Soft Power คืออะไร มาจากไหน ทำไมสื่อไทยถึงพูดถึงคำนี้บ่อยขึ้น

               Soft power (SP) หรือที่นักวิชาการไทยเรียกว่า “อำนาจอ่อน” หรือ “อำนาจละมุน” นั้น แท้จริงแล้วไม่ได้อ่อนและก็ไม่ได้ละมุนสักเท่าใดนัก เห็นจากการที่ SP เคยเป็นอำนาจสำคัญที่ถูกใช้โดยผู้นำเผด็จการอย่างมุสโสลินี เลนิน หรือเหมา เจ๋อ ตุง เพราะ SP ใช้วัฒนธรรมเป็นทรัพยากรสำคัญในการสร้าง มีอำนาจในการโน้มน้าวใจหรือจูงใจผู้คน หากบริหาร SP เก่งๆ ก็ทำให้คนลุ่มหลงมัวเมาจนยอมตายแทนได้
ทรัพยากรที่ถูกนำมาใช้ในการสร้าง SP ได้แก่ คุณค่าทางวัฒนธรรม อุดมการณ์ของชาติ และนโยบายต่างประเทศ โดยแก่นแล้ว Joseph Nye Jr. ที่เป็นเจ้าของแนวคิด SP เน้นย้ำอยู่เสมอว่า SP จะเกิดขึ้นเมื่อทรัพยากรถูกนำมาใช้อย่าง “ถูกศีลธรรม” และ “ถูกต้องตามกฎหมาย” แม้ว่าแนวคิด SP จะมีลักษณะเป็น Descriptive concept หมายถึง เป็นกลาง ไม่บวกไม่ลบ แต่หากพิจารณาจากแนวคิดและความมุ่งหมายของ Nye แล้ว SP ก็จะต้องเกิดอยู่บนฐานของความดีอยู่ดี

               เหตุที่ SP ต้องพัฒนามาจากฐานคิดหรือเป้าหมายที่ดี เพราะ SP จะเกิดขึ้นในใจของผู้รับสาร ผู้ส่งสารหรือเจ้าของทรัพยากร ไม่ได้เป็นคนสร้าง SP โดยตรง แต่ทำหน้าที่เป็นคนเตรียมบริบทหรือบรรยากาศให้เหมาะสมที่จะเกิด SP ขึ้น และผู้รับสารที่กล่าวถึงนี้ก็มักจะหมายถึงคนที่อยู่ต่างชาติต่างวัฒนธรรมกับผู้ส่งสาร หรือหมายถึงการที่ประเทศหนึ่งๆ ต้องการทำให้คนในประเทศอื่นๆ รักหรือมองประเทศในทางที่ดี
SP เกิดผ่านความรู้สึก 3 รูปแบบ และทรัพยากรแต่ละตัวก็จะมีความรู้สึกเหล่านี้ผสมปนเปกันอยู่มากน้อยปนกันไป ได้แก่ ความดี หรือภาวะที่ผู้รับสารรับรู้ได้ถึงความดีและจริงใจ ความงาม แต่อะไรจะสวยหรืองามก็ไม่มีบรรทัดฐานแน่ชัด เช่น บางอย่างไม่งามสำหรับคนไทยอาจจะงามที่สุดในจักรวาลสำหรับคนนอกก็ได้ และสุดท้าย คือ ความเป็นเลิศ หมายถึงความเป็นที่หนึ่งหรือที่สุดในศาสตร์และศิลป์แขนงต่างๆ ความเป็นเลิศนี้เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้วงการการศึกษาต้องแข่งขันสู้รบกัน ชื่อเสียงมหาวิทยาลัยและงานวิจัยจึงกลายเป็นสิ่งที่คนเอามาใช้วัดกัน ฯลฯ

               ขั้วอำนาจที่อยู่ตรงข้าม SP คือ Hard power (HP) หรือ “อำนาจแข็ง” หรือ “อำนาจกระด้าง” อำนาจในอดีตจะมีทิศทางเดียว หมายถึงตัว HP ซึ่งเป็นอำนาจที่ได้มาด้วยกำลังและเงิน การสร้างอำนาจในสมัยก่อน จึงอยู่ที่การทำให้ผู้รับสารเกรงกลัว หวาดกลัว หรือกดดัน ซึ่งทำได้โดยการใช้กำลัง เช่น ทำสงคราม หรือ การกดดันกันทางการเงินอย่างการคว่ำบาตรไม่คบค้าสมาคมด้วย การทำให้คนกลัวไม่จีรัง นานไปก็จะสร้างความโกรธแค้นและการอยากเอาคืน ในขณะที่ SP นั้น เริ่มจากการสร้างความเข้าใจร่วมทางวัฒนธรรม การเคารพในอุดมการณ์ ตลอดจนการมีนโยบายต่างประเทศที่สนับสนุนเกื้อกูลกัน การสร้างแรงดึงดูดหรือความรักผ่าน SP จึงเป็นสิ่งที่อยู่ยาวนานกว่า ทำลายยากกว่า แม้ว่าจะต้องใช้เวลาในการสร้างไม่ปุบปับได้ดั่งใจเหมือน HP

               หากพิจารณาในบริบทบ้านเรา ประเทศไทยเราสู้ด้วย HP ไม่ได้ เพราะความก้าวหน้าหรือกำลังทางทหารเรายังเป็นรองประเทศมหาอำนาจอยู่มาก จะสู้ด้วยอำนาจเงิน เศรษฐกิจเราก็ยังวิ่งตามประเทศอื่นๆ อยู่แบบทิ้งห่าง แต่ SP หรือวัฒนธรรมไทยที่รุ่มรวย เช่น อาหารไทย มวยไทย ความใจดียิ้มง่ายของคนไทย ฯลฯ เป็นทรัพยากรที่ทรงอำนาจเป็นอย่างมาก ในช่วงหลายปีมานี้ รัฐบาลจึงให้ความสำคัญกับ SP มากขึ้นเรื่อยๆ แม้กระทั่งนายกฯ ก็อดไม่ได้ที่จะต้องพูดถึงคำๆ นี้ แท้จริงแล้ว SP อยู่กับคนไทยมานาน และก็จะอยู่กับคนไทยไปตลอด แต่ความเข้าใจเกี่ยวกับ SP ของคนไทยก็ยังไม่ค่อยถูกต้องเท่าใดนัก SP ต้องเกิดจากความเข้าใจที่ถูกต้องก่อน และต้องบริหารหรือนำมาใช้ให้เหมาะสมกับบริบท สถานการณ์ และผู้รับสารที่ชอบรสชาติชีวิตไม่เหมือนกัน

แหล่งอ้างอิง
Bamrungsuk, Surachart. 2014. “Soft Power.” In Security Studies Journal, edited by Security Studies Project Thailand. Bangkok: Square Print 93.
Nye, Joseph S. 2004. Soft Power: The Means to Success in World Politics. New York: Public Affairs.
Vuving, Alexander L. 2009. “How Soft Power Works ” In American Political Science Association Annual Meeting (Panel on Soft Power and Smart Power), 1-20. Toronto: Daniel K. Inouye Asia-Pacific Center for Security Studies.

Facebook Comments Box