Generic selectors
Exact matches only
Search in title
Search in content
Post Type Selectors

พยากรณ์อากาศแบบไทยไทย (๒)

บทความโดย อาจารย์ธีรวัฒน์ กล่าวเกลี้ยง หัวหน้าสาขาวิชาภาษาไทย สำนักวิชาศิลปศาสตร์

ความกดอากาศ

อากาศเป็นสสารจึงมีน้ำหนักกด ซึ่งแต่ละพื้นที่จะไม่เท่ากัน  บริเวณที่มีน้ำหนักกดมากกว่าบริเวณโดยรอบจะเรียกว่า หย่อมความกดอากาศสูง  และบริเวณตรงกันข้ามก็เรียกว่า  หย่อมความกดอากาศต่ำ   เมื่อหย่อมความกดอากาศต่ำหลาย ๆ หย่อมมาเรียงต่อกันบนแผนที่ในแนวนอน จะเรียกว่า ร่องความกดอากาศต่ำ  โดยปกติ  บริเวณที่อยู่ในแนวร่องความกดอากาศต่ำมักจะมีฝนตก  กรมอุตุนิยมวิทยาจึงหันมาใช้คำว่า ร่องฝน  แทน  เพราะสื่อความง่ายกว่า

ส่วนบริเวณที่อยู่ภายใต้อิทธิพลของหย่อมความกดอากาศสูงนั้นจะมีอากาศหนาว  ซึ่งแบ่งระดับความหนาวตามอุณหภูมิได้ดังนี้

                                ต่ำกว่า ๘ องศาเซลเซียส                        >          อากาศหนาวจัด

                                ๘ – ๑๕.๙ องศาเซลเซียส                      >         อากาศหนาว

                                ๑๖ – ๑๗.๙ องศาเซลเซียส                   >          อากาศค่อนข้างหนาว

                                ๑๘ – ๒๒.๙ องศาเซลเซียส                   >        อากาศเย็น

เมื่อพูดถึงอากาศร้อนก็มีระดับความร้อนเช่นกัน  แบ่งเป็น

                                ๓๕ – ๓๙ องศาเซลเซียส                       >          อากาศร้อน

                                ๓๙ องศาเซลเซียสขึ้นไป                       >          อากาศร้อนจัด       

ปัจจุบัน การพยากรณ์อากาศพยายามใช้ศัพท์ที่เข้าใจง่ายขึ้นในการสื่อสาร  ขณะเดียวกัน ข่าวที่ออกตามสื่อโทรทัศน์และอินเตอร์เน็ต ก็มักใช้คอมพิวเตอร์กราฟิกเพื่อช่วยรายงานสภาพอากาศให้มีความน่าสนใจขึ้น  บ่อยครั้ง  การรายงานข่าวมักทำในรูปแบบสรุป  เราจึงเห็นสัญลักษณ์รูปเมฆฝน  สายฟ้า ร่ม  หรือดวงอาทิตย์  แทนการใช้ข้อความเพื่อบรรยายสภาพอากาศ

ภูมิปัญญาชาวบ้านกับการพยากรณ์อากาศ

คนยุโรปโบราณเชื่อว่า หากกบหรือเป็ดร้องเสียงดังติดต่อกันแล้วฝนจะตก  ถึงขนาดเล่ากันว่ามีพ่อค้าหัวใสจับกบใส่กรง กรงละ ๓ ตัว มาขายให้กับลูกค้าโดยอ้างว่าใช้พยากรณ์อากาศได้

ชาวบ้านในชนบทของไทยก็มีวิธีทำนายสภาพอากาศง่าย ๆ โดยการสังเกตจากธรรมชาติ  อาทิ  หากเห็นมดย้ายรังขึ้นที่สูง หรือเห็นแมงเม่าบินเล่นไฟ  แสดงว่าฝนกำลังจะตกในไม่ช้า  นอกจากนี้  การออกดอกออกผลขอบต้นไม้แต่ละชนิดยังบ่งบอกถึงช่วงเวลาเปลี่ยนฤดูได้อีกด้วย  การผลัดใบของต้นยางพาราก็บอกได้ว่าหน้าแล้งกำลังมาเยือน  เป็นต้น

นอกจากจะสังเกตธรรมชาติเพื่อทำนายอากาศแล้ว  คนไทยยังมีความเชื่อเรื่องการห้ามฝนฟ้าด้วยการปักตะไคร้อีกด้วย  โดยเชื่อว่า หากหญิงบริสุทธิ์เป็นผู้ปักตะไคร้และอธิษฐานแล้ว  วันนั้นจะไม่มีฝนตก 

ความเชื่อเรื่องนาคกับการพยากรณ์อากาศแบบโบราณ

คนไทยมีความเชื่อเรื่องนาคกันมาตั้งแต่โบราณ  และยอมรับกันโดยทั่วไปว่านาคมีความเกี่ยวข้องกับฝน   มีการกล่าวถึงเสมอว่าปีนี้มีนาคให้น้ำกี่ตัว  และฝนจะตกกี่ห่า

จำนวนนาคที่ให้น้ำในแต่ละปีนั้นจะต่างกันไป  ขึ้นอยู่กับว่าตรงกับปีนักษัตรใด  เช่น ปีวอก จะมีนาคให้น้ำ ๔ ตัว  หากเป็นปีระกาจะมีนาคให้น้ำ ๖ ตัว  เป็นต้น  จำนวนนาคที่มาให้น้ำก็มีตั้งแต่ ๒ – ๘ ตัว  ว่ากันว่า  ปีใดที่พญานาคให้น้ำหลายตัว  ปีนั้นฝนจะตกน้อย  เพราะนาคมัวเกี่ยงกัน

ที่จริงแล้ว น้ำฝนตกลงยังสถานที่ต่าง ๆ อันได้แก่ เขาสัตตบริภัณฑ์และมหาสมุทร  ป่าหิมพานต์ และโลกมนุษย์นั้น เกิดจากการลงเล่นน้ำของนาคในสีทันดรสมุทร เมื่อนาคลงเล่นน้ำในสีทันดรก็จะพ่นน้ำในทะเลเล่น ฟองคลื่นที่กระเซ็นขึ้นสู่อากาศก็จะถูกลมหอบไปพรมลงยังสถานที่ต่าง ๆ และส่วนหนึ่งก็ตกลงมายังโลกมนุษย์

เมื่อดูจากจำนวนห่าทั้งหมดที่ตกก็คือ ๒๐๐ ถึง ๕๐๐ ห่านั้น ส่วนที่ตกมายังโลกมนุษย์ เป็นส่วนที่น้อยเหลือเกิน   หากปีนั้นฝนตก ๒๐๐ ห่า ลมก็จะหอบมาตกยังโลกมนุษย์เพียง ๓๖ ห่า แม้แต่ปีที่มีฝนมากที่สุดถึง ๕๐๐ ห่า ก็จะตกยังโลกมนุษย์เพียง ๙๒ ห่าเท่านั้น

ห่าหนึ่งก็เท่ากับ ฝนตกเต็มหนึ่งบาตรพระ หากจะวัดเป็นปริมาณตามมาตรวัดปัจจุบันก็คงจะอยู่ในเกณฑ์ที่ฝนตกหนักมาก ( มากกว่า ๙๐ มิลลิเมตร )

เรื่องราวของ “นาค” ให้ฝนนั้นซึมซับเข้าไปในประเพณีต่าง ๆ ไม่ว่าจะขุดบ่อน้ำ ขุดเสาเรือน นอกจากจะบอกกล่าวแม่พระธรณีแล้ว ยังจะต้องบอกกล่าวไปยังนาคานาคน้ำอีกด้วย

พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ พ.ศ. ๒๕๖๕

พระราชพิธีดังกล่าวมีขึ้นเมื่อวันศุกร์ที่ ๑๓ พฤษภาคม ๒๕๖๕ โดยพระยาแรกนา คือ นายทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เสี่ยงทายผ้านุ่งไปประกอบพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ได้ผ้านุ่งความกว้าง ๔ คืบ พยากรณ์ว่า น้ำจะมาก นาในที่ดอนจะได้ผลบริบูรณ์ดี นาในที่ลุ่มอาจจะเสียหายบ้าง ได้ผลไม่เต็มที่

การเสี่ยงทายพระโคกินเลี้ยง จะมีการนำอาหาร 7 สิ่ง ได้แก่ ข้าวเปลือก ข้าวโพด น้ำ หญ้า ถั่ว งา และเหล้า ในปีนี้ พระโคทั้งสองกินน้ำ หญ้า ถั่ว และเหล้า พยากรณ์ว่า น้ำท่าจะบริบูรณ์ ธัญญาหาร ผลาหาร ภักษาหาร มังสาหาร จะอุดมสมบูรณ์ดี การคมนาคมสะดวกขึ้น การค้าขายกับต่างประเทศดีขึ้น ทำให้เศรษฐกิจรุ่งเรือง สำหรับพระโคที่ใช้ประกอบพิธีแรกนาขวัญครั้งนี้ ได้แก่ พระโคพอ และพระโคเพียง

Facebook Comments Box