23 มิถุนายน 2568
บทความโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ทัศนีย์ องค์ธนทรัพย์
อาจารย์สาขาการแพทย์แผนไทยประยุกต์
สำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
ขิง: สมุนไพรหลากหลายคุณประโยชน์เพื่อสุขภาพและการประยุกต์ใช้ทางยา

(ที่มารูปภาพ: https://www.canva.com/)
ขิง (Zingiber officinale) เป็นสมุนไพรที่มีคุณสมบัติทางการแพทย์หลากหลาย ตั้งแต่การต้านการอักเสบจนถึงการส่งเสริมสุขภาพหัวใจ งานวิจัยล่าสุดได้เผยให้เห็นถึงความสามารถของขิงในการลดไขมันผ่านกลไกการยับยั้งโปรตีน PCSK9 ซึ่งช่วยเพิ่มการแสดงออกของ LDLR (Low-Density Lipoprotein Receptor) และส่งผลให้ระดับคอเลสเตอรอลในเลือดลดลง นอกจากนี้ขิงยังมีงานวิจัยที่พัฒนาต่อยอดในการประยุกต์ใช้สมุนไพรขิงต่อการรักษาในด้านอื่นๆ เช่น การพัฒนาเป็นยาทาภายนอกลดอาการปวดกล้ามเนื้อ
คุณสมบัติเด่นของขิง
- ฤทธิ์การต้านอนุมูลอิสระและลดการอักเสบ
สารสำคัญในขิง เช่น 6-gingerol และ 6-shogaol มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและลดการอักเสบ โดยยับยั้งเอนไซม์ LOX ซึ่งเกี่ยวข้องกับกระบวนการอักเสบในร่างกาย
- การลดไขมันผ่านกลไก PCSK9
งานวิจัยพบว่าขิงสามารถยับยั้งโปรตีน PCSK9 ซึ่งเป็นตัวควบคุม LDLR ในเซลล์ตับ เมื่อ PCSK9 ถูกยับยั้ง LDLR จะมีจำนวนเพิ่มขึ้น ส่งผลให้เซลล์สามารถจับและกำจัด LDL (ไขมันเลว) ออกจากกระแสเลือดได้มากขึ้น จึงช่วยลดความเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือด
- การประยุกต์ใช้จากคุณสมบัติเด่นของขิงในทางยา
ในงานวิจัยล่าสุดนั้น ขิงนำไปวิจัยพัฒนาในการสังเคราะห์อนุภาคนาโนเงิน (AgNPs) ด้วยการใช้สารสกัดจากขิงที่ pH 6 ซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการต้านอนุมูลอิสระและลดการอักเสบ และอนุภาคเหล่านี้ยังคงความปลอดภัยต่อเซลล์ไฟโบรบลาส L929 รวมถึงมีศักยภาพในการพัฒนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ได้เป็นอย่างดี โดยได้มีการพัฒนาต่อยอดในรูปแบบเจลไนโอโซมจากขิงกับการลดปวด กับผลิตภัณฑ์ยาทาภายนอกรูปแบบ “เจลไนโอโซม” ที่ผสมสารสกัดขิงร่วมกับน้ำมันปาล์มแดงได้รับการพัฒนาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดูดซึมผ่านผิวหนัง งานวิจัยแสดงให้เห็นว่าเจลนี้ช่วยลดอาการปวดผ่านโปรตีน TRPM8 และ TRPV1 และมีความปลอดภัยสูงเมื่อใช้ในมนุษย์
ขิงไม่เพียงแต่เป็นสมุนไพรที่มีคุณค่าทางโภชนาการ แต่ยังเป็นวัตถุดิบสำคัญในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์และเครื่องสำอาง ทั้งในด้านการลดไขมัน การต้านการอักเสบ และการดูแลสุขภาพผิว การวิจัยเพิ่มเติมจะช่วยเปิดโอกาสใหม่ ๆ ในการนำขิงมาใช้ประโยชน์เพื่อสุขภาพอย่างยั่งยืน
เขียนและเรียบเรียงเนื้อหาโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ทัศนีย์ องค์ธนทรัพย์
อาจารย์สาขาการแพทย์แผนไทยประยุกต์ สำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
เอกสารอ้างอิง
- Ongtanasup, T., Prommee, N., Jampa, O., Limcharoen, T., Wanmasae, S., Nissapatorn, V., Paul, A. K., Pereira, M. d. L., Wilairatana, P., Nasongkla, N., & Eawsakul, K. (2022). The Cholesterol-Modulating Effect of the New Herbal Medicinal Recipe from Yellow Vine (Coscinium fenestratum (Goetgh.)), Ginger (Zingiber officinale Roscoe.), and Safflower (Carthamus tinctorius L.) on Suppressing PCSK9 Expression to Upregulate LDLR Expression in HepG2 Cells. Plants, 11(14), 1835. https://doi.org/10.3390/plants11141835
- Ongtanasup, T., Kamdenlek, P., Manaspon, C., & Eawsakul, K. (2024). Green-synthesized silver nanoparticles from Zingiber officinale extract: antioxidant potential, biocompatibility, anti-LOX properties, and in silico analysis. BMC Complementary Medicine and Therapies, 24(1), 84.
- Ongtanasup, T., Tawanwongsri, W., Manaspon, C., Srisang, S., & Eawsakul, K. (2024). Comprehensive investigation of niosomal red palm wax gel encapsulating ginger (Zingiber officinale Roscoe): network pharmacology, molecular docking, in vitro studies and phase 1 clinical trials. International Journal of Biological Macromolecules, 277, 134334.