เรียบเรียงโดย นางสาวฐิติมา สีขาว ศูนย์ส่งเสริมวัฒนธรรมและการกีฬา มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
แนวคิด PDCA ได้รับการพัฒนาขึ้นเป็นครั้งแรกโดย Walter Shewhart แนวคิดนี้เน้นให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างมีระบบ โดยมีเป้าหมายให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง วงจร PDCA เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายมากขึ้น เมื่อปรมาจารย์ด้านการบริหารคุณภาพ อย่าง W.Edwards Deming ได้นำมาเผยแพร่ให้เป็นเครื่องมือสำหรับการปรับปรุงกระบวนการ วงจรนี้จึงมีอีกชื่อหนึ่งว่า “Deming Cycle” (สุธาสินี โพธิจันทร์, ออนไลน์)
โครงสร้าง PDCA ประกอบด้วย
1. การวางแผน (Plan) คือ การวางแผนการดำเนินงานและทบทวนสภาพปัจจุบัน โดยปรับปรุงกระบวนการทำงานหรือพัฒนาสิ่งใหม่ เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในการทำงาน หรือพัฒนาสิ่งที่ดีอยู่แล้วในการทำงานให้ดียิ่งขึ้น โดยกระบวนการอาจจะเริ่มจาก
- – การคัดเลือกกระบวนการทำงานที่ควรปรับปรุง หรือระบุปัญหา
- – นำมาวิเคราะห์ปัญหา อุปสรรคและแนวทางแก้ไข เพื่อให้ทราบถึงสาเหตุปัจจัย สาเหตุหลัก สาเหตุรอง ซึ่งอาจใช้เครื่องมือ เช่น แผนผังก้างปลา (Fish bone Diagram) การระดมสมอง (Brain storming) หรือเครื่องมือ Why – Why Analysis
- – ทำแนวทางแก้ไขปัญหาและอุปสรรค
- – จากนั้นก็จัดทำแผนปฏิบัติการ (Action Plan) เพื่อวางแผนการปรับปรุงกระบวนการ ซึ่งควรกำหนดเป้าหมาย กำหนดวัตถุประสงค์ กำหนดผลลัพธ์/ตัวชี้วัด ระบุระยะเวลาดำเนินการ ระบุงบประมาณที่ใช้
2. การปฏิบัติตามแผน (Do) คือ การดำเนินการเพื่อให้ได้ตามแผนที่กำหนดไว้ตั้งแต่ต้น กรณีที่ไม่สามารถทำตามแผนได้ อาจมีเหตุการณ์ที่ไม่สามารถควบคุมได้ การปรับเปลี่ยนแผนก็เป็นแนวทางหนึ่งที่สามารถทำได้ เรียกว่าการทำ PDCA ย่อยใน Do
3. การตรวจสอบ (Check) คือ การประเมินว่าการปฏิบัติตามแผนการดำเนินงานเป็นไปตามความคาดหวังหรือไม่ โดยนำตัวชี้วัดที่กำหนดไว้ในแผนมาตรวจสอบ เป็นการเปรียบเทียบผลลัพธ์กับแผนที่ได้ปฏิบัติ ประเมินว่าวิธีที่เลือกนั้นเหมาะสมมากน้อยเพียงใดในการแก้ปัญหา และหากการปฏิบัติไม่เป็นไปตามแผนก็ต้องวิเคราะห์หาสาเหตุว่าเกิดจากอะไรเพื่อนำไปปรับปรุงพัฒนาให้ดีขึ้นต่อไป โดยอาจจะใช้เครื่องมือในการตรวจสอบ เช่น สร้างแบบฟอร์มบันทึกข้อมูลที่ออกแบบขึ้นเอง, Check sheet, Pareto
4. ปรับปรุงแก้ไข (Act) คือ การนำผลประเมินที่ได้มาทำการวิเคราะห์เพื่อพัฒนาแผนในการปรับปรุงต่อไป ในส่วนนี้ควรจะเสนอแนะปัญหาแนวทางการปรับปรุงแก้ไขปัญหา หรือการพัฒนาระบบที่มีอยู่แล้วให้ดียิ่งขึ้นไปอีกไม่มีที่สิ้นสุด

- กรณีผลที่เกิดขึ้นเป็นไปตามแผนที่วางไว้ ให้นำวิธีการหรือกระบวนการนั้น ปรับใช้ให้กลายเป็นนิสัยหรือมาตรฐาน และพยายามคิดหาทางปรับปรุงกระบวนการให้ดียิ่งขึ้นไปอีก
- กรณีผลที่เกิดขึ้นไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้ ให้นำข้อมูลที่รวบรวมไว้มาวิเคราะห์และหาแนวทางว่าควรดำเนินการอย่างไรต่อไป
เมื่อผู้ปฏิบัติงานได้นำแนวคิดวงจรการบริหารงานคุณภาพ PDCA มาใช้เป็นแนวทางการดำเนินงานพัฒนา/ปรับปรุงกระบวนการทำงานนั้น หากนำไปใช้เรื่อย ๆ ก็จะกลายเป็นการปรับปรุงกระบวนการทำงานอย่างต่อเนื่อง (Continuous Improvement) นำไปสู่การพัฒนากระบวนการทำงานและผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลเพิ่มขึ้น
ที่มา :
http://www.manage.rbru.ac.th/images/Book/PDCA.pdf
https://www.ftpi.or.th/2015/2125
https://www.iok2u.com/article/innovation/pdca-cycle-deming-cycle
https://supplychainguru.co.th/articles/soft-skills/what-is-pdca-cycle/