Generic selectors
Exact matches only
Search in title
Search in content
Post Type Selectors

เทคนิคการแพทย์นอกห้องเรียน/นอกห้องแล็บ…การค้นหาโรคเชิงรุก??

โดย : ผศ.ดร.เพ็ญโฉม จันทร์หวาน อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคนิคการแพทย์ สำนักวิชาสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

ในทุกปีของรายวิชาปฏิบัติการปรสิตวิทยาทางการแพทย์ คณาจารย์ในแขนงวิชาจุลทรรศนศาสตร์คลินิกและปรสิตวิทยาคลินิก หลักสูตรเทคนิคการแพทย์ สำนักวิชาสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จะนำนักศึกษาไปเรียนรู้นอกห้องเรียน/นอกห้องแล็บกัน โดยโรคพยาธิเข็มหมุดยังคงเป็นปัญหาทางสุขภาพที่สำคัญในวัยเด็กโดยเฉพาะในรายที่ไม่สามารถดูแลสุขอนามัยด้วยตัวเองได้ เด็กที่ติดเชื้อพยาธิเข็มหมุดจะพบมีอาการคันบริเวณทวารหนัก ทำให้เกิดการกังวล กระสับกระส่าย และหงุดหงิด เป็นผลให้การนอนหลับไม่เต็มที่ ส่งผลต่อสมาธิในการเรียนรู้ ในบางรายมีน้ำหนักลด มีอาการคันและเกาอย่างรุนแรงทำให้เกิดการติดเชื้อแบคทีเรียตามมาและเกิดรอยโรคที่ผิวหนังได้

ในปีล่าสุด พ.ศ. 2565 ทางทีมคณาจารย์ได้นำนักศึกษาเทคนิคการแพทย์ชั้นปีที่ 2 ไปจัดกิจกรรมบริการวิชาการเรื่องโรคพยาธิเข็มหมุด ณ ศูนย์อบรมเด็กก่อนเกณฑ์ประจำมัสยิดท่าสูงบน ศูนย์อบรมเด็กก่อนเกณฑ์วัดท่าสูง และศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านสระบัว โดยกิจกรรมประกอบด้วยการดำเนินการเก็บตัวอย่างด้วยวิธี Scotch tape technique การตรวจสไลด์พยาธิเข็มหมุดทางห้องปฏิบัติการภายใต้กล้องจุลทรรศน์ การให้ยารักษาโรคพยาธิเข็มหมุดแก่เด็กนักเรียนที่ตรวจพบการติดเชื้อ และการทำสื่อให้ความรู้ในการป้องกันดูแลให้เด็กห่างไกลโรคพยาธิแก่ทางคุณครูและผู้ปกครอง

ภาพการเตรียมการตรวจพยาธิเข็มหมุดด้วยวิธี
Scotch tape technique
ภาพกิจกรรมตรวจสไลด์พยาธิเข็มหมุดทางห้องปฏิบัติการ

โดยประโยชน์ที่ได้รับจากการจัดให้มีโครงการบริการวิชาการเรื่องโรคพยาธิเข็มหมุดนี้ ได้แก่

1) ส่งเสริมให้เกิดการยุติการแพร่กระจายของโรคติดเชื้อปรสิต โดยเด็กนักเรียนได้รับการตรวจวินิจฉัยโรคพยาธิเข็มหมุดจากผู้เชี่ยวชาญ เด็กนักเรียนได้รับความรู้ในการปฏิบัติตนที่ถูกต้องในการป้องกันตนเองจากโรคพยาธิเข็มหมุด อีกทั้งในรายที่ตรวจพบว่าเป็นโรคพยาธิจะได้รับการรักษาด้วยยาถ่ายพยาธิ

2) ชุมชนนำร่องศูนย์พัฒนาเด็กเล็กทั้ง 3 ศูนย์ ได้มีกิจกรรมเพื่อส่งเสริมสุขภาพที่ดีของเด็กนักเรียน และเกิดความตระหนักในการดูแลสุขภาพของนักเรียนมากขึ้นและยั่งยืน

3) เกิดการบริการวิชาการ/วิชาการรับใช้สังคมตามความต้องการของชุมชน/สังคมที่อยู่รายรอบมหาวิทยาลัย

4) นักศึกษาเทคนิคการแพทย์ได้มีประสบการณ์และฝึกทักษะวิชาชีพนอกห้องเรียน/นอกห้องแล็บ รวมถึงตระหนักถึงบทบาทของวิชาชีพในการค้นหาโรคเชิงรุก สุดท้ายนี้ทางหลักสูตรฯ ขอขอบคุณนักเรียน/คุณครู/ผู้ปกครองของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กทั้ง 3 ศูนย์ และเจ้าหน้าที่ศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มา ณ ที่นี้ด้วย

ภาพกิจกรรมนันทนาการและการทำกิจกรรมให้ความรู้
ภาพกิจกรรมนันทนาการและการทำกิจกรรมให้ความรู้
ภาพหมู่คณะของตัวแทนผู้เข้าร่วมกิจกรรม
Facebook Comments Box