Generic selectors
Exact matches only
Search in title
Search in content
Post Type Selectors

ความรักกับคดีฆาตกรรม

ความรักกับคดีฆาตกรรม

ในปี 2017 มีผู้หญิงราว 30,000 คนทั่วโลก ถูกคนรักหรืออดีตคนรักสังหาร (BBC) บทความนี้ขอแชร์ในฐานะที่เป็นนักกฎหมายที่พอจะมีความรู้เล็กๆน้อยๆ ในศาสตร์ทางกฎหมาย สังคมวิทยา และอาชญาวิทยาอยู่บ้าง ก่อนอื่น แน่นอนว่านักกฎหมายอย่างเราเป็นอีกหนึ่งเสียงของการสนับสนุนนิยามความรักของศาลฎีกาที่ได้ให้คำนิยาม ความรัก ไว้ดังนี้

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6083/2546

          “ความรักเป็นสิ่งที่เกิดจากใจไม่อาจบังคับกันได้ ความรักที่แท้จริง คือ ความปรารถนาดีต่อคนที่ตนรัก       ความยินดีที่คนที่ตนรักมีความสุข การให้อภัยเมื่อคนที่ตนรักทำผิด และการเสียสละความสุขของตน      เพื่อความสุขของคนที่ตนรัก: love is something that arises from the heart, it cannot be forced. True love is a good intention towards the loved one, rejoicing in their happiness, forgiving them when they make mistakes, and sacrificing one’s own           happiness for the happiness of the loved one”

          “จำเลยปรารถนาจะยึดครองผู้ตายเพื่อความสุขของจำเลยเอง เมื่อไม่สมหวังจำเลยก็ฆ่าผู้ตายเป็น  ความผิด และการกระทำที่เห็นแก่ตัวเห็นแก่ได้ของจำเลยโดยฝ่ายเดียว มิได้คำนึงถึงจิตใจและ      ความรู้สึกของผู้ตายหาใช่ความรักไม่: Defendant had greed desires to possess the      deceased for his own happiness; when unsatisfied, it led to him killing the deceased. These thoughts and actions are Defendant’s selfish and ruthless, lacking   consideration for the feelings of the deceased. It is not love…”

ผู้เขียนจึงมองว่า “ความรัก” ยังคงมีความสวยงามเสมอ หากสังคมไม่เพิ่มเติมคำจำกัดความของความรักไปว่า ความรักนั้น…

          “ต้องได้ยึดถือครอบครอง” เพราะความรักเป็นความรู้สึกที่ไม่ใช่ทรัพย์สิน

          “ต้องได้รับการช่วยเหลือดูแลเรื่องการเงิน” เพราะความรักไม่ใช่ธนาคารและก็ไม่ใช่ตลาดหลักทรัพย์

          “ต้องได้รับการยอมรับจากสังคม” แต่สังคมก็ไม่ได้เข้ามามีส่วนรับผิดชอบในการสร้างความสุขหรือช่วยแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจากความสัมพันธ์ระหว่างคนสองคน

          “ต้องเหมาะสมด้วยองค์ประกอบภายนอก เช่น หน้าตา หน้าที่การงาน ฐานะ” บางทีอาจต้องแยกให้ออกระหว่างความรักกับการสมัครงาน เพราะเราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเพื่อนร่วมงานเราก็มีฐานะ หน้าที่การงาน หน้าตา สังคมเหมือนเรา แต่ทำไมเราถึงไม่ชอบเพื่อนร่วมงาน

          “ต้องให้ความสุขในเรื่องกามรมณ์หรือความสัมพันธ์ทางเพศได้” แม้ว่าจะเป็นเรื่องธรรมชาติ แต่กลายเป็นคำนิยามที่เพิ่มขึ้นจากสังคมในปัจจุบัน หลายคดีเกิดขึ้นเพราะบุคคลให้ความสำคัญกับสิ่งนี้มากไปกว่าความรักและรู้สึกที่ออกมาจากหัวใจอันบริสุทธิ์

          ฯลฯ

          การศึกษาพฤติกรรมของบุคคลโดยเฉพาะอาชญากร เป็นศาสตร์ที่นักกฎหมายส่วนใหญ่เรียนรู้ ซึ่งเป็นการคอนเฟิร์มว่าเราไม่สามารถตัดสินใครได้ตั้งแต่แรกเห็น เพราะเราไม่รู้เลยว่าบุคคลนั้นเติบโตมาอย่างไร พฤติกรรมเลียนแบบจากครอบครัวรวมถึงสังคมใกล้ตัวเป็นสาระสำคัญของพฤติกรรมมนุษย์ แม้ผิวเผินเราอาจมองเห็นว่าเขาเป็นคนดี การศึกษาดี ฐานะดี อยู่ในสังคมที่ดี แต่นั่นก็ไม่ได้เป็นสิ่งการันตีว่าเค้าจะเป็นคนดี เพราะถ้าเขาเติบโตมาจากการถูกกดดัน ก็เป็นสาเหตุให้มีพฤติกรรมที่เบี่ยงเบน จนอาจนำไปสู่การกระทำความผิดได้ การทำความเข้าใจในแรงจูงใจและปัจจัยที่ส่งผลต่อการเบี่ยงเบนในพฤติกรรมของบุคคลจึงเป็นสิ่งสำคัญ

          ดังนั้น ระยะเวลาของการคบหาในแต่ละความสัมพันธ์แม้บางคนจะบอกว่าไม่ใช่สาระสำคัญ ดูเหมือนว่าจะไม่แท้จริงเสมอไป เพราะบางครั้งระยะเวลาที่ใช้ร่วมกันที่ยาวนานนั้นอาจจะหมดไปเพื่อสนองความสุขที่ไม่ได้อยู่ในนิยามของความรักที่แท้จริงโดยไม่เคยศึกษาพฤติกรรมของอีกฝ่าย แต่ถ้าเราใช้ทุกช่วงเวลา ทุกนาทีเพื่อใส่ใจ ศึกษาไปพร้อมกับการปรับความคิด ทัศนคติ อย่างจริงจัง ระยะเวลาไม่นานก็สามารถทำให้เรารับรู้ถึงพฤติกรรมของอีกฝ่ายได้ อย่าลืมอีกข้อหนึ่งว่า ความรัก ต้องมีความสุข ถ้ามีความทุกข์แสดงว่าคุณกำลังหลงอยู่ในคำนิยามของความรักในรูปแบบของแฟชั่นและสมัยนิยม

          ท้ายที่สุด ไม่ว่าจะเป็นคดีฟ้องหย่าตลอดจนถึงคดีฆาตกรรมที่เกิดขึ้นในสังคมที่ดูเหมือนว่าจะเริ่มรุนแรงขึ้นในสังคมไม่ว่าไทยหรือต่างประเทศ จุดเริ่มต้นมักมาจากการให้คำนิยามความรักแบบผิดๆ

          แต่ไม่ว่าจะความรักความสัมพันธ์ในแต่ละคนจะให้คำนิยามแบบไหนก็ตาม สิ่งที่อยากจะเผยแพร่เพื่อส่งต่อให้กับผู้อ่านได้ใช้เป็นข้อมูลในการสังเกตพฤติกรรมของคนใกล้ตัวเพื่อเป็นภูมิคุ้มกันภัยที่จะเกิดขึ้นกับเรา

          ดร. เจน มังก์ตัน สมิธ อาจารย์มหาวิทยาลัยโกรซเตอร์เชียร์ (University of Gloucestershire) ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านอาชญาวิทยาในอังกฤษระบุว่า “ผู้ชายที่ฆ่าคนรักของตัวเองมีการทำตาม “ลำดับเวลาฆาตกรรม” ในรูปแบบ 8 ขั้นตอน ในการสังหาร 372 ครั้งที่เกิดขึ้นในสหราชอาณาจักร โดยเฉพาะพฤติกรรมที่ชอบควบคุมบงการ อาจเป็นตัวบ่งชี้สำคัญของความเป็นไปได้ที่ใครคนหนึ่งจะฆ่าคนรักของตัวเอง

          8 ขั้นตอนที่นำไปสู่การทำร้ายหรือฆาตกรรม

  1. ผู้ก่อเหตุมีประวัติของการล่วงละเมิดและแอบสะกดรอยตามในความสัมพันธ์ก่อนหน้าที่จะมีความสัมพันธ์กับเหยื่อ
  2. ความรักพัฒนากลายเป็นความสัมพันธ์ที่จริงจังอย่างรวดเร็ว
  3. ความสัมพันธ์นั้นถูกครอบงำด้วยการข่มขู่คุกคาม
  4. มีชนวนเหตุที่ทำให้ผู้ก่อเหตุเริ่มทำการข่มขู่คุกคาม ยกตัวอย่าง ความสัมพันธ์จบลง, การคบซ้อน, ไม่จริงใจ, หวังผลประโยชน์ของอีกฝ่าย, เป็นผู้ถูกข่มขู่คุกคามหยามหมิ่นมาก่อนหรือผู้ก่อเหตุมีปัญหาด้านการเงิน
  5. มีความรุนแรงเพิ่มขึ้นทั้งในด้านความถี่หรือความเข้มข้นของการเข้ามาควบคุมของคนรัก อย่างเช่น การสะกดรอยตาม, ทำร้ายร่างกาย หรือขู่ว่าจะฆ่าตัวตาย
  6. ผู้ก่อเหตุตัดสินใจที่จะลงมือฆ่า
  7. ผู้ก่อเหตุวางแผน อาจจะหาซื้ออาวุธหรือหาจังหวะที่เหยื่ออยู่เพียงลำพังในการลงมือ
  8. ผู้ชายลงมือฆ่าคู่รักของตัวเอง และอาจจะทำร้ายคนอื่นด้วย อย่างเช่น ลูก, พ่อแม่, เพื่อนสนิทของเหยื่อ

          ซึ่งมีเพียงกรณีเดียวเท่านั้นที่การฆาตกรรมเกิดขึ้นโดยไม่ได้เป็นไปตาม 8 ขั้นตอนนี้ คือ กรณีที่ผู้ชายไม่ได้มีความสัมพันธ์กับเหยื่อมาก่อน ดังนั้น ปมฆาตกรรมอาจจะเกิดขึ้นเพราะเรื่องอื่น เช่น ยาเสพติด, ชิงทรัพย์, ข่มขืนกระทำชำเรา ซึ่งแน่นอนว่าคดีเหล่านั้นไม่ได้มีความรักเป็นจุดเริ่มต้นของการฆาตกรรม

ที่มา : มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

Facebook Comments Box