Generic selectors
Exact matches only
Search in title
Search in content
Post Type Selectors

เรียนเภสัชศาสตร์ ทำไมต้องเรียนเกี่ยวกับสมุนไพรด้วย?

“อาจเป็นคำถามของเด็ก ๆ หลาย ๆ คน ที่เข้ามาเรียนสำนักวิชาเภสัชศาสตร์ และต้องเจอกับรายวิชาที่ว่าด้วยเรื่องของสมุนไพร ทั้งเยอะ ทั้งยาก และทั้งสนุกสนาน”

          ใช่แล้วครับ สมุนไพรเป็นแหล่งสำคัญของยาที่เราใช้อยู่ในปัจจุบัน ซึ่งตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 ระบุว่าสมุนไพรคือพืชที่ใช้เป็นยา ทำเป็นเครื่องยา สมุนไพรกำเนิดมาจากธรรมชาติ และมีความหมายต่อชีวิตมนุษย์โดยเฉพาะในทางสุขภาพ อันหมายถึงทั้งการส่งเสริมสุขภาพ และการรักษาโรค แต่ทั้งนี้ในพระราชบัญญัติยา พศ. 2554 ได้ระบุว่าสมุนไพรมิได้รวมถึงพืชเยงอย่างเดียว แต่ยังหมายรวมถึงสัตว์ และแร่ธาตุ ที่มุ่งหมายสำหรับผสม ปรุง หรือ แปรสภาพเพื่อใช้ในการผลิตเป็นยาสำเร็จรูป หรือวัตถุอื่นตามที่กำหนด ดังนั้นเราจะพอทราบได้ว่า “ทำไมเภสัชกรนั้น จะต้องมีความรู้ด้านสมุนไพร”

นักศึกษาเภสัชศาสตร์ ชั้นปีที่ 2 กำลังเตรียม Herbarium ในรายวิชา PHA62-231 “Fundamental of Pharmacognosy Laboratory”

เมื่อกล่าวถึง “เภสัชกร” หลายท่านอาจจะคิดถึงผู้ที่จ่ายยาให้กับผู้ป่วยในโรงพยาบาล และร้านขายยา ซึ่งหากย้อนไปในอดีตจะทราบว่า เภสัชกรเป็นวิชาชีพที่แยกออกมาจากวิชาชีพแพทย์ ซึ่งในระยะแรกเรียกว่า “แพทย์ปรุงยา” ซึ่งมีหน้าที่สำคัญในการเตรียมยาสำหรับการรักษาผู้ป่วย มุ่งเน้นในการรักษาโรค พื้นฟูสุขภาพ ส่งเสริมสุขภาพ และป้องกันโรคต่าง ๆ แน่นอนว่าเภสัชกรจะต้องทราบเกี่ยวกับโรคต่าง ๆ โดยเน้นการใช้ยาในการรักษา รวมถึงองค์ประกอบ และวิธีการเตรียมยาให้ได้ประสิทธิผล และประสิทธิภาพในการรักษาโรค ซึ่ง “ยา” ที่ผลิตนั้น ในยุคเริ่มแรกนั้น มีการใช้ภูมิปัญญาต่าง ๆ ที่สั่งสมมาเป็นระยะเวลานาน ลองผิด ลองถูก บันทึกสืบทอด การคิดค้น และสรรหายาใหม่ ๆ มาตลอดเวลา เพื่อให้ได้ยาที่สามารถรักษาผู้ป่วย และปลอดภัยสำหรับผู้ป่วย ซึ่งเราไม่สามารถปฏิเสธได้เลยว่า “องค์ประกอบ” ของยาเหล่านั้นล้วนมาจากสมุนไพร ทั้งที่เป็นพืช สัตว์ และแร่ธาตุ ถูกคัดสรร และเตรียมอย่างพิถีพิถัน นำเข้าสู่กระบวนการแปรรูป และปรุงออกมาเป็นตำรับยาเพื่อรักษาโรค รักษาชีวิตของผู้ป่วย และแตกแขนงออกไปยังการส่งเสริมสุขภาพ และป้องกันโรคอีกด้วย ภาระสำคัญนี้ดูแล และกำกับโดย “แพทย์ปรุงยา หรือ เภสัชกร” นั่นเอง

ผู้เขียนกับกล้วยน้ำว้าดิบ ในสวนสมุนไพร อุทยานพฤกษศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ซึ่งกล้วยน้ำว้าดิบ จัดเป็นสมุนไพรในงานสาธารณสุขมูลฐาน โดยผลดิบใช้เป็นยาแก้ท้องเสียแบบไม่ติดเชื้อ ส่วนผลสุกนั้น ใช้เป็นยาระบาย นอกจากนี้ยังมีสรรพคุณ และการใช้ประโยชน์ในหลาย ๆ ตำรับ รวมทั้งสามารถรับประทานเป็นผลไม้ได้อีกด้วย

เมื่อวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้เจริญก้าวหน้า ศาสตร์และองค์ความรู้ด้านยาก็มีการพัฒนา ก้าวหน้าไปด้วยเช่นกัน องค์ความรู้ใหม่ ๆ ที่ค้นพบ ถูกนำไปประยุกต์ใช้ในทางเภสัชกรรม และการดูแลผู้ป่วย ทั้งนี้นั้น ไม่เพียงแต่องค์ความรู้เท่านั้น แต่การคิด และการเข้าใจต่อบทบาทหน้าที่ของเภสัชกร ก็ย่อมมีการปรับเปลี่ยนไปตามเวลา และยุคสมัย โดยที่ไม่ได้ทิ้งรากเหง้าของจุดเริ่มต้นที่มีมา แต่ด้วยเวลาที่ผันผ่าน อาจจะมองข้าม หรือการส่งต่อขององค์ความรู้ อาจไม่ครบถ้วน ทำให้เราอาจจะเกิดข้อสงสัย และข้อข้องใจว่าที่มาของเรานั้นเป็นเช่นไร ดังนั้นการเรียนรู้ถึงประวัติศาสตร์ และที่มาของวิชาชีพเภสัชกรนั้นมีความสำคัญยิ่ง จะเห็นได้ว่าทุกสถาบันการศึกษาด้านเภสัชศาสตร์ กำหนดให้นักศึกษาเภสัชศาสตร์ใหม่ ได้เรียนรู้เกี่ยวกับความเป็นมา และความเป็นไปของเภสัชศาสตร์ เพื่อให้เราทราบตัวตนของเรา และเกิดแนวคิดที่จะเรียนรู้ และพัฒนาตนเอง ออกไปเป็นเภสัชกรที่เก่งกาจ มีคุณธรรมจริยธรรม และดูแลด้านยาแก่ประชาชนได้

แพงพวยฝรั่ง : Catharanthus roseus (L.) G.Don ชื่อสามัญ : Cape Periwinkle, Bringht Eye, Indian Periwinkle, Madagascar Periwinkle, Pinkle-pinkle, Pink Periwinkle, Vinca วงศ์ : Apocynaceae ชื่ออื่น : นมอิน (สุราษฎร์ธานี); ผักปอดบก (ภาคเหนือ); แพงพวยบก, แพงพวยฝรั่ง (กรุงเทพมหานคร) เป็นตัวอย่างของสมุนไพรที่มีทั้งความสวยงาม และประโยชน์ โดยมีสารสำคัญที่ใช้ในการรักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว

สำหรับสมุนไพรนั้น รายวิชาที่เกี่ยวข้อง ก็จะมีมากมาย อาจจะมากน้อย ก็แล้วแต่องค์ความรู้ และองค์ประกอบที่จะนำไปประยุกต์ใช้ แน่นอนพื้นฐานด้านสมุนไพรนั้นสำคัญ การต่อยอด ก็จะต้องมีรากเหง้าของความรู้มาก่อน ดังนั้นความรู้พื้นฐานทางด้านสมุนไพรย่อมต้องมี รายวิชาที่เรียนเกี่ยวกับพืช เพื่อให้นักศึกษาได้รู้จักพืช และสมุนไพรอื่น ๆ ที่จะนำมาใช้เป็นยานั้นก็ต้องมี จากนั้นรายวิชาที่ว่าด้วยสารสำคัญในสมุนไพรที่ออกฤทธิ์ และแสดงสรรพคุณ ก็ต้องมีการเรียนรู้ จากนั้นบูรณาการณ์ความรู้เหล่านั้นมาใช้ในการบริบาลผู้ป่วย จะเห็นได้ว่าไม่ว่าจะเป็นรายวิชาใด จะมีสมุนไพรเป็นสื่อกลาง ดังนั้นการรู้จักสมุนไพรเหล่านั้นอย่างถ่องแท้จึงมีความสำคัญ นอกจากนี้ สมุนไพรเองมิใช่จะมีเพียงประโยชน์ แต่มีโทษ หรือบางชนิดเป็นพิษเสียด้วยซ้ำ การเรียนรู้ และรู้จักสิ่งเหล่านั้น ทำให้เราสามารถป้องกัน และช่วยเหลือผู้ป่วยได้ ในทำนองเดียวกันสมุนไพรบางชนิดในขนาดหนึ่งเป็นยารักษาโรค แต่ในอีกขนาดหนึ่ง อาจจะทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ก็เป็นได้

ตาตุ่มทะเล ชื่อวิทยาศาสตร์: Excoecaria agallocha L. วงศ์ : Euphorbiaceae ชื่อสามัญ : Blind Your Eyes ชื่ออื่น : ตาตุ่ม ตาตุ่มทะเล (กลาง) บูตอ (มลายู-ปัตตานี) เป็นพืชที่มีสรรพคุณเป็นยาถ่ายอย่างแรง ชาวบ้านในพื้นที่ระบุว่าน้ำยางจากส่วนล่างของล้ำต้น มีฤทธิ์เป็นยาถ่ายอย่างแรง ส่วนน้ำยางจากส่วนบนของลำต้น มีฤทธิ์ทำให้อาเจียน

ผู้เขียนขอเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับ “ยาต้มบำรุงสุขภาพ” ที่มีการจำหน่ายออนไลน์ ผู้บริโภคเข้าถึงได้ง่ายมาก มีผู้ป่วยท่านหนึ่งสั่งซื้อ นำไปต้มและรับประทาน เพื่อรักษา และบำรุงสุขภาพ จากนั้นไม่นาน ผู้ป่วยมีความผิดปกติของระบบทางเกินปัสสาวะ และมีอาการคล้ายกับเป็นโรคไต จากนั้นได้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล โดยได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคไตเฉียบพลัน จากการบริบาลผู้ป่วยโดยเภสัชกร ได้มีการสอบถาม และหาข้อมูลเพิ่มเติม ได้ทราบว่าผู้ป่วยได้รับประทาน “ยาต้ม” ดังกล่าว จากนั้นได้นำตัวอย่างมาตรวจสอบ พบว่าในยาต้มดังกล่าวมีส่วนผสมของสมุนไพรชนิดหนึ่งที่เป็นพืชในวงศ์ Aristolochiaceae โดยจากการค้นหาข้อมูลพบว่า พืชชนิดนี้มีสารสำคัญคือ “Aristolochic acid” ซึ่งมีพิษต่อไต จึงได้ประสานกับทางแพทย์ผู้รักษา พร้อมทั้งให้ข้อมูลกับผู้ป่วย และส่งต่อเรื่องราวดังกล่าวไปยังสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาต่อไป จากกรณีนี้จะเห็นได้ว่า การรู้จักสมุนไพร รู้จักสารสำคัญ และการบริบาลผู้ป่วยที่เกี่ยวข้องกับสมุนไพรนั้นสำคัญแก่เภสัชกรเป็นอย่างมาก

สารพัดพิษ ชื่อวิทยาศาสตร์: Sophora tomentosa เป็นไม้พุ่มในวงศ์ Leguminosae วงศ์ย่อย Papilionoideae ต้นอ่อนเปลือกสีเขียวนวล แก่เป็นสีเทาอมน้ำตาล ใบประกอบแบบขนนกชั้นเดียว ดอกช่อ ดอกย่อยทรงดอกถั่ว สีเหลือง ผลเดี่ยว ฝักเป็นทรงกระบอกยาว ฝักแก่จะนูนที่ตำแหน่งเมล็ด เป็นสีน้ำตาล เมล็ดใช้รักษาอาการติดเชื้อเป็นฝีหนอง ในภาพเป็นต้นสารพัดพิษที่พบบริเวณชายหาดของอำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช มีสรรพคุณ แก้ร้อนในกระหายน้ำ แก้ปวดเมื่อยตามร่างกาย แก้ฝีหนอง แก้พิษงู แก้พิษแมงป่อง แก้พิษตะขาบ แก้ปวดแสบปวดร้อน แก้พิษไข้ แก้อาการท้องเสีย แก้แผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก

ไม่เพียงแต่การประยุกต์ใช้สมุนไพรในเชิงสุขภาพเท่านั้น ยังมีมิติของการค้นพบยาใหม่ พัฒนายาใหม่ ยาจากสมุนไพรโดยเภสัชกรผู้คิดค้นยา และพัฒนายาอีกด้วย เพื่อมุ่งหมายในการรักษา ป้องกันโรค ฟื้นฟูสุขภาพ และส่งเสริมสุขภาพ และที่สำคัญเราเองยังสามารถนำสมุนไพร และองค์ความรู้เหล่านั้นมาใช้ในชีวิตประจำวันได้ รวมทั้งถ่ายทอดความรู้เหล่านี้แก่ประชาชน เพื่อการมีสุขภาพที่ดีได้อีกด้วย อย่างที่เราเห็นสมุนไพรในงานสาธารณสุขมูลฐาน และนอกจากเป็นยาแล้ว สมุนไพรหลายชนิด ยังถูกนำมาใช้ในรูปของผลิตภัณฑ์สุขภาพอื่น ๆ อีก ไม่ว่าจะเป็นอาหาร และเครื่องสำอาง อีกด้วย

“ที่ไหนมียา ที่นั่นต้องมีเภสัชกร”

“มีปัญหาเรื่องยา ปรึกษาเภสัชกร”

          ตอนนี้เด็ก ๆ นักศึกษาเภสัชศาสตร์ คงเห็นแล้วว่า “ทำไมต้องเรียนสมุนไพร” โดยเมื่อเราเข้าใจ สนใจ มีความสุขในการเรียนรู้ การเรียนรู้ก็จะเกิดประสิทธิภาพสูงสุด สามารถนำไปประยุกต์ใช้ทั้งทางเภสัชศาสตร์ และบริบาลเภสัชกรรม และสามารถส่งต่อไปยังประชาชน เพื่อให้ประชาชนเหล่านั้น มีความรู้ และตระหนักเรื่องสุขภาพ

ผักกาดหัว ชื่อสามัญ Daikon, Daikon radish, Radish, White radish ชื่อวิทยาศาสตร์ Raphanus sativus L., Raphanus sativus var. hortensis Backer, Raphanus sativus var. longipinnatus L.H. Bailey, Raphanus sativus var. niger (Mill.) J.Kern. จัดอยู่ในวงศ์ผักกาด (BRASSICACEAE หรือ CRUCIFERAE) ผักกาดหัว มีชื่อเรียกอื่นว่า ไช่เท้า ไช่โป๊ หัวไชเท้า หัวไช้เท้า หัวผักกาด หัวผักกาดขาว (ทั่วไป), ผักกาดจีน(ลำปาง), ผักขี้หูด ผักเปิ๊กหัว (ภาคเหนือ), ผักกาดหัว (ภาคกลาง) เป็นต้น ในภาพเป็นหัวไช้เท้า ที่นำมาใช้ในกิจกรรม Olive Camp ครั้งที่ 8 โดยสมมติเป็นต้น “Mandrake”

เอกสารอ้างอิง
 
·       กองผลิตภัณฑ์สมุนไพร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา “พระราชบัญญัติผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ. ๒๕๖๒” สำนักงานกิจการโรงพิมพ์องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกในพระบรมราชูปถัมภ์
·       ธีระยุทธ วงค์ชัย, ปาณิศา ภุมรินทร์, สุรัชฎาพรรณ อินทพรม, แสวง วัชระธนกิจ, อนุวัฒน์ วัฒนพิชญากูล (2013) “บทบาทเภสัชกรและบุคลากรสาธารณสุขกับการพัฒนางาน แพทย์แผนไทยในโรงพยาบาลของรัฐ” วารสารเภสัชศาสตร์อิสาน, Volume 9, No.1 January – April
·       ยุวดี วงษ์กระจ่าง, วสุ ศุภรัตนสิทธิ์ “ข้อควรระวังการใช้สมุนไพร” สืบค้นจาก https://pharmacy.mahidol.ac.th/knowledge/files/0270.pdf เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2565
Facebook Comments Box