
ครั้งที่แล้วเราได้ทราบเกี่ยวกับองค์ประกอบในการสร้าง Dashboard กันไปแล้ว แต่เพียงแค่นั้นอาจจะยังไม่สามารถนำไปใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพ เพราะ Dashboard แต่ละอันมีวัตถุประสงค์เฉพาะในการใช้งาน และการเข้าใจวัตถุประสงค์การใช้งาน จะทำให้เราสามารถเลือกข้อมูลมาแสดงผลได้เหมาะสม โดยจะขอแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มตามประเภทของการใช้งาน
1. Operational Dashboard
เหมาะสำหรับ : พนักงานระดับปฏิบัติการ
Dashboard ประเภทนี้เน้นการใช้งานที่ต้องการติดตามผลแบบเรียลไทม์ เพื่อแก้ไขปัญหาได้ทันท่วงที ส่วนใหญ่จะเลือกนำเสนอข้อมูลในรูปแบบของ Transaction Logs ที่จะเห็นข้อมูลเป็นลักษณะแถวลงมา ทำให้หาข้อมูลหรือปัญหาได้ทีละอัน ช่วยให้แก้ปัญหาหน้างานได้ง่ายขึ้น
2. Analytical Dashboards
เหมาะสำหรับ : สำหรับหัวหน้าพนักงาน
Dashboard ประเภทนี้เน้นการติดตามผลการดำเนินงาน ตัวชี้วัด แนวโน้มของปัญหา ช่วยให้ทีมมองเห็นข้อมูลหรือปัญหาไปในทิศทางเดียวกัน ส่วนใหญ่จะมีการเขียนสูตรเพื่อนำเสนอ KPI หรือ Metric ต่าง ๆ ที่มีการเชื่อมข้อมูลจากหลาย ๆ แหล่งเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อให้เห็นภาพรวมและวิเคราะห์ปัญหาได้ง่าย จะไม่เน้นการนำเสนอข้อมูลในรูปแบบของ Transaction Logs มากเท่า Operational Dashboards ที่จะมีการลงรายละเอียดของข้อมูลย่อย
3. Strategic Dashboards
เหมาะสำหรับ : ผู้บริหาร
Dashboards ประเภทนี้จะมีความคล้ายคลึงกับ Analytical Dashboards มีฟังก์ชั่นการใช้งานเหมือนกัน โดยจะเพิ่มเติมในเรื่องของการวัดผลที่มีระยะเวลายาวนานกว่าเพื่อใช้ประกอบการวางแผนในอนาคต การคาดการณ์โดยศึกษาจากข้อมูลเก่าในอดีต รวมไปถึงข้อคิดเห็น คำแนะนำต่าง ๆ ที่ได้จากการเก็บข้อมูลมาประกอบในการพิจารณา
ท่านใดที่อ่านมาถึงตรงนี้ วันนี้ท่านได้ทราบแล้วว่า Dashboard นั้นสามารถแบ่งได้หลายรูปแบบ และมีการนำเสนอข้อมูลที่แตกต่างกันออกไป ตามจุดประสงค์ของการใช้งานและผู้ใช้งาน เพราะฉะนั้นจะมาเป็น Dashboard เหมือนกันไม่ด้ายยย ในครั้งหน้าเราจะไปทำความรู้จัก Dashboard ในหัวข้อไหนกันอีก อย่าลืมติดตามกันด้วยนะครับ
