Generic selectors
Exact matches only
Search in title
Search in content
Post Type Selectors

ความเชื่อเรื่องเจ้าเมืองกับวันสงกรานต์นครศรีธรรมราช

ภาพการแสดงแสงเสียงชุด "นางดาน อลังการเมืองนคร" จากเฟซบุ๊กแฟนเพจ "TAT : Nakhon Si Thammarat + Phatthalung"

วันที่ ๑๓-๑๕ เมษายนที่เราคนไทยถือเป็นวันสงกรานต์นั้น ที่ภาคกลางจะมีชื่อเรียกวันต่าง ๆ ในเทศกาลนี้แตกต่างกันไป ได้แก่ วันที่ ๑๓ เมษายน เรียกว่า “วันมหาสงกรานต์” วันที่ ๑๔ เมษายน เรียกว่า “วันเนา” และวันที่ ๑๕ เมษายน เรียกว่า “วันเถลิงศก” หรือ “วันขึ้นปีใหม่ไทย” สงกรานต์ที่นครศรีธรรมราชก็มีชื่อเรียกวันต่าง ๆ เช่นกัน โดยเกี่ยวโยงกับความเชื่อเรื่องเทวดาผู้คุ้มครองบ้านเมืองหรือ “เจ้าเมือง” ที่จะแวะเวียนมาดูแลความเป็นไปในบ้านเมืองที่เกิดขึ้นแต่ละปี และถือเอาช่วงวันสงกรานต์เป็นเวลาที่มีการผลัดเปลี่ยนเจ้าเมืองเกิดขึ้น ทำให้วันที่ ๑๓-๑๕ เมษายน มีชื่อเรียกแตกต่างกันเป็น “วันส่งเจ้าเมืองเก่า”, “วันว่าง” และ “วันรับเจ้าเมืองใหม่” ตามลำดับ

๑๓ เมษายน หรือ “วันส่งเจ้าเมืองเก่า” เป็นวันที่เทวดาผู้คุมครองเมืองในปีที่ผ่านมาจะเสด็จกลับสวรรค์ เพื่อร่วมงานชุมนุมเทวดาจากแต่ละเมือง (เหมือนงานประชุมสมัชชาประจำปีอะไรสักอย่าง) ในวันนี้จะมีการทำบุญตักบาตรตอนเช้า จากนั้นจึงมีการทำความสะอาดบ้านเรือน ตลอดจนสิ่งของเครื่องใช้และเครื่องแต่งกาย อะไรชำรุดเสียหายก็หยิบมาซ่อมแวมให้เรียบร้อย คนโบราณยังมีการตัดผมหรือตัดเล็บมาทำพิธี “ลอยแพ” โดยใส่ลงหยวกกล้วยที่ตัดมาเป็นแพ ปักธูปเทียน ลอยไปตามแม่น้ำ โดยเชื่อว่าจะเป็นการลอยทุกข์ ลอยโศก และเคราะห์กรรมทั้งหลายทิ้งไป ดูเผิน ๆ ก็คล้ายการลอยกระทงอยู่เหมือนกัน เพียงแต่แพที่ลอยอาจไม่ได้สวยงามอย่างกระทง และก็ไม่ได้มีเจตนาบูชาหรือขอขมาพระแม่คงคา วันเดียวกันนี้ยังมีการอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ พระพุทธรูปสำคัญประจำเมืองมาให้ประชาชนได้สรงน้ำกันด้วย

๑๔ เมษายน หรือ “วันว่าง” เป็นวันที่เทวดาประจำเมืองยังอยู่บนสวรรค์ ทำให้บ้านเมือง “ว่าง” จากการคุ้มครองของเทวดา วันนี้จึงเป็นวันที่ชาวเมืองจะหยุดทำงานต่าง ๆ เพราะอาจเกิดความสูญเสีย เนื่องจากเทวดาไม่ได้มาปกปักรักษา แต่ยังคงมีการทำบุญ สรงน้ำพระ และกราบขอพรผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ อย่างไรก็ตาม “วันว่าง” สำหรับบางคน หมายถึง การชมมหรสพ เที่ยวเล่น และดื่มกินสังสรรค์ตลอดคืนวันที่ ๑๓ พอถึงเช้าวันที่ ๑๔ ก็หมดแรง ไปไหนไม่ได้ จึงนอนพักอยู่กับบ้านตลอดทั้งวันโดยไม่ต้องทำอะไร ทำให้วันดังกล่าวกลายเป็น “วันว่าง” โดยปริยาย

๑๕ เมษายน หรือ “วันรับเจ้าเมืองใหม่” เป็นวันที่ถือกันว่าเทวดาองค์ใหม่จะลงมายังเมืองนคร และปกป้องคุ้มครองเมืองต่อไปอีกหนึ่งปี ชาวบ้านจะมีการต้อนรับโดยการทำบุญตักบาตร สรงน้ำพระ และรดน้ำขอพรผู้ใหญ่ที่ไม่ได้ไปเยี่ยมเยียนในวันว่าง ทางใต้ยังมีกิจกรรมอาบน้ำคนแก่ คือ พ่อเฒ่า แม่เฒ่า ( ตา ยาย ) จะนุ่งผ้าถุง ผ้าอาบน้ำ แล้วออกมานั่งกลางลานหรือใต้ต้นไม้ ให้ลูกหลานช่วยกันอาบน้ำคนละขันสองขัน มีการถูสบู่ สระผม เช็ดตัว ประแป้ง พรมน้ำอบ และแต่งตัวให้ใหม่ด้วย คนแก่ก็จะอวยพรให้ลูกหลานที่เข้ามาอาบน้ำให้ ดู ๆ ไปก็คล้ายการรดน้ำดำหัวขอพรผู้ใหญ่ของทางภาคกลาง แต่ทางใต้จะอาบน้ำให้ทั้งตัวเลย หรือนี่จะเป็นความหมายที่แท้จริงของคำว่า “ดำหัว” ที่ไม่ได้เป็นเพียงคำเสริมสร้อยของคำว่า “รดน้ำ” เป็นเรื่องที่น่าศึกษาต่อไป

อนึ่ง ถ้าปีใดมีเดือนแปด ๒ ครั้ง ก็จะมีวันว่าง ๒ วัน คือวันที่ ๑๔ และ ๑๕ เมษายน ทำให้วันต้อนรับเจ้าเมืองใหม่ขยับไปเป็นวันที่ ๑๖ ขณะที่วันส่งเจ้าเมืองเก่ายังคงเป็นวันที่ ๑๓ ดังเดิม ผมคิดเล่น ๆ ว่า ปีที่มีเดือนแปด ๒ ครั้ง ทำให้เจ้าเมืองต้องทำงานหนักกว่าเดิม จึงมีการชดเชยโดยการให้พักอยู่บนสวรรค์ได้ ๒ วัน (แทนที่จะเป็นวันเดียวอย่างปีอื่น ๆ) ก่อนจะไปรับภาระที่รออยู่ข้างหน้า

คติเรื่องเจ้าเมืองแสดงให้เห็นธรรมเนียมปฏิบัติและความเชื่ออันเป็นเอกลักษณ์ประจำท้องถิ่นนครศรีธรรมราช ที่หยั่งรากอย่างมั่นคงและจะดำรงอยู่ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของสังคมสืบไป

บทความโดย
ธีรวัฒน์ กล่าวเกลี้ยง

 

Facebook Comments Box