หรือสงสัยจะต้องการคำตอบและคำอธิบายที่มีเหตุผล ชอบรับสารและเสพข้อมูลแบบกระชับ ได้ใจความ สามารถทํางาน หลาย ๆ อย่างในลักษณะของ Multitask ได้ดี

            การเอาชนะช่องว่างระหว่าง Gen ที่จะทำให้การทำงานมีความสุข อย่างแรกคือ Empathy (ความเข้าอกเข้าใจ) แน่นอนว่าทุกคนล้วนเติบโตจากสภาพแวดล้อมและสังคมที่แตกต่างกัน การทำความเข้าใจและเคารพซึ่งกันและกันล้วนมีความสำคัญต่อการทำงาน การมีความคิด ทัศนคติ  ความเชื่อ และมุมมองที่แตกต่างจากตัวเราไม่ได้หมายความว่าเค้าจะเป็นคนไม่ดี การทำงานท่ามกลางความแตกต่างของวัยอาจจะดูเป็นเรื่องยาก และต้องใช้เวลาในการปรับตัวในเบื้องต้น แต่หากเราปรับมุมมองและทำงานโดยใช้จุดเด่นของแต่ละช่วงวัยให้เป็นประโยชน์ การวางตัวให้เหมาะสมกับคนแต่ละวัย รวมทั้งให้เกียรติการตัดสินใจของคนต่าง Gen  หาจุดยืนร่วมกันและหลีกเลี่ยงการหาความแตกต่าง พร้อมทำงานอย่างเป็นมืออาชีพ ก็จะทำให้การทำงานมีความสุขมากขึ้นได้

ผู้เขียน ศุภัสรา อมรลักษณ์
ศูนย์สหกิจศึกษาและพัฒนาอาชีพ

Facebook Comments Box