Generic selectors
Exact matches only
Search in title
Search in content
Post Type Selectors

ครั้งหนึ่งกับเขา “เขาพระวิหาร”

‘หรือศรีสะเกษจะเสียดินแดน เสียเขาพระวิหาร เพราะทนายทักษิณ ปกปิดข้อมูล หากคนในพื้นที่นิ่งเฉย หากคนพื้นที่เฉยเมย หากคนในพื้นที่อ้างว่าธุระไม่ใช่ เราภูมิใจแล้วหรือ ที่เป็นเจ้าของพื้นที่จังหวัดเขาพระวิหาร เอาเขาพระวิหารของชาวศรีสะเกษคืนมา’

ข้อความส่วนหนึ่งจาก Webborad webside จ.ศรีสะเกษ http://www.sisaket.go.th

‘ขอย้ำเตือนเพื่อกระตุ้นรัฐบาลไทย และให้ประชาชนชาวไทยเจ้าของประเทศได้ตระหนักว่า ๑๕ มิ.ย. ๒๕๐๕ หรือ ปี ค.ศ. ๑๙๖๒ ประเทศไทย เราได้สูญเสียตัวปราสาทเขาพระวิหารให้กับกัมพูชาไปแล้ว ดังนั้นปี ค.ศ.๒๐๐๘ ประเทศไทยจะต้องไม่เสียดินแดนอีก กัมพูชาต้องรื้อถอนร้านค้า บ้านพัก และ วัด ออกไปจากเชิงเขาพระวิหาร ซึ่งเป็นเขตแดนไทย’

ผู้จัดการออนไลน์ ข่าวภูมิภาค ๑๕ มิถุนายน ๒๕๕๑  www.manager.co.th

ข้อความข้างต้นเป็นแค่ส่วนหนึ่งของข่าวคราวและกระแสเรื่องปัญหาปราสาทเขาพระวิหาร ที่หวนกลับมาอีกครั้งหลังเงียบหายไปกว่า ๔ ทศวรรษ ปัญหาปราสาทเขาพระวิหารครั้งนี้มีต้นตอของปัญหามาจากประเทศกัมพูชาเสนอต่อยูเนสโก (UNESCO) ให้ปราสาทเขาพระวิหารเป็นมรดกโลก ในที่ประชุมใหญ่ยูเนสโกประจำปี พ.ศ. ๒๕๕๐ ทำให้กองไฟแห่งปัญหาซึ่งคาดว่ามอดดับไปแล้วกลับได้ลมเข้าโหมให้ลุกโชนขึ้นอีกครั้ง 

เหตุใดปัญหาเขาพระวิหารจึงเป็นประเด็นอ่อนไหวในความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับกัมพูชาทั้งที่ข้อพิพาทต่างๆ นานา น่าจะยุติลงภายหลังคำพิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๐๕ แล้วมีหนทางใดบ้างแก้ปัญหาเขาพระวิหารให้ยุติลงได้อย่างแท้จริง 

เพื่อทำความเข้าใจต่อประเด็นปัญหาและหนทางแก้ไข ทางมูลนิธิเล็ก – ประไพ วิริยะพันธุ์ จึงได้จัดเสวนาเรื่อง “เขาพระวิหาร : ระเบิดเวลาจากยุคอาณานิคม”เมื่อวันที่ ๙ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๑ ที่ผ่านมา โดยมีรองศาสตราจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม ที่ปรึกษามูลนิธิเล็ก – ประไพ วิริยะพันธุ์ สาระสำคัญประการหนึ่งจากการเสวนาในครั้งนี้ อยู่ที่ข้อเสนอของอาจารย์ศรีศักร ในการแก้ไขปัญหาปราสาทเขาพระวิหาร ที่เสนอให้พื้นที่ปราสาทเขาพระวิหารเป็น “No Man’s Land” โดยยกเลิกเส้นเขตแดนทำพื้นที่ปราสาทเขาพระวิหารให้ไม่มีประเทศใดเป็นเจ้าของ เพื่อให้ยูเนสโกในฐานะคนกลางเข้ามาจัดการอาณาเขตพื้นที่มรดกโลกว่ามีอาณาเขตเท่าใดเสร็จแล้ว ต่อจากนั้นจึงค่อยให้ทั้ง ๒ ประเทศเข้ามาจัดการบริหารพื้นที่ร่วมกันเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ เป็นการยุติความขัดแย้งข้อพิพาททั้งหลายลงด้วยสันติวิธี

หากข้อเสนอของอาจารย์ศรีศักร ดังกล่าวข้างต้นนั้นอาจถูกตั้งคำถามได้ว่าสามารถนำไปใช้ได้จริงหรือไม่ เนื่องดูเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ตอบสนองต่อโลกความเป็นจริงการเมืองระหว่างประเทศทว่าผู้เขียนกลับเห็นว่าข้อเสนอ “No Man’s Land” สามารถทำให้เป็นจริงขึ้นได้ โดยงานเขียนเล็กๆ ชิ้นนี้จึงเป็นความพยายามที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นไปได้ของข้อเสนอ No Man’s Land 

No Man’s Land เขาพระวิหารที่ (จะ) เป็นจริงได้

ปรับพรมแดน เปลี่ยนโลกทัศน์ 

การทำความเข้าใจกับคำว่า No Man’s Land ก่อนอื่นเราควรทลายกำแพงของโลกทัศน์,ทัศนคติ ที่มีต่อเขตแดนหรืออาณาเขต,ความเป็นรัฐชาติ ที่มีอยู่ออกไป เพราะสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นชุดความรู้ใหม่ที่ถูกสร้างขึ้นในสังคมไทยเมื่อกว่าศตวรรษที่ผ่านมา พร้อมกับการเข้ามาของจักรวรรดินิยมตะวันตก ในสมัยอาณานิคม รวมทั้งชุดความรู้ประวัติศาสตร์ไทยที่สร้างความยิ่งใหญ่ของรัฐไทยที่มีประวัติความเป็นมายาวนานและยิ่งใหญ่ จนมองข้ามผู้คนหรือเพื่อนบ้านที่อยู่ร่วมภายใน ทั้งที่ลักษณะของรัฐหรือบ้านเมืองต่างๆ ในภูมิภาคนี้ก่อนเข้าสู่สมัยใหม่ก็ไม่ได้มีใครเป็นเจ้าของหรือผู้ปกครองอย่างเต็มที่ กลุ่มอำนาจของเมืองอื่นๆ นั้นก็สัมพันธ์กันอยู่ด้วยจารีตการปกครองบางอย่างในการยอมรับอำนาจบารมีที่เหนือกว่าของผู้นำกลุ่มนั้นๆ ซึ่งความสัมพันธ์เช่นนี้มิได้หยุดนิ่งตายตัวแต่กลับมีความผันแปรไปตามพลวัตของอำนาจไหลเวียนไปในแต่ละช่วงเวลา

เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วมีความจำเป็นใดต้องบาดหมางอย่างรุนแรงจนนำสู่การรบราฆ่าฟัน เพื่อรักษาเส้นพรมแดนที่มองไม่เห็น ฉะนั้นในส่วนต่อไปเราพิจารณาว่าปัจจุบันบริเวณพรมแดนของประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้านมีพื้นที่เป็น No Man’s Land ปรากฏอยู่บ้างหรือไม่

“ไหลมอง” บ.ท่าค้อ : No Man’s Land กลางลำน้ำโขง 

ไหลมอง คือ ชื่อใช้เรียกวิธีการจับปลารูปแบบหนึ่งของคนอีสาน มีลักษณะการล่องเรือสวนกระแสน้ำขึ้นไปและปล่อยให้เรือไหลตามสายน้ำโดยระหว่างนั้นปล่อย “มอง” (อวนชนิดหนึ่ง) ลงน้ำเพื่อจับปลา เมื่อล่องเรือถึงจุดหนึ่งแล้วก็ลากมองขึ้นเรือและเข้าฝั่งคอยไหลรอบต่อไป  

การไหลมองที่ผู้เขียนได้พบเห็นเมื่อคราวลงสำรวจภูมิวัฒนธรรมริมฝั่งแม่น้ำโขง ณ บ้านท่าค้อ อ.เมือง จ.นครพนม เป็นการไหลมองลักษณะพิเศษที่เป็นกิจกรรมร่วมกันระหว่างคน ๒ ฝั่งแม่น้ำโขง โดยคนทั้ง ๒ ฝั่งแม่น้ำโขงหรือฝั่งไทยกับฝั่งลาวผลัดปล่อยเรือออกไปไหลมอง คือเมื่อฝั่งไทยออกไปไหลมองและนำเรือกลับเข้าฝั่ง (ไทย) แล้วทางฝั่งลาวก็ล่องเรือออกมาไหลมองต่อ สลับผลัดเปลี่ยนกันเช่นนี้ตลอด ๒๔ ชั่วโมง การที่ทั้งสองฝั่งต้องผลัดกันออกไปไหลมอง เนื่องจากบริเวณการไหลมองที่บ้านท่าค้อต้องทำกันอยู่บริเวณล่องน้ำลึกของแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นเส้นแบ่งเขตแดนระหว่างประเทศไทยกับประเทศลาว จึงเป็นตัวกำหนดให้ทั้งผู้คนทั้งสองฝั่งต้องผลัดกันออกมาไหลมองบนเส้นเขตแดน

การลงพื้นที่สำรวจภูมิวัฒนธรรมริมฝั่งแม่น้ำโขงครั้งนั้น สิ่งหนึ่งที่ได้พบเจอมาตลอดเส้นทาง คือ คำกล่าวของชาวบ้านที่ว่า “คนฝั่งโน้น ก็พี่น้องกันทั้งนั้นละ” หรือในครั้งสำรวจพื้นที่ด่านซ้ายช่วงเดือนเมษายน ๒๕๕๑ ที่พรมแดนไทย – ลาว บ้านเหมืองแพร่ อ.นาแห้ว จ.เลย ที่มีลำน้ำเหืองเป็นเส้นพรมแดน จากการพูดคุยกับชาวบ้านแถบนั้นก็ได้รับคำบอกเล่าที่คล้ายคลึงกันว่า “ฝั่งลาวก็พี่น้องกันทั้งนั้นละ แต่บางคนเขาข้ามมาไม่ทัน บางคนเขาก็ห่วงที่ดินที่นาฝั่งโน้นก็เลยไม่ข้ามมาฝั่งไทย ทุกวันนี้เวลามีงานมีหรือเทศกาลก็ข้ามไปเรื่อยๆ ล่ะ” ที่บ้านเหมืองแพร่หากเดินทางต่อไปอีกไม่กี่สิบกิโลเมตร ก็ถึงบ้านร่มเกล้าที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นสมรภูมิสงครามระหว่างไทยกับลาวเมื่อ พ.ศ.๒๕๓๑

จากข้อเสนอ No Man’s Land ของอาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม เพื่อแก้ปัญหาข้อพิพาทเขาพระวิหาร สามารถเกิดขึ้นได้จริงเพียงแต่เราต้องทลายกำแพงวิธีคิดความรับรู้เกี่ยวกับอำนาจอันทรงพลังของเส้นพรมแดน ตลอดจนเรียนรู้ที่เข้าใจประวัติศาสตร์ที่ไม่ใช่ประวัติศาสตร์ชาติไทยที่แสนยิ่งใหญ่ จนเบียดเบียนคนและประเทศเพื่อนบ้านไปหมดจากหน้าประวัติศาสตร์ เมื่อนั้นเราก็เห็นว่า No Man’s Land บนเขาพระวิหารนั้นไม่ใช่สิ่งเกิดขึ้นไม่ได้ แต่อุปสรรคสำคัญของแก้ปัญหาด้วย No Man’s Land นั้นไม่ใช้เส้นพรมแดนบนแผนที่ทับซ้อนหรือแผนที่คนละฉบับ หากอยู่ที่พรมแดนในใจของคนที่ต้องปลดแอกตนเองออกจากสำนึกที่ตกถอดจากยุคอาณานิคม เพื่อก้าวข้ามให้พ้น “ระเบิดเวลาจากยุคอาณานิคม” และระเบิดลูกใหม่ๆ ที่กำลังตามมาจากข้อขัดแย้งเรื่องพรมแดนกับประเทศเพื่อนบ้านรอบข้าง ทั้งที่เหตุการณ์และเวลาก็ได้เป็นเครื่องพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าที่ผ่านมาการพยายามเข้าหามิตรประเทศมหาอำนาจตะวันตก ไม่ได้ก่อประโยชน์อย่างยั่งยืนจริงแก่ไทยเลย กลับทำให้ไทยต้องแตกแยกออกจากเพื่อนบ้าน ทั้งที่การมีเพื่อนบ้านที่ดีสุดให้แก่บ้าน

ส่งท้าย

จากเหตุการณ์ข้อพิพาทครั้งใหม่เรื่องปราสาทเขาพระวิหารนี้ ทำให้ผู้เขียนย้อนนึกกลับไปถึงภาพของ ทอมัส เจฟเฟอร์สัน (Thomas Jefferson) กำลังขะมักเขม้นบรรจงวาดเส้นพรมแดนใหม่บนแผนที่ประเทศสหรัฐอเมริกาในสารคดีชุดการบุกเบิกสำรวจที่ราบลุ่มแม่น้ำมิสซิสซิบปี (Mississippi River) ภายใต้เส้นพรมแดนที่ถูกขีดขึ้นใหม่ นำมาซึ่งชีวิตของคนผิวขาวและชนเผ่าอินเดีย คนพื้นเมืองที่รบราฆ่าฟันจนบาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมาก เหตุใดเส้นสมมติที่มองไม่เห็นและปรากฏอยู่ในแผนที่เท่านั้น กลับมีพลังอำนาจมากมายอย่างล้นเหลือจนส่งผลต่อวิถีชีวิตของผู้คน หรือเรื่องเหล่านี้เพียงไม่ใช้เพราะเส้นในแผนที่ เป็นเส้นแบ่งในใจเราต่างหากที่ทำให้มันมีพลัง?

ผู้เขียน: ผศ.ปิยชาติ สึงตี

Facebook Comments Box