Generic selectors
Exact matches only
Search in title
Search in content
Post Type Selectors

เท้า…อวัยวะที่ต้องใส่ใจ

30 เมษายน 2566

บทความโดย ดร. ปรเมท เหมรชตนนท์
อาจารย์สาขาวิทยาศาสตร์การกีฬาและการออกกำลังกาย
สำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

เท้า...อวัยวะที่ต้องใส่ใจ
เท้า…อวัยวะที่ต้องใส่ใจ

ในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน สิ่งที่เราอาจจะมองข้ามโดยไม่ได้คำนึงถึงมากนัก  แต่สิ่งที่แต่ละท่านได้มองข้ามไปนั้น ถือว่าเป็นส่วนสำคัญที่ไม่น้อยไปกว่าสิ่งอื่นใดในขณะการดำเนินชีวิต นั่นคือ ส่วนที่เรียกว่า เท้า  ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของร่างกายที่มีหน้าที่คอยรับน้ำหนักร่างกายทั้งหมด เช่น การเดิน วิ่ง เป็นต้น เพื่อนำพาร่างกายไปทำงานหรือการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในการออกกำลังกาย หรือบางอาชีพที่ต้องใช้เป็นส่วนหลักของการทำงาน ดังนั้นผู้เขียนต้องการให้ท่านได้หันกลับมามองถึงความสำคัญของเท้า เพื่อการเอาใจใส่ในการดูแล ปกป้อง และลดความเสี่ยงต่อการเกิดการบาดเจ็บ

รูปที่ 1 Ankle planes and movements. | Download Scientific Diagram

ด้วยเท้าของเรา มีการเคลื่อนไหว ในลักษณะ Dorsiflexion , Plantarflexion , Eversion, Inversion  เพื่อบังคับทิศทางและการรองรับน้ำหนักต่อการเปลี่ยนตำแหน่งการเคลื่อนที่ของร่างกาย (จากรูปที่ 1 ) แต่ด้วยธรรมชาติของแต่ละคน และปัจจัยต่างๆโดยรวมส่งผลให้เท้าในส่วนของฝ่าเท้าที่รองรับน้ำหนักมีธรรมชาติลักษณะของเท้าแตกต่างกัน โดยมีลักษณะเท้าแบบปกติ (Normal Foot)  แบบแบน (Flat Foot)  และแบบอุ้งเท้าสูง (High arch) (จากรูปที่ 2)  ซึ่งรูปแบบจากทั้ง 3 ลักษณะจะส่งผลต่อพื้นที่ในการรองรับน้ำหนักร่างกายที่มีจุดรับน้ำหนักที่แตกต่าง นั่นหมายถึง การรับน้ำหนักและความสามารถในการกระจายน้ำหนักให้เต็มพื้นที่สัมผัสนั้นมีความไม่เหมาะสมเกิดขึ้น  ซึ่งจากรูปแบบปกติ (Normal Foot) จะไม่พบปัญหา แต่ในรูปแบบเท้าแบน (Flat Foot)  และแบบอุ้งเท้าสูง (High arch)  จะเป็นปัญหาต่อการรับน้ำหนักของร่างกาย

เท้า...อวัยวะที่ต้องใส่ใจ

รูปที่ 2 ตำแหน่งการรับน้ำหนักบนฝ่าเท้า

ตำแหน่งการรับน้ำหนักบนฝ่าเท้า เราเปรียบเทียบได้จากการมีจุดรับน้ำหนักที่กระจายไปตามพื้นที่ที่มีการสัมผัสระหว่างวัตถุ ซึ่งถ้ามีพื้นที่ในการสัมผัสมากทำให้การกระจายน้ำหนักก็จะกระจายได้มาก ซึ่งรูปแบบเท้าปกติจะมีจุดรับน้ำหนักทั้งทางส่วนหน้าของฝ่าเท้า ส่วนท้ายของฝ่าเท้าและส่วนกลางด้านข้างของฝ่าเท้า ซึ่งช่วงกลางของฝ่าเท้าจะมีความโค้ง ทำให้ความยืดหยุ่นของข้อต่อ เส้นเอ็นและกล้ามเนื้อบริเวณฝ่าเท้าช่วยผ่อนการรับน้ำหนัก แต่ผู้ที่มีเท้าลักษณะแบน (Flat Foot) ซึ่งเห็นว่ามีพื้นที่ในการรับน้ำหนักมาก แต่ไม่มีความโค้งกลางฝ่าเท้า ซึ่งทำให้ขาดคุณสมบัติความยืดหยุ่นของข้อต่อ เส้นเอ็นและกล้ามเนื้อบริเวณฝ่าเท้า และเท้าแบบอุ้งเท้าสูง (High arch) มีจุดรับน้ำหนัก 2 จุด คือ บริเวณด้านส่วนหน้าของฝ่าเท้า ส่วนท้ายของฝ่าเท้าแยกออกชัดเจน มีความโค้งกลางฝ่าเท้าที่มากเกินไป ทำให้คุณสมบัติความยืดหยุ่นของข้อต่อ เส้นเอ็นและกล้ามเนื้อบริเวณฝ่าเท้าในการช่วยรองรับน้ำหนักไม่เหมาะสมเช่นกัน ซึ่งส่งผลต่อความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บของเท้า

รูปที่ 3 จุดรับน้ำหนักและการกระจายน้ำหนักลงบนพื้น

จากความแตกต่างของลักษณะของเท้าและปัจจัยลักษณะความเฉพาะในการเดิน การวางเท้าลงกับพื้นของแต่ละคน ฯ สิ่งเหล่านี้เป็นเหตุต่อการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งจุดรับน้ำหนักและการกระจายน้ำหนักลงบนพื้นที่ด้วยเช่นกัน ซึ่งจากตัวอย่างการศึกษาข้อมูลที่ศึกษาด้วยการเดินและการวิ่งและวัดการจายน้ำหนักของฝ่าเท้าระหว่างการสวมใส่รองเท้ากับเท้าเปล่า โดยการเดินด้วยการสวมรองเท้า จะมีปริมาณน้ำหนักที่ตกลงบริเวณเฉพาะจุดปริมาณมาก (จากรูปที่ 3 ภาพบน : พื้นที่ 1 และพื้นที่ 2 ) และมากกว่าการไม่สวมใส่รองเท้า ซึ่งการเดินไม่สวมรองเท้าจะมีการกระจายน้ำหนักที่มากกว่าและขยายบริเวณพื้นที่ออกไปได้กว้างกว่า ทำให้น้ำหนักตกลงน้อยกว่า (จากรูปที่ 3 ภาพบน: พื้นที่ 3 และพื้นที่ 4 ) ในส่วนการวิ่ง ปริมาณน้ำหนักจะตกลงบริเวณเฉพาะจุดที่มากกว่า (จากรูปที่ 3 ภาพล่าง : พื้นที่ 1 และพื้นที่ 2 ) และมากกว่าการไม่สวมใส่รองเท้า ซึ่งการเดินไม่สวมรองเท้าจะมีการกระจายน้ำหนักที่มากกว่าและขยายบริเวณพื้นที่ออกไปได้กว้างกว่า ทำให้น้ำหนักตกลงน้อยกว่า (จากรูปที่ 3 ภาพล่าง : พื้นที่ 3 และพื้นที่ 4 ) ซึ่งจากข้อมูลแสดงให้เห็นว่า บริเวณพื้นที่ในการรองรับน้ำหนักของฝ่าเท้ามีการกระจายน้ำหนักแตกต่างกัน ซึ่งตำแหน่งการรองรับน้ำหนักและรูปแบบการกระจายน้ำหนักมีความสำคัญต่อการการทำกิจกรรมโดยเฉพาะการวิ่ง ซึ่งถือว่าเป็นกิจกรรมที่กลุ่มคนทั่วไปได้เลือกในใช้เป็นเครื่องมือในการออกกำลังกาย

จากที่กล่าวมา เป็นเพียงตัวอย่างเบื้องต้น เพื่อกระตุ้นผู้อ่านให้รับรู้ถึงความสำคัญและเกิดความตระหนักในการใส่ใจและการดูแลสุขภาพเท้าของท่าน และเป็นข้อมูลเพื่อการตัดสินใจเลือกรองเท้าให้เกิดความเหมาะสมตามชนิดกิจกรรม ซึ่งรองเท้าแต่ละชนิดได้รับการออกแบบมาเพื่อสร้างความปลอดภัยและลดความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บร่างกาย จึงนับว่าควรค่าต่อการลงทุนด้วยการเลือกรองเท้าที่มีคุณภาพ ราคาอาจจะสูงแต่ประสิทธิภาพและมีอายุการใช้งานนาน ซึ่งจะอยู่กับท่านพร้อมกับการมีสุขภาพเท้าที่ดีและมีความสุข