Generic selectors
Exact matches only
Search in title
Search in content
Post Type Selectors

ตำนานมโนราห์ (๒)

ตำนานโนราที่น่าสนใจอีกตำนานซึ่งได้รับการบอกเล่าจากโนรายก ชูบัว ศิลปินแห่งชาติจังหวัดสงขลา บันทึกเป็นคำบอกเล่าโดย โนรา ผู้ช่วยศาสตราจารย์สาโรช นาคะวิโรจน์ มีดังนี้

ยังมีเมืองอยู่เมืองหนึ่งมีเจ้าเมืองชื่อ พระยาสายฟ้าฟาด มีชายาชื่อ นางศรีดอกไม้ มีธิดาชื่อ นางนวลทองสำลี นวลทองสำลี ธิดามีพี่เลี้ยง 4  คือแม่แขนอ่อน แม่เภา แม่เมาคลื่น และแม่ยอดตอง เมื่อนางนวลทองสำลีโตเป็นสาว พระอินทร์จึงส่งให้เทพบุตรมาจุติในครรภ์ เมื่อครรภ์ของนางโตขึ้นจนกระทั่ง พระบิดาเห็นได้ชัด ก็กักขังนางไว้ในวัง แต่เมื่อเห็นว่าไม่สามารถปิดบังความได้มิดชิด จึงจับนางลอยแพพร้อมกับพี่เลี้ยงทั้งสี่ แพได้ลอยไปติดที่เกาะกะชัง นางและพี่เลี้ยงก็ได้อาศัยอยู่ที่เกาะนั้น จนกระทั่งครบกำหนดคลอด นางก็ได้คลอดบุตรออกมาและตั้งชื่อว่า “อจิตกุมาร” เมื่อกุมารโตขึ้นก็ได้หัดรำด้วยตนเอง บางครั้งก็ไปหัดรำที่ท่าน้ำเพื่อดูเงาของตนเองว่ารำสวยหรือไม่ ฝึกรำอยู่เช่นนั้นจนมีความชำนาญ แล้วก็ได้ลามารดาเดินทางออกจากเกาะเที่ยวร่ายรำตามวิชาที่ได้ฝึกหัดมา 

จนกระทั่งมีชื่อเสียง แล้วความก็ได้ทราบถึงพระยาสายฟ้าฟาด จึงรับสั่งให้อจิตกุมารเข้าไปรำในวัง ครั้นพระยาสายฟ้าฟาดได้เห็นกุมารก็มีความแปลกใจที่หน้าตาของกุมาคล้ายคลึงกับนางนวลทองสำลี ผู้เป็นธิดา เมื่อกุมารรำเสร็จแล้วพระยาสายฟ้าฟาดจึงได้เรียกกุมารเข้ามาถาม จึงรู้ว่าเป็นหลานและด้วยความพอใจวิชาที่กุมารร่ายรำ จึงได้ประทานนามให้ว่า “ขุนศรีศรัทธา” พร้อมด้วยเครื่องทรงอันได้แก่ เทริด ทับทรวง สังวาล หางหงส์ กำไลต้นแขน กำไลปลายแขน กำไลมือ ปั้นเหน่ง ชายไหว ชายแครง สนับเพลา และยังสั่งให้เสนาไปรับนางนวลทองสำลีกลับเมือง 

เมื่อเสนาได้ไปรับนางนวลทองสำลีแล้ว ก็ให้นางพักอยู่ที่หน้าเมือง ทำพิธีสะเดาะเคราะห์ 3 วัน 2 ตั้งแต่วันพุธถึงวันศุกร์ โดยพระยาสายฟ้าฟาดได้เป็นประธานตั้งแต่เริ่มพิธีจนจบ พิธีนี้ต่อมาได้กลายเป็นธรรมเนียมในการทำพิธีกรรมของโนราที่จะต้องทำ 3 วัน 2 คืน เรียกว่า รำโรงครู คือ โนราจะต้องเข้าโรงในวันพุธและส่งครูในวันศุกร์ พิธีดังกล่าวได้แก่ พิธีแก้บน พิธีตัดจุกและพิธีครอบเทริด เมื่อเสร็จพิธีสะเดาะเคราะห์แล้ว จึงนำนางนวลทองสำลีเข้าเมือง ขุนศรีศรัทธาก็ได้ฝึกรำโนราให้แก่พวกเสนา อำมาตย์ ราชบริพารต่าง ๆ เช่นพระยาลุยไฟ พระยาโถมน้ำ ตาหลวงเสน ตาหลวงคง ซึ่งมีผลให้โนราได้แพร่หลายต่อมา (สาโรช นาคะวิโรจน์. 2538 : 3-4 )

ที่มา : E-book การแสดงโนราพื้นฐานสำหรับเยาวชน 
ศูนย์ส่งเสริมวัฒนธรรมวลัยลักษณ์  (อาศรมวัฒนธรรมวลัยลักษณ์)

Facebook Comments Box