Generic selectors
Exact matches only
Search in title
Search in content
Post Type Selectors

Stoicism: Virtue and the Therapy of Grief ปรัชญาสโตอิก คุณธรรมกับการบำบัดความเศร้าในชีวิต

Stoicism: Virtue and the Therapy of Grief

ปรัชญาสโตอิก คุณธรรมกับการบำบัดความเศร้าในชีวิต

ปรัชญาสำนักสโตอิกหรือ stoicism เป็นกลุ่มปรัชญาที่ก่อตั้งในช่วง 300 ปีก่อนคริสต์กาลในนครเอเธนส์โดยนักปรัชญาชื่อเซโนแห่งไซติอุม กลุ่มนักปรัชญาสโตอิกนี้ ถือเป็นกลุ่มปรัชญาที่มีบทบาทสำคัญกระทั่งมีการกล่าวกันว่าเป็นสำนักปรัชญาที่ทรงอิทธิพลที่สุดในยุคโบราณนับตั้งแต่อสัญกรรมของอริสโตเติลเรื่อยมาจนถึงยุครุ่งเรืองของจักรวรรด์โรมัน นักปรัชญาที่โด่งดังในสำนักนี้ได้แก่ ซิเซโร่, เซเนก้า, และจักรพรรดิมาร์คัส ออเรลิอุส ฯลฯ เป็นต้น ส่วนเนื้อหาคำสอนของปรัชญาสำนักนี้ก็จะประกอบด้วยหลากหลายประเด็น ตั้งแต่อภิปรัชญา ญาณวิทยา ตรรกะศาสตร์ ปรัชญาการเมือง และจริยศาสตร์ ฯลฯ โดยเฉพาะในส่วนของจริยศาสตร์ซึ่งมีเนื้อหาน่าสนใจ ร่วมสมัยกับสังคมปัจจุบันอย่างน่าทึ่ง เช่นประเด็นเรื่องจริยศาสตร์ของการบำบัดความเศร้าโศก หรือคู่มือในการจัดการชีวิตเมื่อเผชิญหน้ากับการสูญเสีย

ทั้งนี้ สำหรับนักปรัชญาสโตอิก ความโศกเศร้าหรือ grief ถือเป็นส่วนหนึ่งของ passion หรืออารมณ์ที่ส่งผลลบต่อชีวิต การทำความเข้าใจความเศร้าจึงต้องเริ่มจากการทำความเข้าใจตำแหน่งแห่งที่ของอารมณ์เสียก่อน โดยนักปรัชญากลุ่มนี้จะมองอารมณ์ว่าไม่ใช่สิ่งที่ดำรงอยู่โดยตัวมันเอง แต่เป็นส่วนหนึ่งที่ดำรงอยู่ภายใต้ความสามารถในการใช้เหตุผลของมนุษย์ พูดอีกแบบก็คือสำหรับนักปรัชญาสโตอิกแล้ว อารมณ์และความเศร้าไม่ใช่สิ่งที่อยู่คนละด้านกับการใช้เหตุผล ตรงกันข้าม ทั้งอารมณ์และความเศร้านี้ต่างก็เป็นส่วนหนึ่งของตัวเหตุผลทั้งสิ้น แน่นอน สำหรับผู้ที่ศึกษาปรัชญามาบ้าง คงรู้สึกประหลาดกับข้อเสนอของนักปรัชญาสโตอิกที่เสนอว่าอารมณ์เป็นส่วนหนึ่งของเหตุผล เพราะปรัชญาโดยทั่วไปนั้นมักถือว่าเหตุผลและอารมณ์ เป็นองค์ประกอบสองส่วนที่ไม่ควรนำมาปะปนกัน กระนั้น สำหรับนักปรัชญาสโตอิก การแยกเหตุผลและอารมณ์ออกจากกันนี้อาจไม่ใช่อะไรเลยนอกจากมรดกภายใต้กระบวนทัศน์ทางปรัชญาของเพลโต ผู้เสนอว่าจิตหรือ soul ของมนุษย์สามารถแบ่งออกได้เป็นส่วนที่มีเหตุผลและส่วนที่ไม่มีเหตุผล (โดยส่วนที่เพลโตยกให้เป็นส่วนสำคัญที่มนุษย์ควรใช้สำหรับปกครอง/ควบคุมส่วนอื่นๆในจิตทั้งหมดนั้นก็คือส่วนที่เป็นเหตุผล) ขณะที่พวกสโตอิกนั้น จะพิจารณาว่าองค์ประกอบทั้งหมดของจิตคือเหตุผล จึงไม่มีจิตส่วนไหนที่ไม่ใช่เหตุผล หรือก็คือ เนื่องจากไม่มีส่วนที่ไร้เหตุผลในจิต อารมณ์ซึ่งเกิดจากจิตของมนุษย์จึงย่อมเป็นผลลัพธ์จากการใช้เหตุผลตามไปด้วย

แต่จะเป็นไปได้หรือที่เหตุผลจะสร้างสิ่งที่ดูตรงกันข้ามกับตัวมันเองอย่างอารมณ์? ถ้าอารมณ์เป็นสิ่งที่ถูกสร้างโดยเหตุผล แล้วอะไรคือเงื่อนไขที่อนุญาตให้เหตุผลสามารถสร้างสิ่งที่ดูเหมือนจะตรงข้ามกับตัวมันเอง (อย่างอารมณ์) ขึ้นมาได้? ถึงตรงนี้ ข้อเสนอหนึ่งที่สำคัญมากก็คือข้อเสนอของคริสซิปปัส นักปรัชญาสโตอิกจากเอเชียกลาง ผู้เป็นเจ้าสำนักสโตอิกรุ่นที่สาม (ต่อจากเซโนผู้ก่อตั้ง และคลีอันเทส) ซึ่งเสนอว่าอารมณ์นั้นคือแบบแผนที่เกิดจากการตัดสินที่ผิดพลาดหรือ false judgment กล่าวคือ อารมณ์นั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากที่เราใช้เหตุผลตัดสินสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นกับตัวเราก่อน โดยการใช้เหตุผลในที่นี้จะไม่ใช่เรื่องของการใช้ภาษาถกเถียง พูดคุย แต่เป็นเรื่องของการจำแนก แยกแยะ และตัดสินเพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นกับตัวเรา เช่น เวลาที่เราโดนคนอื่นต่อว่า สิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆก็คือ เรารู้ว่าบุคคลผู้นั้นพูดบางอย่างเกี่ยวกับตัวเราให้เราได้ยิน ซึ่งสิ่งที่เราทำต่อมาก็คือตัดสินคำว่าพูดที่บุคคลดังกล่าวพูดมีผลกับตัวเราอย่างไร หากเราตัดสินว่าคำพูดเหล่านั้นมีผลทำให้ตัวเราเสียหาย สูญเสียศักดิ์ศรี เราก็จะเกิดอารมณ์โกรธเคือง แต่ถ้าเราตัดสินว่าคำต่อว่าดังกล่าวไม่ได้ทำให้เราเสียหาย เราก็อาจไม่ได้รู้สึกโกรธเคือง กับคำพูดดังกล่าว เป็นต้น ในแง่นี้ ความโกรธและอารมณ์ทั้งหลายทั้งปวงจึงไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติทันทีที่มีสิ่งต่างๆเกิดขึ้นกับตัวเรา แต่จะเกิดขึ้นภายหลังจากที่เราใช้เหตุผลตัดสินแยกแยะและพบว่าการกระทำที่เกิดขึ้นกับตัวเราเหล่านั้นมีผลทำให้เราเสียหายต่างหาก

จากกรอบแนวทางดังที่ได้กล่าวมาข้างต้น  จึงไม่แปลกที่ความเศร้าเองก็จะเป็นผลจากการตัดสินสิ่งต่างๆโดยตัวเราเช่นกัน ซึ่งในกรณีของการตัดสินที่นำมาสู่ความเศร้านั้น คริสซิปปัสจะอธิบายว่าเป็นเรื่องของการ ยอมรับต่อตนเองในความสูญเสียสิ่งอันมีค่าที่ปรากฏกับตัวเรา (ภาษาอังกฤษคือ assenting the appearance) กล่าวคือทุกๆความโศกเศร้าในสายตาของคริสซิปปัสนั้น เป็นผลมาจากการที่เรายอมรับกับตนเองถึงความสูญเสียสิ่งอันมีค่าที่เกิดกับเรา ซึ่งการยอมรับหรือ assenting ตรงนี้ถือว่าสำคัญมาก เพราะคือการยอมให้ความสูญเสียดังกล่าวได้เข้ามาส่งผลต่อโลกภายใน (internal world) และจินตนาการต่อชีวิตในอนาคตของตัวเรา หรือก็คือการยอมรับว่าชีวิตของเราต่อไปจากจุดนั้นจะต้องดำเนินไปโดยปราศจากสิ่งอันมีค่าที่เราสูญเสียไปชิ้นนั้น

ในแง่นี้ ความเศร้าโศกจึงเป็นผลจากการที่โลกภายในของเราพังทลายอันเนื่องมาจากการยอมรับถึงการสูญเสียสิ่งมีค่าในชีวิตของเรา ทันทีที่เรายอมรับว่าสิ่งมีค่าซึ่งเคยเป็นส่วนหนึ่งในโลกภายในตลอดจนจินตนาการในชีวิตของเราได้หายไป เราก็ได้ปล่อยให้โลกภายในตลอดจนจินตนาการถึงชีวิตที่สิ่งมีค่าดังกล่าวเคยดำรงอยู่ พังทลายลงตามไปด้วย หรือก็คือทันทีที่เรายอมรับว่าเราสูญเสียสิ่งสำคัญในชีวิต ชีวิตของเราก็จะถูกเหวี่ยงเข้าสู่สุญญากาศของโลกภายในที่ตัวเราเองไม่อาจกำหนด/คาดการณ์/หรือมองเห็นชีวิตของตนได้เหมือนกับที่เคยเป็นมา นั่นจึงไม่แปลกที่เรามักเศร้าเสียใจกับการสูญเสียที่เพิ่งเกิดขึ้นใหม่ๆ ในขณะที่เมื่อเวลาผ่านไปความเสียใจจะลดทอนเบาบางลง เพราะในกรณีแรกนั้น คือกรณีที่เรากำลังประสบกับวาระที่โลกภายในกำลังพังทลายลงไป ขณะที่ในกรณีหลังคือกรณีที่เราเริ่มคุ้นชินกับโลกภายใน ที่เราสร้างขึ้นมาใหม่ ซึ่งโลกดังกล่าวย่อมไม่มีสิ่งมีค่าที่เราเคยสูญเสียไปดำรงอยู่เป็นส่วนหนึ่ง ทำให้ความเจ็บปวดจากการสูญเสียสิ่งมีค่านั้นเริ่มลดทอนเบาบางตามไปด้วย ด้วยเหตุนี้ บุคคลที่ยังคงเศร้าเสียใจต่อการสูญเสียสิ่งมีค่าทั้งๆที่เหตุการณ์การสูญเสียดังกล่าวได้ผ่านไปเนิ่นนานแล้วนั้น ก็คือบุคคลที่—ตามคำอธิบายของคริสปิอัส—ไม่สามารถสร้างโลกภายในขึ้นมาใหม่ได้นั่นเอง พูดอีกแบบก็คือ การที่เรายังคงเศร้าโศกเสียใจกับการจากไปในสิ่งที่เรารักโดยไม่มีทีท่าว่าความเสียใจดังกล่าวจะลดทอนเบาบางลงไปได้นั้น ก็เพราะเรายังคงติดอยู่ในสุญญากาศของโลกภายใน ที่เราจะไม่สามารถ move on หรือสร้างโลกภายในใหม่ขึ้นมาแทนที่ได้

แต่อะไรคือทางออกที่จะช่วยให้เราสามารถรับมือและเผชิญหน้ากับความเศร้าโศกได้? ถ้าความเศร้าโศกคือสิ่งที่นักปรัชญาสโตอิกอธิบายว่าเป็นการเผชิญหน้ากับโลกภายในที่กำลังพังทลาย(อันเกิดจากการสูญเสียสิ่งมีค่าที่เป็นส่วนสำคัญในโลกดังกล่าว) แล้วอะไรคือทางออกที่นักปรัชญาเหล่านี้เสนอเพื่อให้มนุษย์ไม่ต้องเผชิญหน้ากับการพังทลายของโลกภายในดังที่อธิบายไป? แน่นอนว่าคำตอบหนึ่งนั้นก็คือการให้เวลาเพื่อให้เวลาดังกล่าวเป็นตัวช่วยให้ผู้ที่สูญเสียสิ่งมีค่าสามารถสร้างโลกภายในขึ้นมาใหม่ แต่สำหรับนักปรัชญาสโตอิกแล้ว คำตอบเรื่องเวลาหาใช่คำตอบที่จีรังยั่งยืน เพราะแม้อาจสร้างโลกภายในขึ้นมาใหม่ แต่ก็ย่อมไม่มีอะไรมารับประกันว่าโลกดังกล่าวจะไม่พังทลายลงอีกครั้งในอนาคต ถึงตรงนี้ การบำบัดความเศร้าโศกตามหลักปรัชญาสโตอิกจึงไม่ใช่เรื่องของการสร้างโลกภายในขึ้นมาใหม่ แต่ จะต้องอาศัยสิ่งที่เรียกว่าคุณธรรมหรือ virtue ทั้งนี้ สำหรับนักปรัชญาสำนักสโตอิกแล้ว คุณธรรมจะไม่ใช่ทั้งการกระทำอันกล้าหาญที่สังคมการเมืองควรเชิดชู หรือการครอบครองปัญญาที่วางอยู่บนสัจจะและความจริงแท้ หากแต่คือการควบคุมจิตของตนเองให้สงบ ผ่องแผ้ว แจ่มใสไม่ขุ่นมั่วไปด้วยอารมณ์ต่างๆ โดยการควบคุมดังกล่าวนั้นจะขึ้นตรงกับการฝึกใช้เหตุผลอย่างถูกต้อง ซึ่งสำหรับนักปรัชญาสโตอิกแล้วก็คือ การฝึกจำแนก แยกแยะและตัดสินให้ได้ว่าอะไรเป็นสิ่งที่เราสามารถควบคุมได้ และอะไรเป็นสิ่งที่เราไม่อาจควบคุม คุณธรรมแบบสโตอิกซึ่งเน้นการควบคุมจิตของตนเอง จึงต้องเริ่มต้นจากการแยกแยะให้ได้เสียก่อนว่าอะไรคือสิ่งที่ตนเองควบคุมได้ และอะไรเป็นสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ ซึ่งสำหรับนักปรัชญาสโตอิกนั้น สิ่งที่ควบคุมได้ก็คือตัวจิตของเราเอง ขณะที่สิ่งที่ควบคุมไม่ได้ก็คือสิ่งต่างๆที่อยู่ภายนอกจากจิตของเรา ไม่ว่าจะเป็นชื่อเสียง เงินทอง ความรัก มิตรภาพ หรือแม้แต่สุขภาพทางกายของตน ที่ล้วนแต่เป็นสิ่งซึ่งพร้อมจะแปรเปลี่ยน ผกผันไปตามเงื่อนไขอื่นๆภายนอกจิตของเราทั้งสิ้น

ในแง่นี้ คุณธรรมของนักปรัชญาสโตอิก อันเป็นคุณธรรมที่ช่วยบำบัดความเศร้าโศก จึงเป็นเรื่องของการถอยห่างหรือ detach จากโลก เนื่องจากโลกคือต้นตอของ external contingency หรือความไม่แน่ไม่นอนภายนอกที่เราไม่สามารถกำกับควบคุมได้ คุณธรรมแบบสโตอิกที่เน้นการควบคุมจิตจึงเป็นไปได้เมื่อผู้ปฏิบัติตระหนักถึงความไม่แน่ไม่นอนของโลก และใช้ชีวิตถอยห่างจากโลก ด้วยความไม่ยินดี ยินร้ายกับสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้น เพราะสิ่งเหล่านั้นคือสิ่งที่อยู่เหนือการควบคุมของมนุษย์ สำหรับนักปรัชญาสโตอิก การควบคุมคือการควบคุมในสิ่งที่ควบคุมได้(คือจิต) และไม่คิดที่จะควบคุมในสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ (คือโลก) การควบคุมแบบสโตอิกจึงเป็นการควบคุมที่วางอยู่บนศิลปะแห่งการครุ่นคิด บำเพ็ญภาวนา ไตร่ตรองและตระหนักรู้ถึงขอบเขตของตนเองว่าอะไรคือสิ่งที่ตนทำได้และอะไรคือสิ่งที่ตนไม่สามารถกระทำหรือกำหนดได้ มิใช่เพื่อที่จะให้มนุษย์ยอมแพ้ต่อโชคชะตา แต่เพื่อที่จะไม่ให้ชีวิตของมนุษย์ถูกโชคชะตาพัดพาโดยที่เจ้าตัวไม่อาจควบคุมตนเองได้ต่างหาก

และด้วยแนวทางของคุณธรรมดังกล่าว การบำบัดความเศร้าโศกของนักปรัชญาสโตอิกก็จะไม่ใช่อะไรเลยนอกจากสิ่งที่เรียกกันต่อมาว่า the premeditation of the future evil หรือการที่เราบำเพ็ญจิตใช้เหตุผลสร้างจินตนาการถึงสิ่งเลวร้ายต่างๆที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อเตรียมตัวให้เราคุ้นชินกับความเปลี่ยนแปลงต่างๆที่ไม่ช้าหรือเร็วก็จะต้องเกิดขึ้น การครุ่นคิด ไตร่ตรองและคาดการณ์ต่อความเลวร้ายต่างๆที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตนี้ คือแนวทางสำคัญที่จะช่วยให้เราไม่ยึดติดและหลงไปกับโลกภายในที่เราสร้างขึ้น พูดอีกแบบก็คือ หากความเศร้าเป็นผลจากการที่เราเผชิญหน้ากับโลกภายในที่พังทลาย(อันเนื่องมาจากเราสูญเสียของมีค่าที่เป็นส่วนหนึ่งในโลกภายในใบนั้น) ทางแก้ก็คือการไม่ยึดติดกับโลกภายในที่เราสร้างขึ้น ซึ่งการไม่ยึดติดตรงนี้ ก็คือจุดตั้งต้นที่จะช่วยให้เราควบคุมตัวเราเองได้ ยิ่งเราไม่ยึดติดกับโลกภายในต่างๆ( ด้วยเชื่อว่าโลกดังกล่าวจะต้องเปลี่ยนแปลงไปในอนาคต) ตัวเราก็จะยิ่งควบคุมจิตของตนเองไม่ให้ตกเป็นกรรมภายใต้กำกับขององค์ประธานภายนอกอย่างโลกที่เป็นจริงๆ

การรับมือการความเศร้าในชีวิต—สำหรับนักปรัชญาสโตอิก—จึงเป็นเรื่องของการครุ่นคิดถึงความเปลี่ยนแปลงต่างๆที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอยู่เสมอ ยิ่งเราครุ่นคิดถึงสิ่งที่เราจะต้องสูญเสียในอนาคต(ตามวิถีที่โลกเป็น) มากขึ้นเท่าใด เราก็จะยิ่งรับมือกับความเศร้าจากความสูญเสียได้มากเท่านั้น  มีแต่การเตรียมใจ จินตนาการถึงชีวิตในอนาคตที่เราจะไม่มีสิ่งมีค่าชิ้นนั้นอยู่แล้วเท่านั้น ที่จะช่วยให้เราลดทอนความเศร้าในชีวิตลงได้ การเตรียมใจที่จะตอกย้ำว่าการสูญเสียสิ่งต่างๆไปนั้นคือข้อเท็จจริงของโลกและชีวิต การเตรียมใจซึ่งอาจไม่ได้บอกอะไรนอกจากความจริงที่ว่าตัวเรา ชีวิตของเราตลอดจนชีวิตของสิ่งต่างๆที่เรารักนั้น ล้วนแล้วแต่เป็นเพียงเม็ดทรายในจักรวาลอันยิ่งใหญ่ไพศาล เท่านั้น  

เขียนโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อรรถสิทธิ์ สิทธิดำรง

Facebook Comments Box