Generic selectors
Exact matches only
Search in title
Search in content
Post Type Selectors

ข้อเข่ากับการเลือกกิจกรรมเพื่อการออกกำลังกาย

21 มกราคม 2567

บทความโดย ดร. ปรเมท เหมรชตนนท์
อาจารย์สาขาวิทยาศาสตร์การกีฬาและการออกกำลังกาย
สำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

การดูแลสุขภาพด้วยการออกกำลังกายที่มีการเลือกกิจกรรมที่เหมาะสมนั้น ท่านสามารถเลือกได้หลายหลายรูปแบบ หรือขึ้นอยู่กับความถนัดหรือตามความเหมาะสม อายุ เพศ หรือวัยของแต่ละคน เช่น การปั่นจักรยานตามเส้นทางสุขภาพ การเดินหรือวิ่งเบาๆ หรือบางท่านได้เลือกการเข้าฟิตเนสที่มีอุปกรณ์และเครื่องมือครบถ้วนเพื่อการสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ เพิ่มความยืดหยุ่นของร่างกาย หรือการลดไขมันเพิ่มกล้ามเนื้อให้มีทรวดทรงร่างกายที่สวยงาม เป็นต้น แต่ในการออกกำลังกายนั้น ไม่ได้มีประโยชน์ต่อสุขภาพเพียงอย่างเดียว แต่ในอีกแง่มุมก็มีโทษหรือความเสี่ยงต่อร่างกายด้วยเช่นกัน ในครั้งนี้ผู้เขียนขอนำเสนอข้อมูลที่ควรพิจารณาในอีกแง่มุมหนึ่ง ที่แต่ละท่านไม่ควรมองข้าม ซึ่งอาจจะต้องคิดพิจารณาเล็กน้อยก่อนที่ท่านจะเลือกกิจกรรมเพื่อการออกกำลังกาย นั่นคือ ความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บที่อาจจะเกิดควบคู่ไปกับการออกกำลังกาย ความเสี่ยงที่จะกล่าวนี้ ไม่ใช่ความเสี่ยงที่เกิดจากสภาพสิ่งแวดล้อมภายนอกนะครับ แต่เป็นความเสี่ยงที่เกิดขึ้นกับร่างกายของเราเองขณะทำกิจกรรมนั้น ๆ เช่น คนที่น้ำหนักร่างกายมากๆ ควรหลีกเลี่ยงที่จะเลือกกิจกรรมการวิ่ง แต่ควรเลือกกิจกรรมการปั่นจักรยานทดแทนหรือกิจกรรมการไปว่ายน้ำ เพราะสาเหตุอะไรเหรอครับ เพราะข้อต่อของร่างกายจะต้องแบกรับน้ำหนักมาก จึงเป็นความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บที่จะเกิดขึ้นที่ข้อเท้า ข้อเข่า นั่นเอง

ปกติร่างกายของเรามีข้อสะโพก ข้อเข่า และข้อเท้า ซึ่งมีบทบาทในการทำหน้าที่รับน้ำหนักของร่างกายในขณะเคลื่อนไหวทั้งการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันหรือกิจกรรมในการออกกำลังกาย โดยขณะที่ร่างกายมีการเคลื่อนไหวนั้น ตำแหน่งที่ข้อเข่าจะต้องรับภาระด้วยการรับน้ำหนักจากส่วนบนร่างกาย ซึ่งเมื่อมองเป็นภาพที่มีแรงมากระทำ เราจะพบแรงกระทำเกิดขึ้นใน 6 ทิศทาง คือ แรงกดจากทิศบน-ล่าง, แรงเฉือนจากทิศซ้าย-ขวา, แรงเฉือนจากทิศหน้า-หลัง และจะมีปริมาณแรงที่แตกต่างกันไปในแต่ละกิจกรรมที่ปฏิบัติ

ในกิจกรรมการออกกำลังกายขณะที่ข้อเข่างอเข้าหรือเหยียดออก จะเกิดแรงมากระทำที่กระดูกสะบ้า และเมื่อมุมองศาของข้อเข่าต่างกันออกไป การเปลี่ยนแปลงของตำแหน่งของกระดูกสะบ้าที่มีแรงดึงจากกล้ามเนื้อ quadriceps (FQ), แรงดึงจาก Patella ligament (FPL) และเกิดแรงกดของกระดูกสะบ้า (Patellofemoral Joint Reaction Force : PFJRF) จะมีปริมาณแตกต่างกันไปด้วย ซึ่งแรงกดของกระดูกสะบ้านี้ จะมีปริมาณมากหรือน้อยนั้นขึ้นอยู่กับรูปแบบของกิจกรรมที่ท่านเลือก และรูปแบบของกิจกรรมจะส่งผลต่อมุมของข้อเข่าที่แตกต่างกันออกไปและส่งผลต่อแรงที่กระทำกับข้อต่อโดยเฉพาะที่กระดูกสะบ้า

บางกิจกรรมส่งผลให้เกิดขึ้นปริมาณมาก บางกิจกรรมส่งผลให้เกิดขึ้นน้อย แต่นั่นหมายถึง ร่างกายเริ่มมีความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บที่จะเกิดขึ้นแล้ว ในเบื้องต้นเราสามารถคำนวณแรงกระทำต่อกระดูกสะบ้า (PFJRF) ตามรูปแบบกิจกรรมได้เพื่อเป็นข้อควรระวังและป้องกันไว้ก่อน เช่น การเดิน ( 0.90 x น้ำหนักตัว) , การวิ่ง (5.3 x น้ำหนักตัว), การเดินขึ้นบันได (3.2 x น้ำหนักตัว) หรือการเดินลงบันได (2.8 x น้ำหนักตัว) เป็นต้น

ท้ายนี้ผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ท่านจะใช้ประโยชน์จากข้อมูลเหล่านี้ ในการพิจารณาเลือกกิจกรรมเพื่อการออกกำลังกายที่เหมาะสมและสามารถลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับร่างกายไปพร้อมๆ กัน