Generic selectors
Exact matches only
Search in title
Search in content
Post Type Selectors

One day trip นั่งรถไฟไปอยุธยาวันเดียวก็เที่ยวได้

พระนครศรีอยุธยา
          สถานที่ท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ในประเทศไทยมีมากมาย แต่ละที่ล้วนมีเอกลักษณ์และประวัติความเป็นมาอันยาวนาน เป็นมนตร์ขลังซึ่งนักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบการตามรอยประวัติศาสตร์ต้องไปเยือนและสัมผัสบรรยากาศด้วยตัวเองสักครั้งในชีวิต และหนึ่งในนั้น คือ อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพมหานคร ที่ต่อให้มีเวลาเพียงวันเดียวก็สามารถไป One day trip กันได้ง่าย ๆ  ด้วยการนั่งรถไฟท่องเที่ยวตามรอยประวัติศาสตร์และชมวิถีชีวิตผู้คนรายทางแบบเช้าไปเย็นกลับ เรียกได้ว่าทริปนี้ทั้งอิ่มบุญ อิ่มท้องและอิ่มใจกันเลยทีเดียว
          เราใช้เวลา 1 วัน สำหรับการเดินทางไปท่องเที่ยวในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เลือกเดินทางโดยรถไฟ สำคัญว่า เมื่อมีเวลาน้อยก็ต้องมีการวางแผนมาก่อนว่าทริปหนึ่งวันของเราจะเดินทางไปไหนกี่แห่ง เพื่อให้สามารถใช้เวลาอย่างคุ้มค่าและเต็มอิ่มกับการตามรอยประวัติศาสตร์ แต่ขอบอกไว้ก่อนว่า ในความเป็น “อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา” นั้น หากจะไปสัมผัสทุกสถานที่สำคัญให้ครบถ้วนอาจต้องใช้เวลาที่มากกว่าหนึ่งวัน บางคนไปแล้วก็ยังอยากจะไปอีก เพราะมนตร์เสน่ห์ของเมืองเก่าและร่องรอยความเจริญรุ่งเรืองที่ได้พบเห็นนั้นช่างน่าหลงใหลเหลือเกิน
          เริ่มต้นการเดินทางโดยการซื้อตั๋วรถไฟต้นทางสถานีกรุงเทพอภิวัฒน์เที่ยวเช้า ซึ่งขบวนรถที่วิ่งผ่านสถานีรถไฟอยุธยามีทั้งสายเหนือและสายตะวันออกเฉียงเหนือ มีทั้งรถเร็ว รถด่วน และรถด่วนพิเศษ สามารถเทียบตารางเวลาเดินรถได้บนเว็บไซต์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งขบวนรถที่เลือกเดินทางในครั้งนี้เป็นรถไฟกรุงเทพอภิวัฒน์ – อุบลราชธานี ราคาตั๋วหลักสิบ เป็นรถวิ่งทางยาวจอดรับผู้โดยสารตามสถานีรายทาง เราจะได้เห็นวิถีชีวิตผู้คนระหว่างทางเรื่อยไปจนกระทั่งเข้าสู่เขตจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เดินทางเช้า ๆ แบบนี้ถ้าท้องหิว ก็ลองมองหาบรรดาพ่อค้าแม่ขายที่หิ้วอาหารขึ้นมาขายบนขบวนรถไฟกันได้ ใช้เวลาเดินทางร่วมสองชั่วโมงก็ถึงจุดหมายปลายทางสถานีรถไฟอยุธยา
พระนครศรีอยุธยา
ภาพโดย การรถไฟแห่งประเทศไทย
          ที่สถานีรถไฟอยุธยามีบริการรถตุ๊ก ๆ นำเที่ยว นั่งกี่คนก็แล้วแต่คิดในราคาเหมาจ่ายวันละ 600 บาท พี่พลขับเป็นคนในพื้นที่จะแนะนำให้วางแผนเดินทางท่องเที่ยวแบบประหยัดเวลา ตามเก็บทุกสถานที่ในทริปของเราให้ครบจบในหนึ่งวัน อ้างอิงตามแผนที่ขอบเขตมรดกโลกอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา (Ayutthaya Historical Park) จากเว็บไซต์ของ UNESCO วัดที่อยู่ในพื้นที่มรดกโลก ประกอบด้วย วิหารพระมงคลบพิตร, วัดพระศรีสรรเพชญ์, วัดพระราม, วัดราชบูรณะ, วัดมหาธาตุ, วัดธรรมิกราช และวัดโลกยสุธารามหรือวัดพระนอน แต่ด้วยความเป็นเมืองเก่าที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน ทั่วทั้งพระนครศรีอยุธยาจึงมีสถานที่ท่องเที่ยวเชิงประวิติศาสตร์อยู่มากมายไม่เพียงแต่ในเขตมรดกโลกเท่านั้น
พระนครศรีอยุธยา
พระนครศรีอยุธยา
          ประเดิมทริปกันที่ วัดใหญ่ชัยมงคล สถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ซึ่งมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาเยือนกันตลอดทั้งวัน จุดเด่นของวัดนี้ คือ พระเจดีย์ชัยมงคล อันเป็นอนุสรณ์แห่งชัยชนะของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เมื่อครั้งทรงทําศึกยุทธหัตถีชนะพระมหาอุปราชของพม่า ทรงสร้างพระเจดีย์ใหญ่ขึ้นที่วัดแห่งนี้ และถูกทิ้งร้างไปเมื่อคราวอยุธยาเสียกรุงครั้งสุดท้าย ต่อมาได้ตั้งขึ้นเป็นวัดที่มีพระสงฆ์อยู่จําพรรษา ภายในวัดมีวิหารพระพุทธไสยาสน์ที่สร้างในสมัยสมเด็จพระนเรศวร เพื่อเป็นที่ถวายสักการบูชาและปฏิบัติพระกรรมฐาน ปัจจุบันมีการสร้างพระตําหนักสมเด็จพระนเรศวรมหาราช มีพระบรมราชานุสาวรีย์ของพระองค์ประดิษฐาน ให้ผู้คนได้สักการะเพื่อความเป็นสิริมงคล
          มาเที่ยวอยุธยาควรเลือกช่วงเวลาที่สภาพอากาศเป็นใจสักหน่อย ดูพยากรณ์อากาศล่วงหน้าว่าไม่มีฝนในระหว่างนี้ อย่างช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน กลางวันแดดดี อากาศปลอดโปร่ง และมีลมหนาวพัดมาเป็นระยะ ถือว่าดีงามเลยทีเดียว เหมาะแก่การบันทึกไว้เป็นอีกหนึ่งทริปดี ๆ ในความทรงจำ
พระนครศรีอยุธยา
ภาพโดย การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
          จากนั้นขึ้นรถไปยัง วัดพนัญเชิงวรวิหาร วัดเก่าแก่สำคัญซึ่งตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำป่าสัก เป็นพระอารามหลวงชั้นโท “วรวิหาร” แบบมหานิกาย เป็นวัดที่เรามักได้ยินชื่อบ่อย ๆ ในละครอิงประวัติศาสตร์สมัยอยุธยา วัดพนัญเชิงมีประวัติความเป็นมาที่ยาวนาน สร้างขึ้นตั้งแต่ก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยา ภายในวัดประดิษฐานพระพุทธไตรรัตนนายก หรือหลวงพ่อโต พระพุทธรูปศิลปะอู่ทองตอนปลาย ปางมารวิชัย ลงรักปิดทอง หลวงพ่อโตเป็นพระโบราณคู่บ้านคู่เมืองกรุงศรีอยุธยามาแต่ครั้งสร้างกรุง เป็นที่เคารพสักการะของชาวพระนครศรีอยุธยาและจังหวัดใกล้เคียง รวมทั้งกลุ่มเชื้อคนสายจีนเป็นอย่างมาก โดยมีชื่อเรียกในภาษาจีนว่า “ซำปอกง” ถ้ามาถึงอยุธยาแล้วก็ต้องได้มาสักการะบูชาหลวงพ่อโตสักครั้งเพื่อความเป็นสิริมงคล โดยวัดเปิดให้เข้าชมตั้งแต่เวลา 08.00-17.00 น.
พระนครศรีอยุธยา
พระนครศรีอยุธยา
พระนครศรีอยุธยา
          วัดไชยวัฒนาราม เป็นวัดที่ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติ เมื่อ พ.ศ. 2478 ในอดีตเป็นวัดหลวงที่ใช้สำหรับบำเพ็ญพระราชกุศลของพระมหากษัตริย์ ทั้งยังเป็นสถานที่ถวายพระเพลิงพระศพของพระบรมวงศานุวงศ์หลายพระองค์ รวมทั้งเป็นสถานที่ฝังพระศพของเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร (เจ้าฟ้ากุ้ง) และเจ้าฟ้าสังวาล ซึ่งต้องพระราชอาญาโบยจนสิ้นพระชนม์ ในรัชสมัยของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ไฮไลท์ของวัดไชยวัฒนารามคือ “พระปรางค์ศรีรัตนมหาธาตุ” ปรางค์ประธานของวัดซึ่งตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัส ที่มุมฐานมีปรางค์ประจําทิศอยู่ทั้งสี่มุม มีพระระเบียงรอบปรางค์ประธาน ภายในพระระเบียงประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัย ผนังระเบียงก่ออิฐถือปูน มีลูกกรงเป็นรูปลายกุดั่น งดงามตามแบบฉบับศิลปะสมัยอยุธยา มาถึงที่นี่แล้วก็อย่าพลาดเก็บภาพไว้เป็นที่ระลึก ยิ่งถ้าได้แต่งกายย้อนยุคให้เข้ากับบรรยากาศก็จะยิ่งดีงาม 
          ตามรอยสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์กันตั้งแต่เช้าแบบนี้ ก็พอจะมีเวลาหาร้านอาหารอร่อย ๆ รับประทานมื้อเที่ยงกันยาว ๆ ทริปนี้ตั้งธงไว้ว่าต้องได้กินปลาแม่น้ำในร้านอาหารบรรยากาศดี ๆ ริมแม่น้ำสายสำคัญซึ่งก็มีให้เลือกหลายร้าน จะไปตามรีวิวในโซเชียลหรือถามเอาจากพี่โชเฟอร์รถตุ๊ก ๆ  ก็ตามแต่สะดวกเลย ทริปนี้เราเชื่อใจพี่โชเฟอร์คนพื้นที่เลือกร้านอาหารริมแม่น้ำเจ้าพระยา ลมพัดเย็นสบาย ทีเด็ดร้านนี้คือเมนูต้มยำปลาคังที่รสชาติเข้มข้นสมคำร่ำลือ ถ้ามีโอกาสก็จะกลับมากินอีกครั้งอย่างแน่นอน
พระนครศรีอยุธยา (Ayutthaya Historical Park)
พระนครศรีอยุธยา (Ayutthaya Historical Park)
พระนครศรีอยุธยา
          อิ่มท้องแล้วก็มารันทริปกันต่อที่ วัดมหาธาตุ เมื่อพูดถึงวัดนี้นักท่องเที่ยวอาจจะติดภาพ เศียรพระพุทธรูปหินทรายที่มีรากไม้ปกคลุม เศียรพระพุทธรูปนี้หล่นลงมาอยู่ที่โคนต้นไม้ในสมัยอยุธยาเสียกรุงจนรากไม้ขึ้นปกคลุม มีความงดงามแปลกตา ถือเป็น Unseen Thailand ที่ใครได้ไปเยือนก็ต้องได้เก็บภาพไว้เป็นความประทับใจ พงศาวดารบางฉบับกล่าวว่า วัดพระมหาธาตุสร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 ต่อมาสมเด็จพระราเมศวรโปรดให้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุมาประดิษฐานไว้ใต้ฐานพระปรางค์ประธาน ซึ่งพระปรางค์วัดมหาธาตุถือเป็นปรางค์ที่สร้างในระยะต้นของสมัยอยุธยา ได้รับอิทธิพลจากปรางค์ขอม ชั้นล่างก่อสร้างด้วยศิลาแลง ตอนบนก่ออิฐถือปูน สมเด็จพระเจ้าปราสาททองโปรดให้ปฏิสังขรณ์พระปรางค์โดยเสริมให้สูงกว่าเดิม กาลต่อมายอดพระปรางค์พังลงมาเหลือเพียงชั้นมุขเท่านั้น
พระนครศรีอยุธยา
พระนครศรีอยุธยา
พระนครศรีอยุธยา
          เดินเท้าต่อไปยัง วัดราชบูรณะ ซึ่งอยู่ในพื้นที่ใกล้กัน เป็นวัดที่ใหญ่ที่มีความเก่าแก่อย่างมากของอยุธยา เป็นวัดที่สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 หรือเจ้าสามพระยา โปรดให้สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 1967 ในบริเวณที่ถวายพระเพลิงศพเจ้าอ้ายพระยา เจ้ายี่พระยา พระเชษฐาทั้งสองของพระองค์ ซึ่งสิ้นพระชนม์ลงเนื่องจากการรบแย่งชิงราชสมบัติ ภายในวัดมีวิหารหลวงทรงสี่เหลี่ยมก่อด้วยอิฐที่วิจิตรสวยงาม และไฮไลท์สำคัญของวัดนี้ คือ พระปรางค์วัดราชบูรณะ ที่เป็นปรางแบบไทยแท้แบบฐานสูง ซึ่งแตกต่างจากปรางค์แบบขอมที่มีฐานเตี้ย มีกรุใหญ่และลึก ทั้งหมด 3 ห้องเรียงกันลงไป ห้องที่อยู่ในสุดและสำคัญที่สุดบรรจุพระบรมธาตุ ซึ่งเก็บรักษาอย่างดีในเจดีย์ทองคำ อาณาบริเวณรายรอบประดิษฐานพระพุทธรูปต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก
          เรามักได้ยินเรื่องราว กรุสมบัติวัดราชบูรณะ จากเหตุการณ์ที่มีกลุ่มคนร้ายลักลอบขุดกรุภายในพระปรางค์ประธาน เมื่อปี พ.ศ. 2499 โดยคนร้ายได้นำเอาทรัพย์สมบัติจำนวนมหาศาลหลบหนีไป ซึ่งภายหลังกรมศิลปากรได้เข้าทำการบูรณะ มีการขุดพบทรัพย์สมบัติที่หลงเหลือและเครื่องทองจำนวนมาก ปัจจุบันทรัพย์สมบัติภายในกรุถูกเก็บรักษาไว้ที่ห้องราชบูรณะภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา
พระนครศรีอยุธยา

          วัดพระศรีสรรเพชญ์ เป็นวัดที่อยู่ในอาณาบริเวณใกล้เคียงกันกับวัดมหาธาตุและวัดราชบูรณะ เดิมทีบริเวณนี้เป็นพระราชวังหลวงที่ประทับของพระมหากษัตริย์ สร้างขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) ต่อมาในรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ทรงโปรดให้ย้ายพระราชวังไปสร้างใหม่ทางด้านริมแม่น้ำลพบุรี และอุทิศพระราชวังแห่งนี้ให้เป็นวัดสำหรับประกอบพระราชพิธีสำคัญ ซึ่งก็คือวัดพระศรีสรรเพชญ์ และใช้เป็นสถานที่เสด็จออกบำเพ็ญพระราชกุศลในขณะนั้น ภายในวัดพระศรีสรรเพชญ์มีเจดีย์ทรงลังกา จำนวน 3 องค์วางแนวเรียงกัน ภายในเจดีย์บรรจุพระบรมอัฐิของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 3 และสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ปัจจุบันเหลือเพียงฐานรากของพระที่นั่งองค์ต่าง ๆ เนื่องจากถูกเผาทำลายเมื่อครั้งอยุธยาเสียกรุง

พระนครศรีอยุธยา
ภาพโดย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
          ปิดท้ายทริปกันที่ ตลาดน้ำอโยธยา ทันทีที่เข้ามาบริเวณตลาดน้ำแห่งนี้ก็จะได้เห็นความเป็นกรุงเก่าของพระนครศรีอยุธยาในอดีต เพราะที่นี่ได้จำลองบรรยากาศกรุงเก่าเอาไว้อย่างน่าประทับใจ ทั้งสถานที่ วิถีชีวิตผู้คน อาหารการกิน ตลอดจนศิลปวัฒนาธรรมแบบโบราณ ถือเป็นอีกจุดเช็กอินที่นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติสนใจมาเยือนกันคึกคักแทบทุกวัน โดยเฉพาะวันเสาร์ – อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวมากกว่าวันปกติ ระหว่างเดินชมตลาดน้ำก็ต้องมีโมเม้นซื้อไปชิมไป อาหารคาวหวาน ของกินต่าง ๆ ของที่นี่รสชาติอร่อยและหน้าตาสวยงาม ของฝาก สินค้าพื้นเมืองก็มีให้เลือกซื้อมากมาย รวมทั้งมีบริการล่องเรือชมตลาดน้ำอีกด้วย อย่างไรเสียก่อนเดินทางกลับก็ต้องได้แวะมาที่นี่ก่อน จะได้ทั้งอิ่มท้องและมีของฝากติดไม้ติดมือไปถึงคนที่บ้านกันด้วย

          One day trip นั่งรถไฟไปอยุธยาแบบเที่ยวครบจบในหนึ่งวัน ถือว่าใช้เวลาได้คุ้มค่ามาก เรานั่งรถตุ๊กๆ ไปที่สถานีรถไฟอยุธยา ซื้อตั๋วรถไฟเที่ยวเย็นปลายทางสถานีกรุงเทพอภิวัฒน์ ขึ้นนั่งในขบวนรถรับลมสบาย ๆ กับบรรยากาศยามเย็นเกือบพลบค่ำ บริบทสองข้างทางแตกต่างจากขามา ดังว่า เวลาเปลี่ยน…ทุกสิ่งเปลี่ยน ถ้าใครพอจะมีเวลาลองพาตัวเองไปท่องเที่ยวแบบง่าย ๆ ดูนะ รับรองว่าทริปเดียวไม่เคยพอ

แหล่งข้อมูล
1. การรถไฟแห่งประเทศไทย เว็บไซต์ https://www.railway.co.th
2. จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เว็บไซต์ https://ww2.ayutthaya.go.th
3. มิวเซียมไทยแลนด์ เว็บไซต์ https://www.museumthailand.com
4. การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เว็บไซต์ https://thai.tourismthailand.org

Facebook Comments Box