Generic selectors
Exact matches only
Search in title
Search in content
Post Type Selectors

สารปฐมภูมิ และสารทุติยภูมิในสมุนไพร

“สมุนไพรที่เรา ๆ ใช้กันมีสารอะไรบ้าง ใครรู้บ้าง แล้วสมุนไพรแต่ละชนิดให้แทนกันได้ไหม ปลอดภัยไหมเอ่ย?”

ใครหลาย ๆ คนก็คงสงสัยใช่ไหมครับ ว่าสมุนไพรที่เราเรียก ๆ กันนั้น แท้จริงแล้ว มีสารสำคัญอะไรบ้าง แล้วมีประโยชน์ ใช้ได้จริงหรือไม่ อย่างไร หรือสามารถใช้ได้ปลอดภัย ไร้กังวล เพราะมาจากธรรมชาติ อย่างนั้นจริงหรือ ล้วนเป็นคำถามที่ต้องการคำตอบแน่นอนใช่ไหมครับ

สารสำคัญที่พบในพืชสมุนไพรนั้น สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ primary metabolites หรือที่เราเรียกว่า สารปฐมภูมิ และ secondary metabolites หรือที่เราเรียกว่าสารทุติยภูมิ ครับผม โดย

  • สารปฐมภูมิ (Primary metabolites) ที่พบในพืชชั้นสูงทั่วไป เป็นผลผลิตจากการสังเคราะห์แสงของพืช หรือที่เรารู้จักกันในนามของ Photosynthesis โดยมนุษย์นำมาใช้ประโยชน์ได้นะครับ เช่น ใช้เป็นอาหาร ได้แก่ ไขมัน, โปรตีน, เม็ดสี หรือรงควัตถุ, พวกเกลืออนินทรีย์ เป็นต้น ซึ่งสามารถจัดกลุ่มพวกสารปฐมภูมิ ได้เป็นกลุ่มย่อย ๆ ดังนี้

คาร์โบไฮเดรต : จัดเป็นสารประกอบอินทรีย์ (Organic compound) ซึ่งจะมีหมู่ Aldehyde หรือ ketone พร้อม Poly-hydroxyl group โดยสารกลุ่มนี้ จะมีองค์ประกอบที่เป็น carbon, hydrogen และ oxygen ในอัตรา 1 : 2 : 1 โดยสารกลุ่มนี้ จะมีใช้ในทางเภสัชกรรม เช่น แป้ง (Starch), Acacia, Tragacanth, Cellulose และอนุพันธ์ของ cellulose, Agar, Sucrose, Honey, Mannitol, Sorbitol, Alginate, Streptomycin (Trisaccharide)

น้ำผึ้งจากธรรมชาติ เป็นสารให้ความหวาน ให้พลังงาน และยังใช้เป็นน้ำกระสายยาในบางตำรับยาอีกด้วย

โปรตีน และกรดอะมิโน : จัดเป็นสารประกอบอินทรีย์ (Organic compound) ซึ่งมี nitrogen (N) เป็นองค์ประกอบ โดยพืชมีการจัดเก็บสิ่งเหล่านี้ในรูปของ Aleurone grain ซึ่งสารอาหารจำพวก protein และ amino acid นี้ สามารถนำมาใช้บำรุงร่างกาย ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ ที่มีใช้ในทางเภสัชกรรม เช่น Serum, Globulin, Antitoxin, Gelatin, Collagen,   Enzymes เป็นต้น นอกจากนี้บางชนิดมีพิษ เช่น Toxic protein ที่ชื่อ Ricin จากการบีบน้ำมันละหุงแบบบีบร้อน เป็นต้น 

น้ำนมถั่วเหลือง อุดมไปด้วยสารอาหารประเภทโปรตีน และสารต้านอนุมูลอิสระ พร้อมทั้งยังมีสารที่ออกฤทธิ์คล้ายเอสโตรเจนอีกด้วย

 ไขมัน : จัดเป็นสารประกอบอินทรีย์ (Organic compound) เช่นเดียวกัน เช่น กรดไขมัน ซึ่งสารประกอบอินทรีย์กลุ่มนี้ จะไม่ละลายน้ำ แต่จะละลายได้ดีในตัวทำละลายอินทรีย์ สามารถเกิดปฏิกิริยาทางเคมีกับสารจำพวกเบส เกิดปฏิกิริยาที่เรียกว่า Saponification เกิดเป็น soap ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ธรรมชาติในกลุ่มนี้ เช่น Castor oil, Coconut oil เป็นต้น ซึ่งพวกกรดไขมัน จะมีสองชนิดใหญ่ ๆ คือ กรดไขมันที่อิ่มตัว หรือ Saturated fatty acid และกรดไขมันที่ไม่อิ่มตัว หรือ Unsaturated fatty acid สำหรับประโยชน์ทางเภสัชกรรมของสารประกอบทางอินทรีย์กลุ่มนี้ เช่น Castor oil จากเมล็ดละหุ่ง (Cathartics), Olive oil (Emollient, stool softener), Arachis oil จากถั่วเหลือง (Solvent for injectable drug), และ Wax (Cream, Emulsion) เป็นต้น

น้ำมันมะกอกเป็นน้ำมันพืชซึ่งประชาชนในประเทศแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียนนิยมใช้กันมาก มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยวเป็นส่วนใหญ่ และอุดมด้วยวิตามิน เอ ดี อี เค และเอฟ ซึ่งมีประโยชน์ต่อร่างกายและผิวพรรณ
  • สารทุติยภูมิ (Secondary metabolites) ซึ่งได้จากการสังเคราะห์โดยพืช (Biosynthesis) โดยมีสารตั้งต้น หรือที่เรียกว่า substrates, และ enzymes ต่าง ๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง และมีความสำคัญ สารบางชนิดถูกสร้างขึ้นโดยพืช เมื่อพืชได้รับอันตราย หรือถูกรุกรานโดยศัตรูพืช เรียกสารเหล่านี้ว่า Phytoalexins สำหรับ Secondary metabolites ในพืช ได้แก่ สารกลุ่ม Alkaloids, Glycosides, และ Volatile oils เป็นต้น สารเหล่านี้มีฤทธิ์ทางชีวภาพ ซึ่งบางชนิดมีประโยชน์ สามารถนำมาใช้เป็นยาได้ แต่ในขณะเดียวกันบางชนิดก็มีพิษ

สารกลุ่ม Alkaloids : จัดเป็นสารประกอบอินทรีย์ ที่เป็น N-containing compounds สามารถพบได้ในพืชชั้นสูง มีรสขม หากอยู่ในรูป free base จะไม่ละลายน้ำ แต่จะละลายได้ในตัวทำละลายอินทรีย์ จะมีความเป็นเบส โดยจะสามารถเปลี่ยนรูปไปเป็นเกลือได้เมื่อทำปฏิกิริยากับกรด ซึ่งจะทำให้สามารถละลายน้ำได้ โครงสร้างของสารจำพวก alkaloid จะต้องประกอบไปด้วย cyclic structure ซึ่งมี nitrogen ที่อยู่ในฟอร์มของ negative oxidation state เช่น caffeine จากชา และกาแฟ, piperine จากพริกไทย และดีปลี เป็นต้น ซึ่งสารจำพวก alkaloids นี้มีใช้ในทางเภสัชกรรม เช่น Analgesic หรือแก้ปวด, Anti-cough หรือแก้ไอ, Antihypertensive drugs, Local anesthetics, Bronchodilators, เป็นต้น

กาแฟ มีสารสำคัญในกลุ่ม Alkaloid คือ Cafeine ซึ่งมีฤทธิ์กระตุ้นร่างกายให้รู้สึกสดชื่น และยังมีฤทธิ์ขับปัสสาวะอีกด้วย

สารกลุ่ม Glycosides : เป็นสารประกอบอินทรีย์ที่ประกอบไปด้วยสองส่วน คือ Aglycone และ Glycone ซึ่งเชื่อมต่อกันด้วย Glycosidic linkage สารกลุ่มนี้จะมีความหลากหลาย มีหลายชนิดย่อย โดยสามารถแบ่งเป็นกลุ่มได้ตามโครงสร้างของส่วน Aglycone ซึ่งมีดังต่อไปนี้

-Phenolic glycoside เช่น Capsaicin จากพริก  

-Tannin แบ่งเป็น Hydrolysable tannin และ Condense tannin

-Coumarin มีการพัฒนาไปเป็นยาต้านการแข็งตัวของเลือด

-Benzoquinone และ Naphthoquinone มีความสำคัญทางเภสัชกรรม โดยเฉพาะ Naphthoquinone เช่น Lawsone จากพวกเทียนบ้าน, Plumbagin จากรากของเจตมูลเพลิงแดง เป็นต้น

-Anthraquinone มีประโยชน์ทางยามากมาย แต่ที่ใช้หลัก ๆ จะเป็นยาถ่าย เช่น ยาดำ ที่ได้จากยางสีเหลืองของว่านหางจระเข้ ซึ่งเมื่อถูกอากาศ จะเปลี่ยนเป็นสีดำ ประกอบไปด้วยสารสำคัญจำพวก Anthraquinones

-Flavonoids เป็นกลุ่มใหญ่ ซึ่งมีประโยชน์ทางยามากมาย เช่น Antioxidants

-Stilbene เช่น trans-Resveratrol ในพวกองุ่น เป็นต้น

-Flavonolignans สารกลุ่มนี้หลายชนิดใช้เป็นยาป้องกันตับ (Hepatoprotective) และขับน้ำนมในหญิงให้นมบุตร เป็นต้น

-Iridoid glycosides สารกลุ่มนี้ในสมุนไพร สามารถใช้รักษาพิษจากแมลง สัตว์ กัดต่อยได้

-Cardiac glycoside มีผลต่อการทำงานของหัวใจ

-Saponin ทำให้เม็ดเลือดแดงแตก เกิดฟองเมื่อสัมผัสกับน้ำ สมุนไพรที่มีสารกลุ่มนี้ หลายตัวใช้เป็นสารชะล้าง ซักผ้า ทำแชมพูสระผม และมีสรรพคุณต้านเชื้อราได้ เป็นต้น

-Steroidal glycoside ส่วนที่เป็น Aglycone มีประโยชน์ เช่น นำมาเป็นสารตั้งต้นในการผลิตยาจำพวก hormone เป็นต้น

-Cyanogenic glycoside ซึ่งสามารถปลดปล่อย hydrogen cyanide (HCN) ออกมาได้ ทำให้เกิด Cyanosis เมื่อได้รับไปปริมาณมากพอ

-Isothiocyanate glycoside พบเป็นสารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย พบในเครื่องเทศบางชนิด เช่น มัสตาร์ด เป็นต้น

          สารจำพวก Aglycone เมื่อเชื่อมต่อกับน้ำตาล จะทำให้ความเป็นขั้วของสารดังกล่าวเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะทำให้มีคุณสมบัติในการละลายในตัวทำละลายที่มีขั้ว เช่น methanol หรือ ethanol ซึ่งเดิมนั้น Aglycone จะละลายได้ดีในตัวทำละลายอินทรีย์ เช่น Diethyl ether, Ethyl acetate, Chloroform เป็นต้น ตัวอย่างของสารสำคัญในกลุ่มนี้ เช่น Sennoside A และ Sennoside B จากมะขามแขก หรือ Senna alexandrina (Leguminosae-Caesalpinoideae) ซึ่งมีสรรพคุณเป็นยาระบาย (Laxative) ซึ่งปัจจุบันนิยมใช้เป็นยาระบายในผู้ป่วย แต่จะต้องใช้ด้วยความระมัดระวัง โดยเฉพาะผู้ป่วยที่จำกัดปริมาณของ Potassium เช่นในผู้ป่วยโรคไต เป็นต้น ผลิตภัณฑ์จากมะขามแขกที่มีขายในท้องตลาด เช่น Senokot เป็นยาเม็ดมะขามแขก, ชามะขามแขก ซึ่งจัดทำเป็นซอง ทำให้ง่ายต่อการชงดื่ม โดยใช้น้ำร้อนในการชงดื่ม เป็นต้น          

สำหรับแหล่งวัตถุดิบของพืชสมุนไพรที่นำมาใช้เป็นยานั้น เดิมได้จากการเก็บเกี่ยวจากธรรมชาติ ป่า เขาต่าง ๆ เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันบางชนิดเป็นที่ต้องการของท้องตลาดมาก ก็จะมีการเพาะปลูก และมีการพัฒนาการเพาะปลูกเพื่อให้ได้ผลิตผลที่มีคุณภาพ นอกจากนี้ยังมีการใช้เทคนิคอื่น ๆ เพื่อเพิ่มปริมาณสารสำคัญที่เป็นยา และพัฒนาสายพันธุ์ของพืชสมุนไพร โดยใช้เทคนิคการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชสมุนไพร เป็นต้น การเพาะปลูกพืชสมุนไพรนั้น จะมีแนวทางในการปฏิบัติการที่ดีในการเพาะปลูกพืช เช่น Good Agricultural Practice หรือ GAP ซึ่งเป็นแนวทางการปฏิบัติในไร่นา เพื่อผลิตสินค้าปลอดภัย ปลอดศัตรูพืช และคุณภาพถูกใจผู้บริโภค เน้นวิธีการควบคุมและป้องกันการเกิดปัญหาในกระบวนการผลิต สำหรับข้อกำหนด และเกณฑ์ที่กำหนด พร้อมวิธีการตรวจประเมินระบบการจัดการคุณภาพการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืช หรือ Good Agricultural Practice (GAP)

จากตรงนี้ เราจะเห็นว่าในพืชสมุนไพรแต่ละชนิดนั้น ก็จะมีสารสำคัญที่แตกต่างกันออกไป การเลือกใช้พืชสมุนไพรให้เหมาะสม โดยคำนึงถึงสารสำคัญที่พบในพืชสมุนไพรนั้น ๆ จึงมีความสำคัญ แน่นอนพืชสมุนไพรที่มีสารกลุ่มเดียวกัน หรือสารชนิดเดียวกันอาจจะนำมาใช้ทดแทนกันได้ แต่หากมีสารสำคัญไม่เหมือนกัน หรืออาจจะมีสารสำคัญที่มีฤทธิ์ตรงกันข้ามกันไปเลย อันนี้ก็ต้องระมัดระวังให้มาก เพราะอย่าลืมว่าพืชสมุนไพรมีทั้งที่เป็นประโยชน์หากใช้ถูกต้อง และมีโทษหากใช้ไม่ถูกต้อง

“อย่าลืมนะครับ …..มีปัญหาเรื่องยา ปรึกษาเภสัชกร นะครับ”

เอกสารอ้างอิง

Bocso, Nicolas-Sebastian & BUTNARIU, Monica. (2022). The biological role of primary and secondary plants metabolites. Critical Reviews in Food Science and Nutrition. 5. 1-7.

P.J. Houghton, Chapter 8 – Traditional plant medicines as a Source of new drugs, Editor(s): William Charles Evans, Daphne Evans, Trease and Evans’ Pharmacognosy (Sixteenth Edition), W.B. Saunders, 2009, Pages 62-74

Facebook Comments Box