Generic selectors
Exact matches only
Search in title
Search in content
Post Type Selectors

การปรับปรุงพัฒนางานด้วย PDCA

เรียบเรียงโดย นางสาวฐิติมา  สีขาว ศูนย์ส่งเสริมวัฒนธรรมและการกีฬา มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

แนวคิด PDCA ได้รับการพัฒนาขึ้นเป็นครั้งแรกโดย Walter Shewhart แนวคิดนี้เน้นให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างมีระบบ โดยมีเป้าหมายให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง วงจร PDCA เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายมากขึ้น เมื่อปรมาจารย์ด้านการบริหารคุณภาพ อย่าง W.Edwards Deming ได้นำมาเผยแพร่ให้เป็นเครื่องมือสำหรับการปรับปรุงกระบวนการ วงจรนี้จึงมีอีกชื่อหนึ่งว่า “Deming Cycle” (สุธาสินี โพธิจันทร์, ออนไลน์)

โครงสร้าง PDCA ประกอบด้วย
1. การวางแผน (Plan) คือ การวางแผนการดำเนินงานและทบทวนสภาพปัจจุบัน โดยปรับปรุงกระบวนการทำงานหรือพัฒนาสิ่งใหม่ เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในการทำงาน หรือพัฒนาสิ่งที่ดีอยู่แล้วในการทำงานให้ดียิ่งขึ้น โดยกระบวนการอาจจะเริ่มจาก

  • –  การคัดเลือกกระบวนการทำงานที่ควรปรับปรุง หรือระบุปัญหา
  • –  นำมาวิเคราะห์ปัญหา อุปสรรคและแนวทางแก้ไข เพื่อให้ทราบถึงสาเหตุปัจจัย สาเหตุหลัก สาเหตุรอง ซึ่งอาจใช้เครื่องมือ เช่น แผนผังก้างปลา (Fish bone Diagram) การระดมสมอง (Brain storming) หรือเครื่องมือ Why – Why Analysis
  • –  ทำแนวทางแก้ไขปัญหาและอุปสรรค
  • –  จากนั้นก็จัดทำแผนปฏิบัติการ (Action Plan) เพื่อวางแผนการปรับปรุงกระบวนการ ซึ่งควรกำหนดเป้าหมาย กำหนดวัตถุประสงค์ กำหนดผลลัพธ์/ตัวชี้วัด ระบุระยะเวลาดำเนินการ ระบุงบประมาณที่ใช้

2.  การปฏิบัติตามแผน (Do) คือ การดำเนินการเพื่อให้ได้ตามแผนที่กำหนดไว้ตั้งแต่ต้น กรณีที่ไม่สามารถทำตามแผนได้ อาจมีเหตุการณ์ที่ไม่สามารถควบคุมได้ การปรับเปลี่ยนแผนก็เป็นแนวทางหนึ่งที่สามารถทำได้ เรียกว่าการทำ PDCA ย่อยใน Do

3. การตรวจสอบ (Check) คือ การประเมินว่าการปฏิบัติตามแผนการดำเนินงานเป็นไปตามความคาดหวังหรือไม่ โดยนำตัวชี้วัดที่กำหนดไว้ในแผนมาตรวจสอบ เป็นการเปรียบเทียบผลลัพธ์กับแผนที่ได้ปฏิบัติ ประเมินว่าวิธีที่เลือกนั้นเหมาะสมมากน้อยเพียงใดในการแก้ปัญหา และหากการปฏิบัติไม่เป็นไปตามแผนก็ต้องวิเคราะห์หาสาเหตุว่าเกิดจากอะไรเพื่อนำไปปรับปรุงพัฒนาให้ดีขึ้นต่อไป โดยอาจจะใช้เครื่องมือในการตรวจสอบ เช่น สร้างแบบฟอร์มบันทึกข้อมูลที่ออกแบบขึ้นเอง, Check sheet, Pareto

4. ปรับปรุงแก้ไข (Act) คือ การนำผลประเมินที่ได้มาทำการวิเคราะห์เพื่อพัฒนาแผนในการปรับปรุงต่อไป ในส่วนนี้ควรจะเสนอแนะปัญหาแนวทางการปรับปรุงแก้ไขปัญหา หรือการพัฒนาระบบที่มีอยู่แล้วให้ดียิ่งขึ้นไปอีกไม่มีที่สิ้นสุด

  • กรณีผลที่เกิดขึ้นเป็นไปตามแผนที่วางไว้ ให้นำวิธีการหรือกระบวนการนั้น ปรับใช้ให้กลายเป็นนิสัยหรือมาตรฐาน และพยายามคิดหาทางปรับปรุงกระบวนการให้ดียิ่งขึ้นไปอีก
  • กรณีผลที่เกิดขึ้นไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้ ให้นำข้อมูลที่รวบรวมไว้มาวิเคราะห์และหาแนวทางว่าควรดำเนินการอย่างไรต่อไป

เมื่อผู้ปฏิบัติงานได้นำแนวคิดวงจรการบริหารงานคุณภาพ PDCA มาใช้เป็นแนวทางการดำเนินงานพัฒนา/ปรับปรุงกระบวนการทำงานนั้น หากนำไปใช้เรื่อย ๆ ก็จะกลายเป็นการปรับปรุงกระบวนการทำงานอย่างต่อเนื่อง (Continuous Improvement) นำไปสู่การพัฒนากระบวนการทำงานและผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลเพิ่มขึ้น

ที่มา : 
http://www.manage.rbru.ac.th/images/Book/PDCA.pdf
https://www.ftpi.or.th/2015/2125
https://www.iok2u.com/article/innovation/pdca-cycle-deming-cycle
https://supplychainguru.co.th/articles/soft-skills/what-is-pdca-cycle/

Facebook Comments Box