Generic selectors
Exact matches only
Search in title
Search in content
Post Type Selectors

ยา! รักษาโรคได้อย่างไร

“ยา ใคร ๆ ก็คงเคยกินยา แต่จะรู้ไหมครับ ว่ายานั้นรักษาโรคได้อย่างไร มาครับ ผศ.ดร.ธันว์ สุวรรณเดชา จาก สำนักวิชาเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จะมาเล่าสู่กันฟังครับ”

ยาที่ใช้ในการรักษาโรคต่างๆ มีหลากหลายชนิด แต่ละชนิดใช้รักษาโรค และอาการผิดปกติที่แตกต่างกันไป การออกฤทธิ์ของยาในการรักษาโรคนั้นเกิดจากยาไปส่งผลต่อกระบวนการต่าง ๆ ในร่างกายทำให้สามารถแก้ไขอาการผิดปกติ หรือปรับเปลี่ยนการทำงานของร่างกายได้ ในการที่ยาจะออกฤทธิ์นั้น จะต้องมีการนำยาเข้าสู่ร่างกาย ยกตัวอย่างเช่นยาเม็ดชนิดรับประทาน เมื่อกลืนยาเม็ดเข้าสู่กระเพาะอาหารแล้ว เม็ดยาจะแตกตัวออกมาเป็นชิ้นส่วนเล็กๆ และของเหลวในทางเดินอาหารจะละลายตัวยาสำคัญออกมาในรูปสารละลาย จากนั้นลำไส้เล็กจะดูดซึมตัวยาเข้าไปในระบบไหลเวียนโลหิต และกระจายตัวไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกายต่อไป แต่ก็มียาบางชนิดที่ออกฤทธิ์ได้โดยไม่จำเป็นต้องถูกดูดซึมเข้าสู่ระบบไหลเวียนโลหิต เช่นยาทาที่เน้นออกฤทธิ์เฉพาะบริเวณผิวหนัง ยาสูดพ่นเข้าสู่ทางเดินหายใจ และยาหยอดตา เป็นต้น

สำหรับกลไกการออกฤทธิ์ของยา (mechanism of action) ของยาไม่ว่าจะเป็นยาที่ออกฤทธิ์เฉพาะที่หรือยาที่ออกฤทธิ์ต่อระบบอวัยวะนั้น จะมีการออกฤทธิ์อยู่ 2 รูปแบบใหญ่ๆคือ

  1. การออกฤทธิ์ด้วยคุณสมบัติทางเคมีฟิสิกส์ (physicochemical) ของตัวยา โดยยาในกลุ่มนี้จะใช้ปฏิกิริยาทางเคมี หรือกลไกทางกายภาพในการออกฤทธิ์ ยกตัวอย่างเช่น
    a. ยาลดกรดในกระเพาะอาหาร (antacid) ตัวยามีคุณสมบัติเป็นด่าง ทำให้สามารถสะเทินกรดส่วนเกินในกระเพาะอาหาร และบรรเทาอาการของโรคกระเพาะอาหาร หรือโรคกรดไหลย้อนได้
    b. ผงถ่านกัมมันต์ (activated charcoal) อาศัยคุณสมบัติทางกายภาพของถ่านกัมมันต์ ที่มีพื้นที่ผิวสูง สามารถดูดซับสารต่าง ๆ ได้ดี มาดูดซับสารพิษที่เกิดจากแบคทีเรียบางชนิด ที่ทำให้เกิดอาการการหารเป็นพิษ
    c. ยาขี้ผึ้งเพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิวหนัง มีลักษณะเป็นไขมัน สามารถเคลือบปกคลุมผิวหนัง ป้องกันการระเหยของน้ำออกจากผิวหนัง ช่วยรักษาความชุ่มชื้นของผิวหนังได้

2. การออกฤทธิ์ผ่านโมเลกุลของร่างกายที่ทําหน้าที่เป็นตัวรับ (drug target) เป็นการออกฤทธิ์ที่โมเลกุลของยา จะเกิดปฏิกิริยากับชีวโมเลกุลที่จำเพาะเจาะจงกับตัวยานั้นๆ โดยชีวโมเลกุล ที่เป็นเป้าหมายของยาโดยมาจะเป็นโปรตีน หรือสารพันธุกรรม ตัวอย่างเป้าหมายของยาเช่น เอนไซม์ ตัวรับ (receptor) และ ช่องไอออน (ion channel) เป็นต้น ยาส่วนมากที่ใช้ในปัจจุบันจะออกฤทธิ์ผ่านกลไกเหล่านี้ ตัวอย่างเช่น

a. ยาแก้ปวดลดอักเสบที่ไม่ใชเสตียรอยด์ (non-steroidal anti-inflammatory drug, NSAIDs) จะออกฤทธิ์โดยการยับยั้งเอนไซม์ไซโคลออกซิจิเนส (cyclooxygenase) ซึ่งสามารถสร้างสารอักเสบในกลุ่มพรอสตาแกลนดิน (prostaglandin) ที่มีผลให้เกิดอาการไข้ ปวด บวม แดง ร้อน และ อาการปวดประจำเดือน ตัวอย่างยาในกลุ่มนี้เช่น ibuprofen naproxen meloxicam และ diclofenac เป้นต้น

b. ยาปฏิชีวนะเป็นยาที่ใช้รักษาโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ยาในกลุ่มมีเป้าหมายของยาอยู่ที่สารชีวโมเลกุลของเชื้อแบคทีเรีย ไม่ว่าจะเป็น ผนังเซลล์ เอนไซม์ เยื่อหุ้มเซลล์ ตัวอย่างเช่น
i. ยาในกลุ่มบีตาแลคแตม (betalactam) เช่น Penicillin และ amoxicillin มีฤทธิ์ยั้บยั้งการสร้างผนังเซลล์ของเชื้อแบคทีเรีย ทำให้แบคทีเรียหยุดการเจริญเติมโต
ii. ยาในกลุ่มควิโนโลน (quilolone) เช่น norfloxacin และ ciprofloxacin เป็น มีฤทธิ์ยั้บยั้งเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับการคลายเกลียวของสารพันธุกรรมได้แก่ โทโปไอโซเมอเรส 4 (topoisomerase IV) และดีเอ็นเอไจเรส (DNA gyrase)


c. ยาที่ออกฤทธิ์ผ่านตัวรับมีหลายชนิด โดยตัวรับเป็นโครงสร้างโปรตีนที่อาจอยู่บริเวณเยื่อหุ้มเซลล์หรือภายในเซลล์ ทำหน้าที่รับสัญญาณทางเคมีจากภายนอกเซลล์และส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางชีวเคมีในเซลล์ ซึ่งจะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงการทำงานของร่างกายต่อไป เช่นตัวรับนิโคตินิก (nicotinic) ที่กล้ามเนื้อลาย สามารถรับสารสื่อประสาทแอเซทิลโคลีน (acetylcholine) ส่งผลให้เกิดการหดตัวของเซลล์กล้ามเนื้อลาย ตัวรับชนิดบีตาแอดรีเนอจิก (beta adrenergic) ที่หัวใจ เมื่อถูกกระตุ้นด้วยเอพิเนฟรีน (epinephrine) จะทำให้หัวใจเต้นเร็วและแรงขึ้น
การออกฤทธิ์ของยาอาจออกฤทธิ์โดยการกระตุ้นตัวรับ หรือปิดกั้นตัวรับก็ได้ ตัวอย่างยาที่ออกฤทธิ์ผ่านตัวรับเช่น
i. โพรพราโนลอล (propranolol) สามารถปิดกั้นการทำงานของตัวรับชนิดบีตาแอดรีเนอจิก ใช้ในการรักษาโรคหัวใจบางชนิด
ii. ไฮออสซีน บิวทิลโบรไมด์ (hyoscine butylbromide) สามารถปิดกั้นการทำงานของตัวรับชนิดมัสคารินิก (muscarinic) ใช้ลดการบีบตัวของลำไส้ ลดอาการปวดเกร็งช่องท้อง
iii. ซัลบิวตามอล (salbutamol) เป็นยากระตุ้นการทำงานตัวรับบีตาแอดรีเนอจิกชนิดที่ 2 (beta-2 adrenergic) ใช้ในการขยายหลอดลมในผู้ป่วยที่มีอาการหอบหืด
d. ยาที่ออกฤทธิ์กับช่องไอออน บริเวณเยื่อหุ้มเซลล์ต่างๆของร่างกายจะมีช่องไอออน เพื่อใช้ในการแลกเปลี่ยนถ่ายเทไอออนต่างๆ เข้าออกจากเซลล์ ยาบางชนิดสามารถปรับเปลี่ยนคุณสมบัติของช่องไอออนเหล่านี้เพื่อให้มีการไหลของไอออนน้อยลง หรือมากขึ้น ส่งผลต่อกระบวนการทางชีวเคมีภายในเซลล์ และปรับเปลี่ยนการตอบสนองทางสรีวิทยาของร่างกายได้ ตัวอย่างยาที่ออกฤทธิ์กับช่องไอออนเช่น
i. แอมโลดิปีน (amlodipine) เป็นยาลดความดันโลหิตที่ปิดกั้นช่องไอออนแคลเซียม ส่งผลให้กล้ามเนื้อเรียบรอบ ๆ หลอดเลือดคลายตัว ทำให้ความดันโลหิตลดลง
ii. ไลโดเคน (lidocaine) เป็นยาชาเฉพาะที่ออกฤทธิ์โดยการปิดกั้นช่องไอออนโซเดียม ที่เส้นประสาทรับความรู้สึก ทำให้การส่งสัญญาณประสาทลดลง และลดสัญญาณความเจ็บปวดที่ส่งไปที่สมอง
iii. เฟนิโทอิน (phenytoin) เป็นต้านอาการลมชัก ซึ่งเกิดการการส่งกระแสประสาทที่ผิดปกติในสมอง ออกฤทธิ์โดยการปิดกั้นช่องไอออนโซเดียมที่อยู่บริเวณเยื่อหุ้มเซลล์ของเซลล์ประสาทในสมอง ทำให้การส่งสัญญาณประสาทในสมองลดลงและลดอาการลมชักได้


โดยสรุปแล้วยาสามารถออกฤทธิ์บรรเทาและรักษาโรคได้ จากคุณสมบัติทางเคมีกายภาพของตัวยาเอง หรือส่งผลการรักษาผ่านการเกิดอันตรกิริยากับชีวโมเลกุลในร่างกายก็ได้ ปัจจุบันได้มีการค้นพบเป้าหมายของยาใหม่ ๆ หลากหลายชนิด ทำให้รักษาโรคได้มากขึ้น แม้แต่โรคมะเร็ง โรคติดเชื้อ HIV เป็นต้น

Facebook Comments Box