Generic selectors
Exact matches only
Search in title
Search in content
Post Type Selectors

“ป่าชายเลน” แหล่งทรัพยากรธรรมชาติ เชื่อมต่อบนบกกับทะเล ของชาวเมืองคอน

รากค้ำยัน หรือ Supporting roots ของพวกโกงกาง ในป่าชายเลน ซึ่งทำให้พืชเหล่านี้ สามารถยืนหยัดได้ในป่าชายเลน

“เขา นา ป่า เล” อัตลักษณ์ที่สำคัญของเมืองคอน นครศรีธรรมราช ด้วยความหลากหลาย แต่เป็นหนึ่งเดียวของทรัพยากรธรรมชาติ ทำให้พื้นที่แห่งนี้ อุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่ทรงคุณค่า คู่ควรต่อการอนุรักษ์ และการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน”

ใช่แล้วครับ ผมกำลังพูดถึงจังหวัดนครศรีธรรมราช หรือท่เราเรียกติดปากว่า “เมืองคอน” ดินแดนแห่งอารยธรรมโบราณ และแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่หลากหลาย และทรงคุณค่า ด้วยภูมิปัญญาที่สืบทอดกันมา จากคำที่กล่าวว่าเขา นา ป่า เล เอาจริง ๆ ก็ตรงกับพื้นที่นี้นะครับ เพราะเรามีเขาหลวง เป็นศูนย์กลางแห่งธรรมชาติ ที่อุดมไปด้วยแหล่งทรัพยากร และแร่ธาตุต่าง ๆ และมีเทือกเขา และภูเขาน้อยใหญ่อีกจำนวนมาก นอกจากนี้ยังเป็นที่ราบลุ่ม ที่เหมาะกับการเพาะปลูก โดยเฉพาะนาข้าว ไม่ว่าจะเป็นแถว ๆ หัวไทร เชียรใหญ่ เป็นต้น เป็นแหล่งของข้าวพันธุ์ดีอันเลื่องชื่อ และแน่นอนเรามีป่าที่อุดมสมบูรณ์ทั่วทั้งพื้นที่ ที่ชาวบ้านสามารถเข้าถึง และเข้าไปใช้ประโยชน์ บนพื้นฐานของการอนุรักษ์ และที่สำคัญด้านตะวันออกของจังหวัดติดขนานกับทะเลฝั่งอ่าวไทย ตั้งแต่อำเภอขนอม ไล่ลงมาอำเภอสิชล อำเภอท่าศาลา อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช อำเภอปากพนัง และอำเภอหัวไทร ซึ่งเป็นไปดั่งคำที่กล่าวว่า “ทรัพย์ในดิน สินในน้ำ” จริง ๆ

ริมคลองขุนนม ในพื้นที่ตำบลควนทอง อำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นพื้นที่น้ำกร่อย ที่อุดมไปด้วยพันธุ์ไม้ในป่าชายเลน หลากหลายชนิด ที่ทรงคุณค่า

แหล่งทรัพยากรที่หนึ่งที่อยากจะกล่าวถึงในครั้งนี้คือ “ป่าชายเลน” ใช่แล้วครับ ในเมืองคอนของเรามีป่าชายเลนด้วย ซึ่งอาจจะถือได้ว่า เป็นรอยต่อระหว่างบนบก และทะเลได้เป็นอย่างดี และเห็นภาพ โดยเฉพาะป่าชายเลนที่มีสภาพน้ำเป็นแบบน้ำกร่อย จะพบความหลากหลายทางชีวภาพ ทั้งชนิด และปริมาณของพันธุ์พืชเป็นอย่างมาก และจากการสำรวจพันธุ์พืชในป่าชายเลน ระยะปีที่ 1 (ปี 2565) จะเห็นได้ว่าความเค็มของน้ำ จะมีผลต่อชนิดของพันธุ์พืชในป่าชายเลน ใช่ครับ ก็มีบางชนิดที่ทนทาน สามารถขึ้นได้ทุกสภาวะก็มี แต่ก็มีหลายชนิดที่ถูกคัดเลือกด้วยความเค็มของน้ำ

ฝาดดอกขาว Lumnitzera racemosa Willd. (Combretaceae) พบได้มากในเขตป่าชายเลน ด้านหลังของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตขนอม ตำบลท้องเนียน อำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช มีรากพิเศษที่เรียกว่ารากคุดคู้ (Knee roots) เป็นพืชที่ประสบปัญหายืนต้นตาย หลังจากเหตุการอุทกภัย ทำให้ปริมาณน้ำจืดจำนวนมากไหลลงคลองขุนนมและบริเวณใกล้เคียง ซึ่งอาจจะทำให้พืชชนิดนี้ไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ในสภาวะดังกล่าว

ด้วยเหตุนี้ การอนุรักษ์ป่าชายเลน ที่ถูกวิธี ขอเน้นย้ำว่าถูกวิธีนะครับ จะต้องดำเนินการอย่างถูกต้อง ตามหลักวิชาการ และต้องฟังวิชาเกินด้วย โดยจะต้องร่วมมือกันทั้ภาครัฐ และประชาชน โดยเฉพาะประชาชนที่มีภูมิปัญญา และมีข้อมูลเชิงลึกมากมาย ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการอนุรักษ์ป่าชายเลนตามมาตรการของภาครัฐ

ป่าชายเลนเบญจพรรณ

ผู้เขียน กับพื้นที่ปลูกป่าชายเลน บริเวณปากทางเข้าท่าเรือที่ 2 ตำบลท่าศาลา อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช ด้านหลังจะเป็นต้นโกงกางใบเล็ก และโกงกางใบใหญ่ ที่มีการเพาะปลูกโดยการนำผลของโกงกางที่สุก พร้อมที่จะงอกแล้ว มาปักลงบนดินเลน จะเห็นได้ว่าชางบ้านเลือกชนิดของพืชที่นำมาปลูกได้ถูกต้อง เพราะสภาพดังกล่าวนี้เป็นดินเค็ม ติดทะเล นอกจากนี้ยังมีพืชที่เจริญเติบโตได้เองตามธรรมชาติ เช่น ชะคราม และผักเบี้ยทะเล ที่ชาวบ้านสามารถนำมาให้ประกอบเป็นอาหารได้อีกด้วย

คำว่า “ป่าชายเลนเบญจพรรณ” อาจจะเป็นคำประยุกต์ที่มาเรียกพืชในป่าชายเลนที่มีการผสมผสาน เล็กบ้าง ใหญ่บ้าง พึ่งพาอาศัยกันบ้าง โดยอยู่รวมกันอย่างลงตัว แน่นอนหากมีพืชรุกรานเข้ามา ก็อาจจะทำให้เกิดความเสียหายของระบบนิเวศน์ได้ ดังนั้นการปลูกป่าในป่าชายเลน ควรพิจารณาด้วยว่านำพืชรุกรานเข้ามาหรือไม่ และการดำเนินการดังกล่าวเกิดผลเสียต่อระบบนิเวศน์หรือไม่

และที่สำคัญคือการใช้ประโยชน์จากป่าชายเลน โดยเฉพาะพืชสมุนไพร ไม่ใช่เฉพาะป่าชายเลนหรอกนะครับ ป่าไหน ๆ ก็เช่นกัน การใช้ประโยชน์สามารถทำได้ครับ แต่จะต้องอยู่บนพื้นฐานของการอนุรักษ์ด้วย เพื่อให้คนรุ่นหลักได้พบเห็น เรียนรู้ และใช้ประโยชน์จากพืชเหล่านี้ด้วย แน่นอนว่ามีกฎหมายคุ้มครอง แต่ก็มีคนแหกกฎ เข้าไปสร้างความเสียหายมากมาย วันนี้อาจจะยังไม่เห็นผล แต่ในอนาคตอันใกล้ได้เห็นแน่ ๆ เพราะระบบนิเวศน์เปลี่ยน อะไร ๆ ก็เปลี่ยนตาม ดังนั้นเรามาอนุรักษ์ป่าชายเลนกันเถอะครับ แบบถูกวิธีด้วยนะครับ เพื่อรักษาความเป็นป่าชายเลนเบญจพรรณของเมืองคอนนี้เอาไว้ ชั่วลูก ชั่วหลาน

บรรณานุกรม

  • สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ(องค์กรมหาชน).  (2550). [Webblog].  Retrieved from

http://www.thaibiodiversity.org/Life/LifeDetail.aspx?LifeID=33744 [14 August 2020]

  • สำนักอนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลน, กองอนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลน, กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง, (2555), [Webblog].  Retrieved from https://www.dmcr.go.th/detailLib/139 [14 August 2020]
  • เต็ม สมิตินันทน์ (2544), ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย, กรุงเทพฯ : กรมป่าไม้
  • ประสิทธิ์ คงทรัพย์ [Webblog].  (2563) Retrieved from http://www.siripatthaimedonlineschool.com [14 August 2020]
  • Balouiri M., Sadiki M., Ibnsouda S., (2016), Methods for in vitro evaluating antimicrobial activity: A review, J. Pharm. Anal., 6, 71–79.
  • Braca A., Tommasi N. D., Bari L. D., Pizza C., Politi M., Morelli I., Antioxidant Principles from Bauhinia tarapotensis, J. Nat. Prod. (2001), 64, 892–895.
  • Umehara, K., Wungsintaweekul, B., Miyase, T., Noguchi, H. (2012), Estrogenic and anti-estrogenic compounds from the Thai Medicinal plant, Cleome gynandra (Capparidaceae), Planta Medica, 78 (11), 1226-1226
  • Wungsintaweekul, B., Umehara, K., Miyase, T., Noguchi, H. (2011), Estrogenic and anti-estrogenic compounds from the Thai Medicinal plant, Smilax corbularia (Smilacaceae), Phytochemistry, 72, 495 – 502, 2011
Facebook Comments Box