Generic selectors
Exact matches only
Search in title
Search in content
Post Type Selectors

“ทำไมจึงควรนำ “ยาเดิม” ติดมือมาพบแพทย์ที่โรงพยาบาล”

การนำยาที่ผู้ป่วยทานอยู่เดิมมาโรงพยาบาลด้วย ทำให้แพทย์ที่ทำการรักษาผู้ป่วย ทราบข้อมูลการใช้ยา รวมถึงช่วยให้แพทย์ประเมินว่าอาการป่วยมีสาเหตุมาจากยาหรือไม่ เพื่อที่จะได้รับทราบปัญหาของการใช้ยา และแก้ไขให้ตรงจุด

 ตรงกันข้าม หากผู้ป่วยไม่ได้นำยาเดิมมาด้วย ก็อาจมีโอกาสได้ยาซ้ำกับตัวเดิมที่มีอยู่ ยาที่ได้กลับไปอาจจะตีกันกับยาตัวเดิม และไม่ได้ปรับเปลี่ยนยาตามที่ควรจะเป็น รวมถึงอาจทำให้ผู้ป่วยไม่ได้ทานยาโรคประจำตัว ขณะนอนอยู่ที่โรงพยาบาล

ทานยาอย่างไรให้ถูกวิธี

1.  ยาก่อนอาหาร

ควรทานในช่วงที่ท้องว่าง คือก่อนรับประทานอาหารอย่างน้อย 30 นาที ยกเว้นยาควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดบางตัวแนะนำให้ทานก่อนอาหารอย่างน้อย 15 นาที กรณีลืมทานยาก่อนอาหาร ให้รอประมาณ 2 ชั่วโมง หลังทานอาหารเพื่อให้ท้องว่างแล้วค่อยทานยามื้อที่ลืม แต่ถ้าหากเวลาที่ต้องทานยาใกล้กับมื้อถัดไป ให้ข้ามมื้อที่ลืมไป แล้วทานยามื้อต่อไปในขนาดปกติ

2. ยาหลังอาหาร

ควรทานหลังอาหารไม่เกิน 15-30 นาที กรณีลืมทานยาหลังอาหาร ให้ทานยาทันทีที่นึกได้ และไม่เกิน 15-30 นาที แต่ถ้านึกได้ในเวลาใกล้มื้อถัดไปควรรับประทานยาหลังอาหารในมื้อถัดไปแทน

3.ยาหลังอาหารทันที

ควรทานหลังอาหารทันที เนื่องจากยามีผลข้างเคียงที่สำคัญคือ ระคายเคืองต่อระบบทางเดินอาหาร  กรณีลืมทานยาหลังอาหารทันที ควรรอทานหลังอาหารในมื้อถัดไปแทน หรืออาจรับประทานอาหารมื้อย่อยแทนมื้อหลักก่อนรับประทานยาก็ได้ กรณีที่ยานั้นมีความสำคัญมาก

4.ยาก่อนนอน

โดยทั่วไป ควรรับประทานก่อนนอน 15-30 นาที

5.ยารับประทานเวลามีอาการ

ควรรับประทานเมื่อมีอาการ ซึ่งยาในกลุ่มนี้ มักระบุความถี่ในการรับประทานยาในฉลาก เช่น ทุก 8 ชั่วโมง เวลามีอาการ ถ้าผู้ป่วยยังมีอาการอยู่หลังทานยาไปแล้ว สามารถทานซ้ำได้ แต่ไม่ควรรับประทานบ่อยกว่าที่ระบุไว้บนฉลาก เมื่ออาการหายแล้วสามารถหยุดยาได้เลย

อย่างไรก็ตามยาบางประเภทอาจมีวิธีการรับประทานที่นอกเหนือจากยาทั่วไปดังกล่าวมาข้างต้น ซึ่งผู้ป่วยสามารถขอคำแนะนำเพิ่มเติมได้จากเภสัชกร

Facebook Comments Box