Generic selectors
Exact matches only
Search in title
Search in content
Post Type Selectors

การจัดการคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์: ทิศทางที่ทุกองค์กรต้องให้ความสำคัญ

ปัจจุบัน ทุกภาคส่วนในหลาย ๆ อุตสาหกรรมทั้งในประเทศ และในต่างประเทศต่างตระหนักถึงผลกระทบของการดำเนินกิจกรรมทั้งหลายของมนุษย์ องค์กร หน่วยงานที่มีต่อสิ่งแวดล้อม ภาพน้ำแข็งขั้วโลกที่ละลาย หรือภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดที่โลกกลายเป็นน้ำแข็ง หรือแผ่นดินถล่มเป็นภาพที่ทำให้หลาย ๆ ฝ่ายกังวลทั้งในข้อเท็จจริงเชิงวิทยาศาสตร์ และจินตนาการของมนุษย์เรา ในประเทศไทย องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก หรือ อบก. เป็นหน่วยงานหลักที่ตั้งขึ้นมาเพื่อขับเคลื่อนและบริหารจัดการเกี่ยวกับภาวะโลกร้อนและโลกรวน โดยได้ให้ความสำคัญในการส่งเสริมกิจกรรมคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์เพื่อลดปริมาณคาร์บอนเป็นศูนย์ที่มีการจัดแบ่งกิจกรรมที่เกี่ยวข้องออกเป็นกิจกรรมที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยตรง กิจกรรมทางอ้อม และกิจกรรมทางอ้อมอื่น ๆ และมีการจัดกิจกรรมชดเชยการปล่อยก๊าซคาร์บอนหรือก๊าซเรือนกระจก (องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก, 2563)

ประเทศไทยกับการขับเคลื่อนความเป็นกลางทางคาร์บอน

การขับเคลื่อนความเป็นกลางทางคาร์บอนไม่ใช่เรื่องใหม่ หรือเรื่องของคนใดคนหนึ่ง แต่ทุกคนต้องร่วมรับผิดชอบ โดยในส่วนของประเทศไทยได้มีการเข้าไปมีส่วนร่วมกับประชมคมโลกในการดำเนินการด้านการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และเพื่อแสดงออกถึงความมุ่งมั่นในการร่วมลดผลกระทบต่อโลก ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันในการเข้าร่วมเป็นรัฐภาคีภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) และพิธีสารเกียวโต (The Kyoto Protocol) ตั้งแต่ปี 2537 ซึ่งประเทศไทยได้ให้ความร่วมมือกับนานาชติในการจัดการกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน โดยเห็นได้จากในปี พ.ศ. 2551 ประเทศไทยได้จัดทำ “ยุทธศาสตร์แห่งชาติว่าด้วยการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2551-2555” และในปี พ.ศ. 2558 ได้จัดทำแผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2558- 2593 ขึ้น เพื่อให้เป็นกรอบแนวทางการดำเนินงานในระยะยาวของภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันขับเคลื่อนเพื่อการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้อย่างสัมฤทธิ์ผล (สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, 2558) ต่อมาในปี พ.ศ. 2565 ประเทศไทยได้แสดงความมุ่งมั่นในการมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนหรือคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ในปี ค.ศ. 2050 ในเวทีประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาฯ สมัยที่ 27 (COP27) พิธีสารเกียวโต สมัยที่ 17 (CMP17) และความตกลงปารีส สมัยที่ 4 (CMA4) ในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2565 ณ เมืองชาร์ม เอล เชค สาธารณรัฐอาหรับอียิปต์

ในการดำเนินการขับเคลื่อนการจัดการคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์นั้น ภาคส่วนที่มีการขับเคลื่อนอย่างชัดเจนคือ ภาคการท่องเที่ยวเนื่องจากเป็นภาคส่วนที่ต้องร่วมรับผิดชอบต่อผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น ด้วยการจัดกิจกรรมการท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำเพื่อชดเชยปริมาณคาร์บอนที่เกิดจากกิจกรรมการท่องเที่ยวจากธุรกิจท่องเที่ยวต่าง ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในการปล่อยคาร์บอนเข้าสู่ชั้นบรรยากาศ โดยธุรกิจการเดินทางขนส่งมีสัดส่วนถึงร้อยละ 49 ของปริมาณคาร์บอนจากอุตสาหกรรมท่องเที่ยว รองลงมาคือ สินค้าและบริการ คิดเป็นร้อยละ 12 อาหารและเครื่องดื่ม คิดเป็นร้อยละ 10 ด้านการเกษตรและด้านการบริการต่าง ๆ ในสัดส่วนเท่ากัน คิดเป็นร้อยละ 8 และด้านที่พักและด้านการก่อสร้างในสัดส่วนเท่ากัน คิดเป็นร้อยละ 6 ตามลำดับ (Sustainable Travel International, 2020)

ในการลดผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อมและแหล่งท่องเที่ยวในประเทศไทยนั้น มีการขับเคลื่อนผ่าน 8 องค์กรที่สำคัญของประเทศไทย ได้แก่ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (สสปน.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาคมไทยท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัย (สทอ.) และองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) (อบก.) ได้ร่วมกันขับเคลื่อนนโยบายการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ที่จะนำไปสู่การสร้างความสมดุลของการปล่อยคาร์บอนในภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเพื่อมุ่งเน้นการพัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ที่เหมาะสมกับภาคการท่องเที่ยวไทย การส่งเสริมการจัดกิจกรรมการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ในทุกธุรกิจท่องเที่ยว และการร่วมสร้างความตระหนักรู้ต่อผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (หนังสือพิมพ์สยามรัฐ, 2564) ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวเป็นการดำเนินการที่ตอบสนองต่อนโยบายเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy: BCG Economy) ของรัฐบาล

การท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำสู่การท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์

ในการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวแบบคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ต้องอาศัยหลักการจัดการการท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำ หรือการท่องเที่ยวสีเขียวที่เป็นพื้นฐานของการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ที่ต้องอาศัยการสร้างจิตสำนึกก่อนขอให้ทุกภาคส่วนร่วมดำเนินการ ซึ่งจะทำให้เกิดการจัดการลดผลกระทบด้านการท่องเที่ยวต่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างดี และสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวคุณภาพให้เดินทางมาท่องเที่ยว โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (2564) ได้ให้แนวทางการจัดการการท่องเที่ยวแบบคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ด้วย Metaphor คำว่า ‘Low Carbon’

L: Location กำหนดสถานที่เพื่อพัฒนาเส้นทางการท่องเที่ยว

O: Objective ตั้งเป้าหมายเพื่อปรับเปลี่ยนกิจกรรมลดการปล่อยคาร์บอน

W: What is Carbon Footprint? ทำความรู้จักและเข้าใจเรื่องคาร์บอนฟุตพริ้นท์

C: Collect Data เก็บข้อมูลกิจกรรมและปัจจัยในการคำนวณหาปริมาณคาร์บอนฟุตพริ้นท์

A: Approach คำนวณหาปริมาณการปล่อยคาร์บอนตามหลักการและขอบเขตสากล

R: Reduce ลดการปล่อยคาร์บอนหรือลดใช้พลังงานในกิจกรรมการท่องเที่ยว

B: Balance สร้างความสมดุลในการปล่อยคาร์บอน

O: Offset ชดเชยคาร์บอนส่วนเกินจากกิจกรรมการท่องเที่ยวที่ไม่สามารถลดได้

N: Neutrality สร้างคุณค่าให้กับการท่องเที่ยวที่ปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์

          โดยในการบริหารจัดการการท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำ ศิวฤทธิ์ พงศกรรังศิลป์ (2559) ได้ประยุกต์แนวทางการท่องเที่ยวสีเขียวในการดำเนินการและสามารถนำเสนอแนวทางในการพัฒนาการท่องเที่ยวสีเขียว จังหวัดกระบี่ที่ต้องอาศัยความร่วมมือของผู้ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการการท่องเที่ยวในจังหวัดกระบี่ในการสร้างวัฒนธรรมสีเขียว (Green Culture) ที่ทำกิจกรรมที่จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด โดยประกอบไปด้วย

          – การพัฒนาเมืองต้นแบบการท่องเที่ยวสีเขียวที่ต้องอาศัยแนวคิดเมืองน่าอยู่ แนวทางการจัดการภูมิสถาปัตย์ การดำเนินการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และการจัดการขยะที่เป็นรูปธรรม ยกตัวอย่างเช่น ชุมชนท่องเที่ยวทุ่งหยีเพ็งได้ดำเนินการวางแผนและปลูกต้นไม้เพื่อสร้างภาพลักษณ์ของชุมชนที่สวยงามและดึงดูดตา และที่สำคัญ ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด

          – การพัฒนาธุรกิจท่องเที่ยวสีเขียวด้วยการพัฒนาการท่องเที่ยวแบบคาร์บอนต่ำ การจัดกิจกรรมการท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำ รวมไปถึงการดำเนินการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และดำเนินการสื่อสารนักท่องเที่ยวกลุ่มเป้าหมาย

          – การสร้างภาพลักษณ์แบรนด์เมืองท่องเที่ยวสีเขียว โดยนำสื่อภาพลักษณ์และเรื่องราวต่าง ๆ ไปนำเสนอกับนักท่องเที่ยวกลุ่มเป้าหมายอย่างต่อเนื่อง โดยอาศัยความร่วมมือของทุกฝ่ายในการขับเคลื่อนผ่านกิจกรรมหรืองานต่าง ๆ

          – การประสานความร่วมมือของทุกภาคส่วนในจังหวัดกระบี่เพื่อร่วมผลักดันและส่งเสริมการสร้างการท่องเที่ยวสีเขียวของจังหวัดกระบี่

          ในการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์จำเป็นต้องอาศัยแนวคิดการท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำเป็นแนวทาง ซึ่งจากการวิเคราะห์งานวิจัยของกฤษณะเดช เจริญสุธาสินี และคณะ (2564) ศิวฤทธิ์ พงศกรรังศิลป์ (2559) สุชาติ ฉันสำราญ และคณะ (2559) พิมพ์ลภัส พงศกรรังศิลป์ และคณะ (2559) ที่มีการถอดบทเรียนการขับเคลื่อนคาร์บอนต่ำ สามารถนำมาวิเคราะห์แนวทางกลยุทธ์ 10 R’s ในการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำในจังหวัดกระบี่ ที่ประกอบไปด้วยแนวทางดังนี้

Reform การวางแผนผังการใช้ประโยชน์ของพื้นที่ตามศักยภาพของพื้นที่ เริ่มต้นจากการวิเคราะห์ศักยภาพของพื้นที่นั้น ๆ รวมไปถึงความเปราะบางของพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบจากการเข้าไปใช้ประโยชน์ และนำมาวางแผนใช้ประโยชน์พื้นที่ตามศักยภาพ และกำหนดแนวทางในการลดผลกระทบที่เกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติได้

Recheck การกำหนดขีดความสามารถในการรองรับของพื้นที่ ในแต่ละพื้นที่นอกเหนือจากการวิเคราะห์ศักยภาพของพื้นที่และการใช้ประโยชน์ ควรมีการกำหนดขีดความสามารถในการรองรับของพื้นที่นั้น และมีการติดตามผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง

Retreat การฟื้นฟู หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการต้องวางแผนการฟื้นฟูทรัพยากรการท่องเที่ยวตามบริบทและศักยภาพของพื้นที่ รวมทั้งการอาศัยการจัดการความรู้เข้ามาใช้ประโยชน์ในการฟื้นฟูต่อไป

Reserve การอนุรักษ์ ต้องมีการกระตุ้นจิตสำนึกของชุมชนท้องถิ่น หน่วยงานภาครัฐ และเอกชน รวมไปถึงนักท่องเที่ยวให้มีการท่องเที่ยวอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และมีการอนุรักษ์ทรัพยากรการท่องเที่ยว

Recreation กิจกรรมการท่องเที่ยว กิจกรรมการท่องเที่ยวที่มีศักยภาพต้องสามารถก่อให้เกิดทั้งความเพลิดเพลินใจและประสบการณ์การท่องเที่ยว และที่สำคัญต้องใช้พลังงานเชื้อเพลิงหรือพลังงานไฟฟ้าให้น้อยที่สุด

Remind การกระตุ้นเตือน ในระดับเบื้องต้นนี้ ธุรกิจท่องเที่ยวในจังหวัดกระบี่สามารถดำเนินการกระตุ้นเตือนและขอความร่วมมือกับนักท่องเที่ยวหรือผู้มาใช้บริการในด้านการปฏิบัติตัวแบบมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ลดการใช้พลังงาน หรือเน้นการสร้างจิตสำนึก

Reduce การลดการใช้พลังงานและทรัพยากรต่าง ๆ ธุรกิจท่องเที่ยวต้องวางแผนในการลดการใช้พลังงานและทรัพยากรต่าง ๆ ที่ก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศทั้งการคมนาคมขนส่ง การใช้ยวดยานพาหนะ การปิดไฟให้แสงสว่างที่ไม่จำเป็น การลดปริมาณขยะโดยดำเนินการแยกขยะและใช้ประโยชน์จากขยะ การส่งเสริมให้มีการใช้พลังงานทดแทนหรือพลังงานทางเลือกอื่น

Replace การเปลี่ยนใช้อุปกรณ์ประหยัดพลังงาน เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนใช้วัสดุในอาคารที่ช่วยลดการบริโภคพลังงาน หรือใช้แสงสว่างจากภายนอกอาคารในช่วงเวลากลางวันแทนการใช้พลังงานไฟฟ้า สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญคือ ต้องไม่เพิ่มปริมาณขยะด้วยการเปลี่ยนอุปกรณ์ก่อนที่จะเสียหายที่เป็นทั้งการสิ้นเปลืองงบประมาณและเป็นการเพิ่มปริมาณขยะโดยไม่จำเป็น

Reuse การนำมาใช้ใหม่ ธุรกิจท่องเที่ยวในจังหวัดกระบี่จึงต้องวางแผนการบริหารจัดการขยะ การแยกขยะ การนำขยะมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด เช่น การใช้กระดาษ 2 หน้า การใช้ขวดพลาสติกมาปลูกต้นไม้ เป็นต้น

Redesign การออกแบบใหม่ โดยให้ความสำคัญกับการออกแบบปรับปรุงธุรกิจโรงแรมที่พัก หรือร้านอาหารให้มีการประหยัดพลังงาน รวมถึงการใช้ประโยชน์จากศักยภาพของพื้นที่และสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ อาทิ แสงแดด ลม น้ำ ดิน เป็นต้นให้มากที่สุด อันจะนำไปสู่การใช้พลังงานทั้งพลังงานเชื้อเพลิง พลังงานไฟฟ้า หรือพลังงานน้ำให้น้อยที่สุด

การร่วมขับเคลื่อน การจัดการคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ของสำนักวิชาการจัดการ

สำนักวิชาการจัดการ ในฐานะที่เป็นหน่วยงานวิชาการที่พร้อมเป็นหลักในการสร้างองค์ความรู้และชี้นำสังคมภายใต้แนวคิด “ประตูสู่ความสำเร็จ” หรือ Gateway to Achievement โดยใช้ศักยภาพและองค์ความรู้ของคณาจารย์ในสำนักวิชาการจัดการไปทำงานขับเคลื่อนสังคมผ่านงานวิจัยและการบริการวิชาการ ดังเห็นได้จากการพัฒนางานวิจัยที่ร่วมขับเคลื่อนการท่องเที่ยวสีเขียวและการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในจังหวัดกระบี่มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 จนถึงในปัจจุบันที่มีการขับเคลื่อนผ่านการสนับสนุนทุนวิจัยจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ(บพข.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ที่ได้สนับสนุนทุนวิจัยในแผนงานวิจัย การพัฒนาการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ในจังหวัดกระบี่และพื้นที่เชื่อมโยง โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิมพ์ลภัส พงศกรรังศิลป์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำสำนักวิชาการจัดการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เป็นผู้อำนวยการแผนงานวิจัยและมีรองศาสตราจารย์ ดร.ศิวฤทธิ์ พงศกรรังศิลป์ และอาจารย์ ดร.ณัฐปรัชญา นันทวิสิทธิ์เป็นหัวหน้าโครงการวิจัยย่อย ภายใต้เป้าหมายเพื่อต่อยอดอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์และวางรากฐานการพัฒนาเศรษฐกิจภายใต้ แนวคิด เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG Economy)และจังหวัดกระบี่เป็นจังหวัดที่มีศักยภาพและความโดดเด่นในด้านการท่องเที่ยวสีเขียวและการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่ตั้งเป้าในการขับเคลื่อนการเมืองท่องเที่ยวที่มีการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ได้อย่างชัดเจน

          แม้ว่าจะมีการร่วมขับเคลื่อนการท่องเที่ยวจังหวัดกระบี่เพื่อมุ่งตอบสนองต่อปฏิญญากระบี่ 2556 มาเป็นระยะเวลานับสิบปี แต่นักวิจัยจากสำนักวิชาการจัดการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ยังไม่หยุดนิ่งในการร่วมขับเคลื่อนเมืองท่องเที่ยวคุณภาพที่มีการบริหารจัดการการท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำ ยังมีการพัฒนาและร่วมขับเคลื่อนกับทางผู้ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่องผ่านเครือข่ายการท่องเที่ยวในจังหวัดกระบี่ที่นับได้ว่าเป็นต้นแบบที่น่าเรียนรู้อีกแห่งหนึ่ง ทั้งนี้ การร่วมขับเคลื่อนในจังหวัดกระบี่ไม่ใช่แห่งเดียวที่คณาจารย์จากสำนักวิชาการจัดการไปร่วมขับเคลื่อน ยังมีอีกหลายพื้นที่ที่เราไปร่วมดำเนินการ อาทิ อำเภอท่าศาลา อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี และอีกหลายพื้นที่ ท้ายสุดเรา สำนักวิชาการจัดการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์จะร่วมขับเคลื่อนความสำเร็จของภาคส่วนต่างอย่างต่อเนื่อง ดังเพลงพี่เบิร์ด ธงไชยว่า “ขอเพียงส่งเสียงมา จะไปหา จะไปในทันใด…”

รศ.ดร.ศิวฤทธิ์ พงศกรรังศิลป์
คณบดีสำนักวิชาการจัดการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

สำนักวิชาการจัดการ: ประตูสู่ความสำเร็จ
School of Management: Gateway to Achievement