Generic selectors
Exact matches only
Search in title
Search in content
Post Type Selectors

คนเดินเท้า: กลุ่มเปราะบางบนถนนและการเกิดอุบัติเหตุ

เรื่อง: จันจิรา มหาบุญ

ภาพ: เดน่า มหาบุญ

‘Pedestrians have right of way’ เป็นประโยคที่ผู้เขียนพบเจอบ่อยครั้งบนป้ายจราจรสีเหลืองสดตามท้องถนน เมื่อครั้งได้ไปศึกษาที่ประเทศออสเตรเลีย สื่อหมายความถึง คนเดินเท้าได้สิทธิ์ในการเดิน และผู้ใช้ยานพาหนะทุกประเภทจะต้องหยุดและให้ทางคนเดินเท้าไปก่อน ในอดีตที่ผ่านมาประเทศไทยเกิดความสูญเสียจากอุบัติเหตุจราจร ที่เกิดขึ้นกับคนเดินเท้า (pedestrians) ขณะเดินข้ามถนนหลายต่อหลายครั้ง องค์การอนามัยโลก (World Health Organization, WHO) ได้จัดผู้ใช้รถใช้ถนนกลุ่มนี้เป็น “กลุ่มผู้เปราะบางบนถนน” (Vulnerable Road Users: VRUs) ซึ่งหมายถึง กลุ่มคนที่ขาดเครื่องป้องกันการเกิดอุบัติเหตุจราจร หรือมีศักยภาพในการปกป้องตนเองน้อย เช่น คนเดินเท้า ผู้ใช้รถจักรยานยนต์ ผู้ใช้รถจักรยาน เด็ก ผู้สูงอายุ หรือผู้พิการ เป็นต้น    

ระบบเศรษฐกิจ สังคม และโครงสร้างพื้นฐานทางถนนของประเทศไทยในปัจจุบันยังมีผลต่อความเหลื่อมล้ำบนท้องถนนที่ส่งผลต่อกลุ่มเปราะบาง ถนนที่มีอยู่เอื้อในการป้องกันอุบัติเหตุของยานพาหนะขนาดใหญ่มากกว่ากลุ่มเปราะบาง และยานพหนะก็มีการออกแบบทางวิศกรรมและเทคโนโลยีนวัตกรรมใหม่ๆ หลายอย่างที่เข้ามาช่วยในการป้องกันอุบัติเหตุ อย่างไรก็ตามเรายังไม่พบความเข้มแข็งของมาตรการดำเนินงานที่มีประสิทธิผลในการปกป้องผู้เปราะบางบนท้องถนนมากนัก นอกจากนี้บนท้องถนนยังมีการผสมปะปนของผู้ใช้รถใช้ถนนหลายกลุ่ม ทั้งรถที่เป็นยานพาหนะขนาดใหญ่ เช่น รถพ่วง รถบรรทุก รถตู้ รถโดยสารสาธารณะ และรถยนต์ต่างๆ ในขณะเดียวกันก็จะมียานพาหนะขนาดเล็ก เช่น รถจักรยานยนต์ และจักรยาน สัญจรอยู่ด้วยในระยะที่ใกล้ชิดกันมาก และในกลุ่มที่น่าเป็นห่วงก็คือ กลุ่มคนเดินเท้า เราเรียกสถานการณ์เช่นนี้ว่า “Hazardous mix” ซึ่งหมายถึง การที่เลนจราจรบนถนนเปิดให้ผู้ใช้รถใช้ถนนทุกประเภทใช้เดินทางร่วมกัน โดยจะมีความแตกต่างกันตั้งแต่ประเภทของยานพาหะ ความเร็ว และทิศทางการเคลื่อนไหวของยานพาหนะ ซึ่งจะมีแนวโน้มที่จะเกิดอุบัติเหตุและการบาดเจ็บรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต โดยเฉพาะกับคนเดินเท้า

            นอกจากอุบัติเหตุเคสใหญ่ๆ ที่เราทราบจากหน้าหนังสือพิมพ์และสื่อนั้น ข้อมูลสถิติการเกิดอุบัติเหตุของคนเดินเท้าในอดีตที่ผ่านมา ก็ย้ำให้เห็นถึงสถานการณ์ที่น่ากังวล โดยพบว่า

  • ในช่วงปี 2554 – 2563 ซึ่งเป็นช่วงปีที่ประเทศไทยได้ประกาศให้เป็น ‘ทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนน’ มี ‘คนเดินเท้า’ ทั่วประเทศเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนรวมทั้งสิ้น 6,739 คนตลอด 10 ปีนี้ โดยในจำนวนนี้มีคนเดินเท้าเสียชีวิตจากอุบัติเหตุเฉลี่ยวันละ 1.84 คน หรือเกือบ 2 คน
  • ข้อมูลคดีอุบัติเหตุจราจรที่รับแจ้งเฉลี่ย 3 ปี ในช่วง 2558 – 2560 พบว่า มีสัดส่วนการเกิดอุบัติเหตุในเขตพื้นที่นครบาลสูง 1 ใน 3 (34%) ของอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับคนเดินเท้าทั้งหมด
  • การเสียชีวิตส่วนใหญ่ของคนเดินเท้า จะเกิดในกลุ่มอายุ 45 – 59 ปี
  • อุบัติเหตุของคนเดินเท้า มักเกิดขึ้นในช่วงเวลาระหว่าง 16.00 – 20.00 น
  • การบาดเจ็บและเสียชีวิตของคนเดินเท้า ส่วนใหญ่จะเกิดจาก การโดนรถสองล้อชนขณะเดินข้ามถนน รองลงมาเป็นรถยนต์ รถบรรทุกเล็ก หรือรถตู้ ซึ่งความรุนแรงของการบาดเจ็บถึงขั้นเสียชีวิต จะมีสัดส่วนค่อนข้างสูง

การสร้างความปลอดภัยและป้องกันปัญหาอุบัติเหตุจราจรของประเทศไทยนั้น ไม่ควรปล่อยให้เป็นภาระตกไปอยู่กับผู้ใช้ถนนที่ต้องทำตัวเองให้เป็นผู้ใช้ถนนที่ปลอดภัย (Safe Road users) โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางอย่างเดียวเท่านั้น แต่ควรต้องร่วมมือร่วมใจกันทุกภาคส่วนระดับทุกที่เกี่ยวข้อง จึงจะสำเร็จได้ ต้องมีการวางแผนบูรณาการ การกำกับติดตาม และการประเมินผลที่ดี ผ่านทฤษฎีระบบที่ปลอดภัย (Safe system) ที่ป้องกันพฤติกรรมไม่ปลอดภัยของผู้ใช้รถใช้ถนน ซึ่งประกอบด้วยการจัดมาตรการต่างๆ อาทิ มาตรการด้านวิศวกรรมจราจรและการออกแบบโครงสร้างพื้นฐาน มาตรการด้านกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมาย มาตรการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ เป็นต้น

            การปฏิบัติตามกฎจราจรของผูใช้รถใช้ถนน ก็นับเป็นมาตรการสำคัญที่จะช่วงปกป้องชีวิตคนเดินเท้าจากอุบัติเหตุจราจรได้ตามกฎหมายพระราชบัญญัติการจราจรทางบก พ.ศ. 2522 ผู้ขับขี่ยานพาหนะจะต้องปฏิบัติดังนี้

  • เมื่อเห็นทางม้าลาย ให้ชะลอความเร็วทุกครั้ง
  • เมื่อเห็นทางม้าลาย ห้ามแซงเด็ดขาดในระยะ 30 เมตร
  • ห้ามจอดรถทับทางม้าลาย โดยนับจากเส้นไปก่อนและหลัง 3 เมตร

คนเดินเท้า จะต้องปฏิบัติดังต่อไปนี้

  • หากมีทางม้าลายหรือสะพานลอยในระยะ 100 เมตร ให้ข้ามตรงทางม้าลายหรือสะพานลอยเท่านั้น
  • กรณีมีไฟสัญญาณจราจรสำหรับคนเดินเท้า ให้ปฏิบัติตามไฟสัญญาณจราจรอย่างเคร่งครัด โดย สัญญานไฟสีแดง ให้คนเดินเท้าหยุดรอบนทางเท้า หากไม่มีทางเท้าให้หยุดรอบนไหล่ทางในเขตปลอดภัย สัญญานไฟสีเขียว ให้เดินเร็วข้ามถนน สัญญาณจราจรไฟสีเลือง ให้คนเดินเท้าที่ยังไม่ได้ข้ามทางเดินรถหยุด รอบนทางเท้าบนเกาะแบ่งทางเดินรถ หรือในเขตปลอดภัย แต่ถ้ากำลังข้ามทางเดินรถอยู่ในทางข้าม ให้ข้ามทางเดินรถโดยเร็ว
  • กรณีไม่มีสัญญานไฟจราจร ก่อนข้ามถนนทุกครั้งให้มองสำรวจก่อนว่า เลนบนถนนนั้นมีกี่เลน รถขับมาหาเราในทิศทางใด อุบัติเหตุบางครั้งพบว่า รถที่อยู่เลนในจะหยุดให้ แต่รถเลนขวากลับไม่หยุด ดังนั้นต้องสังเกตให้ดี
  • มองขวา ซ้าย แล้วมองขวาให้แน่ใจว่าไม่มีรถกำลังแล่นมา จึงข้ามได้ แล้วให้รีบเดินไปเป็นเส้นตรง
  • หากมีเกาะกลาง ให้หยุดดูรถตรงเกาะกลางก่อน
  • ไม่ข้ามถนนบริเวณมุมอับ ที่รถอาจจะมองไม่เห็นคนข้าม
  • การเดินข้ามถนนในที่มืด ควรสวมเสื้อผ้าสีสว่าง และถ้ามีไฟฉาย หรือมีวัสดุสะท้อนแสงด้วยก็จะยิ่งปลอดภัย
  • ถ้ามีเด็กให้จูงเด็กเดินด้านใน และจับมือเด็กไว้ให้มั่น เพื่อป้องกันเด็กวิ่งออกไปในทางรถ
  • ไม่ใช้โทรศัพท์ พูดคุย หรือทำกิจกรรมอื่นขณะกำลังข้ามถนน

            ปัญหาอุบัติเหตุจราจร เป็นปัญหาระดับชาติ ที่ต้องร่วมคิดแก้ไขอย่างบูรณาการจากผู้มีหน้าที่รับผิดชอบหลายภาคส่วนและหลายระดับ คนเดินเท้า ผู้ใช้รถจักรยานยนต์ และจักรยาน เป็นกลุ่มผู้เปราะบางที่เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุและบาดเจ็บบนท้องถนน เมื่อคนเดินเท้าก้าวเท้าข้ามถนน เป้าหมายก็คือเดินไปถึงอีกฝั่งของถนนอย่างปลอดภัย แต่ในบางครั้งไม่เป็นเช่นนั้น ดังนั้นผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายร่วมมือกันในการแก้ไขปัญหา ผู้ใช้รถใช้ถนนก็ควรเอื้ออาทรต่อกัน มีน้ำใจ และปฏิบัติตามกฎหมายจราจรอย่างเคร่งครัด

…………………………………………………………………..

เอกสารอ้างอิง

World Health Organization. Protecting vulnerable road users [Internet]. [cited 2022 August 12]. Available from: https:// https://www.who.int/china/activities/protecting-vulnerable-road-users

DailyJournal. Serious crashes all too common in Kankakee, Iroquois counties [Internet]. [cited 2022 August 12]. Available from: https:// https://www.daily-journal.com/news/local/serious-crashes-all-too-common-in-kankakee-iroquois-counties/article_994447fa-b450-5bc1-9ba6-53a042ea497e.html

ศูนย์​ความร่วมมือด้านข้อมูลการบาดเจ็บ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข. สถานการณ์การเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนของประเทศไทย [Internet]. [cited 2022 August 12]. สืบค้นจาก: https:// https://dip.ddc.moph.go.th/new/%E0%B8%9A%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3/3base_status_new

ราชชกิจจานุบกษา. พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522. สืบค้นจาก: http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2522/A/008/1.PDF

Facebook Comments Box