
โรคซึมเศร้านั้นไม่ได้มีสาเหตุจากแต่เพียงปัจจัยใดปัจจัยหนึ่งเท่านั้น เหมือนกับการป่วยเป็นไข้หวัด ก็มักเป็นจากร่างกายอ่อนแอ จากพักผ่อนน้อย ไม่ได้ออกกำลังกาย ขาดสารอาหาร ถูกฝน อากาศเย็น ร่วมกับการได้รับเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดไข้หวัด ถ้าเราแข็งแรงดี แม้จะได้รับเชื้อหวัดก็ไม่เป็นอะไร ในทำนองเดียวกัน ถ้าร่างกายเราอ่อนแอ แต่ไม่ได้รับเชื้อหวัดก็ไม่เกิดอาการ การเริ่มเกิดอาการของโรคซึมเศร้านั้นมักมีปัจจัยกระตุ้น มากบ้างน้อยบ้าง บางครั้งอาจไม่มีก็ได้ซึ่งพบได้น้อย อย่างไรก็ตาม การมีสาเหตุที่เห็นชัดว่าเป็นมาจากความกดดันด้านจิตใจนี้ มิได้หมายความว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเรื่องปกติธรรมดาของคนเราไม่ว่าจะรุนแรงแค่ไหน การพิจารณาว่าการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนั้นผิดปกติหรือไม่ เราดูจากการมีอาการต่าง ๆ และความรุนแรงของอาการเป็นหลัก ผู้ที่มีอาการเข้ากับเกณฑ์การวินิจฉัยโรคซึมเศร้านั้น บ่งถึงภาวะของความผิดปกติที่จำต้องได้รับการช่วยเหลือ
สาเหตุของภาวะซึมเศร้า
สาเหตุของภาวะซึมเศร้ายังไม่แน่ชัด แต่เชื่อว่าเกิดจากปัจจัยหลายอย่างร่วมกัน ได้แก่
ปัจจัยทางชีวภาพ: ความผิดปกติของสารเคมีในสมอง เช่น เซโรโทนิน และโดปามีน
ปัจจัยทางพันธุกรรม: มีแนวโน้มที่จะเป็นโรคซึมเศร้าได้มากกว่าบุคคลทั่วไป
ปัจจัยทางจิตใจ: ประสบการณ์ในวัยเด็ก การสูญเสีย การเปลี่ยนแปลงในชีวิต
ปัจจัยทางสังคม: ความเครียดจากการทำงาน การเรียน การเงิน ปัญหาในครอบครัว
จะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นโรคนี้หรือเปล่า
อาการซึมเศร้านั้นมีด้วยกันหลายระดับตั้งแต่น้อยๆ ที่เกิดขึ้นได้ในชีวิตประจำวัน ไปจนเริ่มมีผลกระทบต่อการดำรงชีวิตประจำวัน และบางคนอาจเป็นถึงระดับของโรคซึมเศร้า อาการที่พบร่วมอาจเริ่มตั้งแต่รู้สึกเบื่อหน่าย ไปจนพบอาการต่างๆ มากมาย
แบบสอบถามภาวะอารมณ์เศร้า (Patient Health Questionnaire; PHQ9) เป็นแบบสอบถามทีใช้เพื่อช่วยในการประเมินว่าผู้ตอบมีมีภาวะซึมเศร้าหรือไม่ รุนแรงมากน้อยเพียงใด เป็นมากจนถึงระดับที่ไม่ควรจะปล่อยทิ้งไว้หรือไม่ แบบสอบถามนี้ไม่ได้บอกว่าเป็นโรคอะไร เพียงแต่ช่วยบอกว่าภาวะซึมเศร้าที่มีอยู่ในระดับไหนเท่านั้น ในการวินิจฉัยว่าเป็นโรคซึมเศร้าหรือไม่นั้น ผู้ที่มีอารมณ์ซึมเศร้ายังต้องมีอาการที่เข้าตามเกณฑ์การวินิจฉัยด้านล่าง
ข้อดีอย่างหนึ่งของแบบสอบถามนี้คือสามารถใช้ช่วยในการประเมินระดับความรุนแรงของอาการได้ ว่าแต่ละขณะเป็นอย่างไร อาการดีขึ้นหรือเลวลง การรักษาได้ผลหรือไม่ ผู้ป่วยอาจทำและจดบันทึกไว้ทุก 1-2 สัปดาห์ โดยถ้าการรักษาได้ผลดีก็จะมีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นโดยมีค่าคะแนนลดลงตามลำดับ
แบบสอบถามภาวะอารมณ์เศร้า https://med.mahidol.ac.th/infographics/76


อาการของภาวะซึมเศร้า
อาการของภาวะซึมเศร้าอาจแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล แต่โดยทั่วไปจะพบอาการดังนี้
- อารมณ์: รู้สึกเศร้า หดหู่ หมดหวัง ไร้ค่า
- พฤติกรรม: เบื่ออาหารหรือกินมากเกินไป นอนไม่หลับหรือหลับมากเกินไป ขาดความสนใจในกิจกรรมที่เคยชอบทำ เหนื่อยล้า ไม่มีแรง
ความคิด: คิดช้าลง มีปัญหาในการตัดสินใจ คิดถึงความตายหรือทำร้ายตัวเอง
การป้องกันภาวะซึมเศร้า
แม้ว่าจะไม่สามารถป้องกันภาวะซึมเศร้าได้ทั้งหมด แต่เราสามารถลดความเสี่ยงได้ด้วยการ
- ดูแลสุขภาพกาย: ออกกำลังกายสม่ำเสมอ กินอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอ
- สร้างความสัมพันธ์ที่ดี: พูดคุยกับคนที่ไว้ใจ
- เรียนรู้วิธีจัดการกับความเครียด: เช่น การทำสมาธิ การฝึกหายใจลึกๆ
- ขอความช่วยเหลือเมื่อรู้สึกไม่ดี: หากคุณรู้สึกว่ากำลังมีอาการของภาวะซึมเศร้า ควรปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต
“หากคุณหรือคนที่คุณรู้จักกำลังประสบปัญหาเกี่ยวกับภาวะซึมเศร้า อย่าปล่อยให้มันผ่านไป อย่าลังเลที่จะขอความช่วยเหลือหรือปรึกษาแพทย์”
เขียนและเรียบเรียงโดย นายวีรยุทธ์ บุญพิศ หลักสูตรดิจิทัลคอนเทนต์และสื่อ สำนักวิชาสารสนเทศศาสตร์
ขอบคุณเนื้อหาข้อมูลดีๆ จากคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://www.rama.mahidol.ac.th/ramamental/generalknowledge/general/09042014-1017