Generic selectors
Exact matches only
Search in title
Search in content
Post Type Selectors

โรคแอนแทรกช์  คืออะไร ?

โรคแอนแทรกช์ คืออะไร ?

     ถ้าพูดถึงโรคติดต่อในช่วงนี้ คงไม่มีใครไม่รู้จัก “โรคแอนแทรกช์” ที่ขณะนี้พบในประเทศลาว ซึ่งเป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน สาเหตุมาจากติดเชื้อแบคทีเรียแบบเฉียบพลันเกิดจากเชื้อ Bacillus anthracis ดังนั้น Blogs นี้เราจึงจะมาให้ความรู้ในเรื่องโรคแอนแทรกซ์กันค่ะ

โรคแอนแทรกซ์ (ANTHRAX)

          1. ลักษณะโรค

     เป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรียแบบเฉียบพลันเกิดจากเชื้อ Bacillus anthracis พบได้ 3 ชนิด คือ เป็นแผลที่ปอด เป็นแผลที่ผิวหนัง หรือ เป็นแผลที่ทางเดินอาหาร ขึ้นกับช่องทางการติดเชื้อ โรคแอนแทรกซ์มีความเกี่ยวข้องกับโปรแกรมการใช้เป็นอาวุธชีวภาพ ผู้ป่วยโรคแอนแทรกซ์ทั่วโลกมากกว่าร้อยละ 95 เป็นชนิดแผลที่ผิวหนัง (Cutaneous anthrax)

  1. 2. อาการของโรค

     2.1 โรคแอนแทรกซ์ผิวหนัง (Cutaneous anthrax)จะเริ่มด้วยอาการคันบริเวณที่สัมผัสเชื้อ ตามมาด้วยตุ่มแดง (popule) แล้วกลายเป็นตุ่มพองมีนํ้าใส (vesicle) ภายใน 2 – 6 วัน จะเริ่มยุบตรงกลางเป็นเนื้อตายสีดำคล้ายแผลบุหรี่จี้ (eschar) รอบๆ อาการบวมนํ้าปานกลางถึงรุนแรงและขยายออกไปรอบเนื้อตายสีดำคล้ายแผลบุหรี่จี้ (eschar) อย่างสมํ่าเสมอบางครั้งเป็นตุ่มพองมีนํ้าใส (vesicle) ขนาดเล็กแผลบวมนํ้า มักไม่ปวดแผล ถ้าปวดมักเนื่องจากการบวมนํ้าที่แผลหรือติดเชื้อแทรกซ้อน แผลมักพบบริเวณศีรษะ คอ (ดังรูปที่ 1) ต้นแขน และมือ (ดังรูปที่ 2) (พื้นที่สัมผัสโรคบนร่างกาย)

รูปที่ 1 โรคแอนแทรกซ์ผิวหนังบริเวณคอ (Anthrax lesion on the neck. Cutaneous anthrax lesion on the neck)

รูปที่ 2 โรคแอนแทรกซ์ผิวหนังบริเวณแขน (Anthrax lesion on volar surface of right forearm. Cutaneous anthrax lesion on the volar surface of the right forearm)

     2.2 โรคแอนแทรกซ์ทางเดินหายใจ (Inhalational anthrax) เริ่มด้วยอาการคล้ายการ
ติดเชื้อของระบบหายใจส่วนบนที่ไม่รุนแรง เช่น ไข้ ปวดเมื่อยไอเล็กน้อย หรือเจ็บหน้าอก ซึ่งไม่มีลักษณะจำเพาะต่อมาจะเกิดการหายใจขัดอย่างเฉียบพลัน รวมถึงการหายใจมีเสียงดัง (stridor), อาการหายใจลำบากอย่างรุนแรง เกิดภาวะออกซิเจนลดตํ่าลง(hypoxemia), เหงื่อออกมาก (diaphoresis)ช็อก และตัวเขียว ภาพรังสีพบส่วนกลางช่องอก(mediastinum) ขยายกว้าง (ดังรูปที่ 3) ตามด้วยภายใน 3 – 4 วัน ทำให้เสียชีวิตอย่างรวดเร็ว ตรวจพบนํ้าท่วมเยื่อหุ้มปอด และบางครั้งพบ infi ltrate จากฟิล์มภาพรังสี

รูปที่ 3 ภาพเอกซเรย์ปอดพบส่วนกลางช่องอก (mediastinum) ขยายกว้างในผู้ป่วยโรคแอนแทรกซ์ทางเดินหายใจ ก่อนผู้ป่วยเสียชีวิต 22 ชั่วโมง (Chest radiograph showing widened mediastinum due to inhalation anthrax. Radiograph taken 22 houre death; AP Chest X-ray)

     2.3 โรคแอนแทรกซ์ทางเดินอาหาร (Gastrointestinal anthrax) อาจเกิดในจุดใดจุดหนึ่งของลำไส้ และเกิดการอักเสบและบวมนํ้ามาก นำไปสู่การมีเลือดออก อุดตัน เป็นรู และมีนํ้าในช่องท้องมาก โรคแอนแทรกซ์ทางเดินอาหารไม่พบการเสียชีวิตที่แน่นอน แต่ด้วยการรักษา การเสียชีวิตสามารถเพิ่มสูงได้ ด้วยเกิดอาการเลือดเป็นพิษ ช็อก อาการโคม่าและเสียชีวิต

          3. ระยะฟักตัวของโรค

               1 – 5 วัน แต่อาจนานได้ถึง 60 วัน

          4. การวินิจฉัยโรค

              ทำได้โดยการตรวจหาเชื้อในเลือด แผลหรือสิ่งขับถ่ายของผู้ป่วย (discharge)

          5. การรักษา 

              ยาเพนิซิลลิน (Penicillin) ให้ผลในการรักษาดีที่สุดสำหรับแอนแทรกซ์ผิวหนัง โดยให้นาน 5-7 วันส่วนเตตราซัยคลิน (Tetracycline) อีริโทรมัยซิน (Erythromycin) และคลอแรมเฟนิคอล (Chloramphenicol) ก็ให้ผลดีเช่นกัน ในเหตุการณ์แอนแทรกซ์ปี พ.ศ. 2544 กองทัพสหรัฐอเมริกา ได้ริเริ่มใช้ยาซิโปรฟล็อกซาซิน (Ciprofl oxacin) หรือด๊อกซีซัยคลิน (Doxycycline) ฉีดเข้าหลอดเลือดดำ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาผู้ป่วยแอนแทรกซ์ทางเดินหายใจแต่ยังไม่มีการศึกษาวิจัยถึงประสิทธิภาพการรักษาที่ชัดเจน

          6. การแพร่ติดต่อโรค

            คนติดโรคจากการสัมผัสสัตว์ป่วยหรือสัมผัสกับผลิตภัณฑ์สัตว์ที่มาจากสัตว์ป่วย หรืออาจติดโรคโดยการหายใจเอาสปอร์ของเชื้อเข้าไป โดยสปอร์ติดอยู่ตามฝุ่นละออง ขนสัตว์ หนังสัตว์

          7. มาตรการป้องกันโรค

            7.1 ให้ความรู้ด้านสุขศึกษาแก่เกษตรกร โดยเน้นว่า ถ้าสัตว์โดยเฉพาะโค กระบือตายกะทันหัน
ไม่ทราบสาเหตุ ให้สงสัยว่าเป็นโรคแอนแทรกซ์และห้ามผ่าซากโดยเด็ดขาดและให้รีบแจ้งสัตวแพทย์ทันที เพื่อเก็บตัวอย่างเลือดไปส่งตรวจชันสูตรโรค ควรทำลายซากสัตว์โดยการเผาตรงจุดที่สัตว์ตายไม่ควรเคลื่อนย้ายซาก
            7.2 ป้องกันโรคโดยการฉีดวัคซีนให้แก่สัตว์ โดยเฉพาะโค กระบือ ทุกปี โดยดำเนินการในบริเวณที่เคยเกิดโรคระบาดหรือบริเวณติดต่อกับพื้นที่เสี่ยง หากมีการระบาดเกิดขึ้นต้องรีบรักษา
            7.3 ดำเนินการในโรงงานขนสัตว์ หนังสัตว์ อาหารสัตว์ดังนี้
               1) ให้ความรู้ด้านสุขศึกษาแก่คนงาน ให้ทราบการป้องกันการติดต่อของโรคนี้
               2) จัดระบบการถ่ายเทอากาศและควบคุมฝุ่นละอองภายในโรงงาน ให้เหมาะสม
               3) ให้บริการด้านคำปรึกษาและบริการทางการแพทย์อย่างต่อเนื่อง
               4) จัดเสื้อผ้าสำหรับเปลี่ยนเวลาทำงาน อุปกรณ์ป้องกัน เช่น ถุงมือและรองเท้าบู๊ท มีบริเวณชำระล้างและทำความสะอาดร่างกายภายหลังการปฏิบัติงาน และจัดที่รับประทานอาหารแยกจากบริเวณทำงาน โรงงานที่ปนเปื้อนเชื้อต้องรมควันฆ่าสปอร์ด้วยฟอร์มาลดีไฮด์ (Formaldehyde)
               5) ล้างและทำลายสปอร์ที่อาจปนเปื้อนมากับวัตถุดิบก่อนเข้าสู่กระบวนการผลิต
               6) จัดระบบการจำกัดขยะและของเสีย โดยต้องมีการทำลายเชื้อก่อนนำไปทิ้ง

          8. มาตรการควบคุมการระบาด

            การควบคุมการระบาดควรเน้นการทำลายซากสัตว์และการทำลายสปอร์ การฉีดวัคซีนสัตว์ในพื้นที่เกิดโรค การรักษาผู้ป่วย การค้นหาแหล่งที่มาของสัตว์หรือผลิตภัณฑ์สัตว์เพื่อการป้องกันการระบาดซํ้า

          วันที่ 28 มีนาคม 2567  โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ย้ำยังไม่พบโรคแอนแทรกซ์ในไทย กรมควบคุมโรคกำลังเฝ้าระวังเข้มชายแดนติด สปป.ลาว หลังพบผู้ป่วยโรคแอนแทรกซ์ระบาดที่ประเทศเพื่อนบ้าน 54 ราย และพบสัตว์ป่วยตายในช่วงเดือนนี้  ซึ่งหากพบผู้ป่วยทีมีอาการเหมือนกับโรคแอนแทรกช์ จะมีการสอบสวนโรคและรายงานสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทันที

          โรคแอนแทรกซ์ สามารถป้องกันและลดการติดโรคได้ โดยการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคอย่างเคร่งครัด รวมทั้งไม่บริโภคเนื้อโค – กระบือดิบนะคะ

ผู้เขียน : นางสาวกิตติยา กองผล
ผู้ตรวจสอบภายใน
หน่วยตรวจสอบภายใน

Facebook Comments Box