Generic selectors
Exact matches only
Search in title
Search in content
Post Type Selectors

Long COVID สัญญาณอันตราย ที่ร้ายไม่แพ้การติดเชื้อ COVID

ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 ที่ไม่มีทีท่าว่าจะจบลงง่ายๆ ใครที่ยังปลอดภัยไม่ติดเชื้อก็ต้องระมัดระวังกันต่อไป ส่วนใครที่พลาดท่าติดเชื้อไป แม้จะรักษาตัวจนหายดีแล้วก็ยังไม่ควรการ์ดตก เพราะโอกาสติดเชื้อซ้ำก็มีอยู่ นอกจากนี้ผู้ที่หายป่วยแล้วยังควรหมั่นสังเกตอาการของตัวเองให้ดี เพราะก็มีความเสี่ยงต่อการป่วยเป็น Long COVID ได้อีกด้วย ซึ่งถ้าเป็นแล้วก็อาจมีภาวะความผิดปกติที่ส่งผลให้คุณภาพชีวิตย่ำแย่ลง จนไม่สามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขได้ในระยะยาว

Long COVID คืออะไร ทำไมจึงเกิดขึ้นได้?
Long COVID หรือ Post COVID Syndrome หมายถึง กลุ่มอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นหลังจากการติดเชื้อโควิดและหายดีแล้ว ซึ่งหากเป็นก็จะมีอาการอยู่นานหลายเดือน โดยสาเหตุของการเกิดกลุ่มอาการ Long COVID เป็นผลมาจากการที่ร่างกายต่อสู้กับเชื้อโควิดด้วยการสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมา ซึ่งในขณะทำการต่อสู้นั้นจะก่อให้เกิดสารอักเสบหลั่งออกมาเป็นจำนวนมาก สารอักเสบเหล่านี้เมื่อหลั่งออกมาทั่วร่างกาย จะทำให้ร่างกายอยู่ในสภาวะตึงเครียด อ่อนล้า จนก่อให้เกิดอาการ Long COVID ในที่สุด

คนไข้กลุ่มใด เสี่ยงภัย Long COVID มากที่สุด?
แน่นอนว่าคนที่จะป่วยเป็น Long COVID ได้นั้น จะต้องเป็นผู้ป่วยที่หายจากการติดเชื้อโควิดแล้ว แต่ทั้งนี้ โอกาสในการเกิดภาวะ Long COVID จะอยู่ที่ประมาณ 30-70% ของผู้ติดเชื้อที่หายดีแล้วทั้งหมด ซึ่งมักจะพบมากในกลุ่มคนไข้ที่มีอาการรุนแรง กล่าวคือ ยิ่งคนไข้มีอาการป่วยรุนแรงจากการติดเชื้อโควิดมากเท่าไร เมื่อหายดีแล้วก็จะยิ่งมีโอกาสป่วยเป็น Long COVID มากเท่านั้น เพราะในช่วงที่ป่วยหนักนั้น ร่างกายจะต้องสร้างภูมิคุ้มกันออกมาต่อสู้กับเชื้อโควิดมากเป็นพิเศษ นอกจากนี้ยังพบว่า กลุ่มคนไข้ผู้หญิงมีโอกาสเป็น Long COVID มากกว่าผู้ชาย และผู้ป่วยในกลุ่มโรคอ้วน โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง จะมีโอกาสป่วยเป็น Long COVID และมีอาการรุนแรงมากกว่ากลุ่มอื่นๆ

อาการ Long COVID เป็นอย่างไร? หมั่นเฝ้าสังเกตไว้เพื่อรู้เท่าทัน
การจะทราบได้ว่าตัวเราหรือคนใกล้ตัวเรานั้น กำลังเสี่ยงจากอาการ Long COVID หรือไม่ สามารถสังเกตได้จากอาการต่างๆ ดังต่อไปนี้

  • อาการที่คล้ายกันกับตอนยังติดเชื้อโควิด ได้แก่ รู้สึกครั่นเนื้อครั่นตัว เหมือนยังมีไข้อยู่ตลอด ไอเรื้อรัง แม้จะหายจากการติดเชื้อมาแล้วเป็นเดือนก็ยังมีอาการไออยู่ไม่หาย รวมถึงอาจมีอาการเจ็บคอร่วมด้วย
  • อาการสำคัญเพิ่มเติมนอกเหนือจากตอนติดเชื้อ ได้แก่ อ่อนเพลีย ถือเป็นอาการหลักที่พบได้ในเกือบทุกคนที่เป็น Long COVID โดยจะรู้สึกอ่อนเพลียมาก ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ และข้อต่อต่างๆ มีอาการผมร่วง สมองล้า ปวดศีรษะ รวมถึงอาจพบอาการท้องเสียร่วมด้วยก็ได้ นอกจากนั้นก็อาจพบอาการทางด้านจิตใจ คือ นอนไม่หลับ เครียด หรืออาจรุนแรงจนถึงขั้นพบว่ามีอาการซึมเศร้าซึ่งเป็นผลมาจากความเครียด และความวิตกกังวลในช่วงกักตัวตอนติดเชื้อ

หากสงสัยว่าเป็น Long COVID ทำไมจึงควรรีบพบแพทย์?
แม้กลุ่มอาการ Long COVID จะหายเองได้ แต่หากดูแลตัวเองไม่ดีพอ อาการก็จะรุนแรงขึ้นจนกระทบต่อการดำเนินชีวิต การทำงาน ทำให้คุณภาพชีวิตย่ำแย่ลงและไม่มีความสุข ทั้งนี้ ด้วย Long COVID เป็นกลุ่มอาการที่จะอยู่กับผู้ป่วยประมาณ 3 เดือนเป็นอย่างน้อย ซึ่งถือเป็นระยะเวลาที่ยาวนาน ดังนั้น เมื่อพบว่ามีอาการต้องสงสัยเสี่ยงเป็น Long COVID จึงควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรักษาฟื้นฟูร่างกายให้กลับมาแข็งแรงและใช้ชีวิตได้อย่างเป็นปกติโดยเร็ว นอกจากนั้นแล้ว กลุ่มอาการต้องสงสัยที่เกิดขึ้น อาจไม่ได้เป็นผลมาจาก Long COVID ก็ได้ แต่เป็นผลมาจากภาวะแทรกซ้อน หรือความผิดปกติอื่นๆ ที่ควรรักษา เช่น

  • ตับอักเสบหรือไตวาย จากการรับประทานฟ้าทะลายโจรมากเกินไปในช่วงกักตัวรักษาโควิด ซึ่งอาจทำให้หลังหายดีแล้ว ยังพบอาการตัวร้อน มีไข้ ที่คล้ายกับ Long COVID ได้ และอาการจะยิ่งทรุดหนักมากขึ้น หากไม่ได้รับการรักษา
  • ภาวะลิ่มเลือดอุดตัน กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ อันเป็นผลมาจากการรักษาโควิด ซึ่งอาจทำให้มีอาการ หอบ เหนื่อย อ่อนเพลีย ที่เหมือนกับ Long COVID จึงควรไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยให้ชัดว่าเป็นอาการผิดปกติจากโรคใด
  • อ่อนเพลียจากภาวะ CFS (Chronic Fatigue Syndrome) หรือ กลุ่มอาการอ่อนเพลียเหนื่อยล้าเรื้อรัง ซึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะนี้จะคล้ายกันกับ Long COVID คือ เป็นผลมาจากความเครียด และการติดเชื้อไวรัส การไปพบแพทย์จึงเป็นหนทางที่จะช่วยยืนยันว่าเราเป็นโรคใดกันแน่ เพื่อการรักษาที่ถูกต้อง

รักษาฟื้นฟูร่างกายอย่างไร เมื่อวินิจฉัยพบว่าเป็น Long COVID
หลังได้รับการตรวจวินิจฉัยแล้วว่าเป็น Long COVID แพทย์จะดำเนินการรักษา ดูแลตามอาการที่เกิดขึ้น โดยในกลุ่มคนไข้ที่มีอาการอ่อนเพลีย แพทย์จะแนะนำให้ทำการตรวจเลือด เพื่อตรวจสอบว่ามีความผิดปกติอะไรในร่างกาย ซึ่งสามารถใช้โปรแกรมในการตรวจรักษาเดียวกันกับกลุ่มอาการอ่อนเพลียเรื้อรัง หรือ CFS ได้ โดยจะมีการตรวจเม็ดเลือดแดงว่ามีภาวะโลหิตจางหรือไม่ ตรวจสอบดูสมดุลเกลือแร่ในร่างกาย รวมถึงตรวจความผิดปกติของฮอร์โมน โดยเฉพาะฮอร์โมนไทรอยด์และฮอร์โมนต่อมหมวกไต ที่มักส่งผลต่ออาการอ่อนเพลียมากที่สุด หลังจากนั้นก็จะตรวจวิตามินดีในร่างกาย เพราะหากวิตามินดีต่ำ จะทำให้ปวดเมื่อย เหนื่อยเพลียง่าย ซึ่งเมื่อพบแล้วว่ามีปัจจัยส่วนใดผิดปกติจนทำให้เกิดอาการอ่อนเพลีย ก็จะเสริมฮอร์โมน ปรับเกลือแร่ เสริมวิตามิน หรือใช้วิธีต่างๆ เพื่อให้ร่างกายได้รับการฟื้นฟูอย่างเหมาะสมมากขึ้น

ดูแลสุขภาพร่างกายอย่างไร ให้ปลอดภัยจากอาการ Long COVID
ทั้งผู้ป่วยที่ได้รับการตรวจวินิจฉัยจากแพทย์แล้ว หรือผู้ป่วยที่ยังไม่ได้รับการตรวจแต่ต้องการดูแลตัวเองให้หายดี หรือปลอดภัยจากอาการ Long COVID มากขึ้นนั้น สามารถทำได้ง่ายๆ ตามแนวทาง ดังต่อไปนี้

  • เสริมโปรตีนให้กับร่างกาย โดยรับประทานได้ทั้งเนื้อสัตว์ นม ถั่ว ไข่ และธัญพืช ซึ่งปริมาณโปรตีนที่เหมาะสมนั้นสามารถเทียบได้ตามน้ำหนักตัวคือ 1 กรัม ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม
  • รับประทานอาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ เพราะขณะติดเชื้อร่างกายจะสร้างอนุมูลอิสระออกมามากกว่าปกติ ซึ่งส่งผลให้เซลล์ต่างๆ ในร่างกายเสียหาย ดังนั้น การทานอาหารที่เสริมสารต้านอนุมูลอิสระ เช่น ผัก ผลไม้ จึงช่วยได้
  • หลีกเลี่ยงอาหารประเภท Junk Food หรือ อาหารที่ไม่มีประโยชน์ อาทิ อาหารสำเร็จรูป อาหารแช่แข็ง อาหารหมักดอง เพราะไม่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ทั้งยังควรงดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ผลไม้หวานๆ ด้วย เพราะกลุ่มอาหารเหล่านี้มีผลทำให้ภูมิคุ้มกันในร่างกายต่ำลง
  • เมื่ออ่อนเพลียมากๆ แนะนำแบ่งอาหารทานเป็นมื้อย่อยๆ หลายๆ มื้อ เพื่อรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้สูงได้ตลอดวัน จะได้อ่อนเพลียน้อยลง โดยอาจกระจายอาหารที่ทานต่อวันออกเป็น 4-6 มื้อ
  • เสริมวิตามินและเกลือแร่ที่จำเป็นต่อร่างกาย เช่น วิตามิน A B C และ D แมกนีเซียมที่ช่วยการทำงานของกล้ามเนื้อ และน้ำมันปลาที่มีคุณสมบัติในการต้านการอักเสบ
  • นอนพักผ่อนให้เพียงพอ ทำกิจกรรมที่ชื่นชอบเพื่อผ่อนคลายความเครียด หรืออาจทานอาหารเสริมเพื่อช่วยในการนอนหลับ เช่น เมลาโทนิน ตลอดจนสารสกัดอื่นๆ อาทิ แอลทีลานินจากชาเขียวและคาโมมาย เป็นต้น
  • ปรึกษาจิตแพทย์ หากพบอาการนอนไม่หลับรุนแรง และมีความเครียดมาก เพราะเป็นผลมาจากปัญหาด้านจิตใจ

กลุ่มอาการ Long COVID เป็นกลุ่มอาการที่พบได้สูงมากของผู้ป่วยที่หายจากอาการติดเชื้อแล้ว ซึ่งแม้จะไม่ได้รุนแรงจนถึงขั้นเป็นอันตรายต่อชีวิต และสามารถหายเองได้ แต่ด้วยการเป็นกลุ่มอาการเรื้อรัง จึงทำให้คุณภาพการใช้ชีวิตของผู้ป่วยย่ำแย่ลง จนอาจทำให้ในระหว่างที่ปล่อยให้หายเองนั้น อาการบางอย่างอาจรุนแรงจนส่งผลกระทบเป็นอย่างมาก เช่น อาจอ่อนเพลีย เครียด จนนำไปสู่ภาวะซึมเศร้า เป็นต้น ด้วยเหตุนี้เอง สำหรับผู้ที่หายป่วยจากการติดเชื้อแล้ว หรือผู้ที่มีคนใกล้ชิดหายจากอาการติดเชื้อแล้ว จึงควรหมั่นสังเกตอาการ เฝ้าระวังภาวะ Long COVID ให้ดี โดยหากพบอาการต้องสงสัย โดยเฉพาะอาการหอบเหนื่อย อ่อนเพลีย เช่น ก่อนเป็นโควิดเดินขึ้นบันได 2-3 ชั้นได้สบายๆ แต่หลังจากหายโควิดแค่เดินขึ้นบันไดไม่กี่ขั้นก็ต้องหยุดพัก หากพบการเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ ควรรีบมาปรึกษาแพทย์ เพื่อตรวจวินิจฉัย และรักษา ทำการฟื้นฟูร่างกายให้กลับมาแข็งแรงดังเดิม จะได้อยู่อย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดีและไร้กังวลอย่างแท้จริง

อ้างอิง
บทความสุขภาพ
แหล่งที่มา : เว็บไซต์  https://www.phyathai.com/article_detail/3617/th/หายโควิดแล้วอย่าชะล่าใจ_เพราะอาจเสี่ยงภายจาก_Long_COVID?branch=PYT3

“โดยนักศึกษาหรือบุคลากรภายในมหาวิทยาลัยที่เคยติดเชื้อ COVID-19 แล้ว สามารถนำวิธีการดูแลสุขภาพ การดูแลตนเองหลังจากติดเชืัอโควิดแล้ว โดยนำความรู้ที่ได้จากบทความนี้นำมาปรับใช้ในการดูแลสุขภาพของตนเองได้”

โดยนางสาวกัญญา  พิทักษ์ไตรกุล
เจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไป
สังกัดศูนย์สหกิจศึกษาและพัฒนาอาชีพ

Facebook Comments Box