Generic selectors
Exact matches only
Search in title
Search in content
Post Type Selectors

เด็กน้อยท้องผูก เรื่องที่ต้องเข้าใจ

2 กันยายน 2566

บทความโดย ผศ.นพ.ชัยวัฒน์ ฤกษ์สวัสดิ์ถาวร
อาจารย์สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์คลินิก
สำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

นิยามคำว่าท้องผูก ในทางการแพทย์หมายถึงการถ่ายอุจจาระแข็ง หรือมีความยากลำบากในการขับถ่าย หรือถ่ายอุจจาระน้อยกว่า/เท่ากับ 2 ครั้ง/สัปดาห์ แต่สำหรับเด็กทารกแรกเกิดที่กินนมแม่อย่างเดียว คำนิยามดังกล่าวอาจจะใช้ไม่ได้เนื่องจาก ในเด็กทารกเมื่อมีการพัฒนาของลำไส้จนทำงานได้ดีขึ้น ร่างกายของเด็กจะสามารถย่อยนมแม่ได้หมด โดยไม่เหลือกากอาหารไว้สำหรับขับถ่าย ทำให้มีอาการไม่ถ่ายหลายวันได้ ในบางรายอาจจะไม่ถ่ายนานถึง 2-3 สัปดาห์ ถ้าหากถ่ายออกมาแล้วอุจจาระนิ่ม ก็ถือว่าเป็นภาวะปกติไม่ใช่ท้องผูก

ขอบคุณภาพจาก Montreal Children Hospital

ภาวะท้องผูกเป็นปัญหาที่พบบ่อยมากในเวชปฏิบัติ สาเหตุก็มีได้หลากหลายตามแต่ประวัติและการตรวจร่างกายจะบ่งชี้ เช่น โรคลำไส้อุดกั้น โรคความผิดปกติของระบบไขสันหลัง ฯลฯ ซึ่งโรคเหล่านี้พบได้ไม่บ่อยและมีรายละเอียดทางการแพทย์มากซึ่งจะยังไม่ขอลงรายละเอียดในบทความนี้ แต่อย่างไรก็ดีสาเหตุที่พบบ่อยที่สุดคือ ภาวะท้องผูกที่ไม่มีสาเหตุทางกาย (Functional constipation)

ภาวะท้องผูกที่ไม่มีสาเหตุทางกาย (Functional constipation) พบบ่อยในเด็กช่วงอายุ 2-4 ปี ผู้ป่วยจะมีอาการถ่ายอุจจาระก้อนเล็กแข็งเหมือนลูกกระสุน หรือ ถ่ายเป็นลำใหญ่แข็ง มักมีอาการที่พบร่วมด้วยคือ เจ็บบริเวณรูทวารหนักเวลาถ่าย ปวดท้องเป็นๆหายๆ เบื่ออาหาร อุจจาระ/ปัสสาวะรด ท้องอืด ถ่ายเป็นเลือด ฯลฯ ภาวะนี้เกิดจากหลายปัจจัยร่วมกัน เช่น กินอาหารที่มีกากใยน้อย ดื่มน้ำน้อย กลั้นอุจจาระบ่อย ฯลฯ ซึ่งโรคดังกล่าวจะให้การวินิจฉัยเมื่อมีอาการนานกว่า 1 เดือนในเด็กอายุต่ำกว่า 4 ปี และนานกว่า 2 เดือนในเด็กอายุมากกว่า 4 ปี โดยทั้งหมดนี้ต้องไม่มีอาการบ่งชี้ถึงโรคทางกาย ส่วนการรักษาก็ประกอบไปด้วยการใช้ยาระบาย การบริโภคใยอาหารจากผักผลไม้มากขึ้น การฝึกนั่งถ่ายอุจาระทุกวันหลังอาหารเช้าเย็น สร้างแรงจูงใจทางบวกให้กับเด็ก เช่น ชื่นชมเมื่อเด็กถ่ายอุจจาระได้ เพื่อเสริมสร้างความมั่นใจให้กับเด็ก เป็นต้น

ขอบคุณภาพจาก AAFP

ทั้งหมดนี้ถือเป็นความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับโรคท้องผูกสำหรับผู้ปกครองที่จะสามารถนำไปใช้ในการดูแลบุตรหลานของท่านได้ แต่อย่างไรก็ดี ถ้าหากไม่มั่นใจควรพาผู้ป่วยไปพบแพทย์เพื่อรับการประเมินและรับการรักษาต่อไป

อ้างอิง

  • สุพร ตรีพงษ์กรุณา. (2559). Constipation. ใน สุวรรณา เรืองกาญจนเศรษฐ, เปรมฤดี ภูมิถาวร, อัญชลี ลิ้มรังสิกุล, ปองทอง ปูรานิธี, มนัสวี ก่อวุฒิรังสี, รัมภ์รดา เล็กวุฒิกานต์ (บรรณาธิการ), Ambulatory Pediatrics. หน้า 544-551. กรุงเทพฯ: ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล.