Generic selectors
Exact matches only
Search in title
Search in content
Post Type Selectors

“บ่อขยะหมู่ 6”: ปัญหาและข้อสังเกต

“บ่อขยะหมู่ 6” เป็นบ่อขยะแห่งเดียวในตำบล ก. อำเภอ ข. จังหวัดนครศรีธรรมราช (ด้วยเหตุผลความละเอียดอ่อนของปัญหาขยะและการจัดการ บทความขนาดสั้นชิ้นนี้จึงปกปิดชื่อของหน่วยงานบริหารและองค์การปกครองที่เกี่ยวข้อง) ตั้งอยู่บนตีนเขาติดกับเขตจังหวัดตรัง ใกล้บ้านของหนึ่งในผู้เขียน ซึ่งก็ได้เติบโตมาพร้อมๆ กับบ่อขยะแห่งนี้ที่มีขนาดใหญ่โตขึ้นทุกวัน รองรับขยะจำนวนมหาศาลซึ่งเพิ่มปริมาณเนื่องจากการขยายตัวของอำเภอ

การที่มีบ่อขยะอยู่ในหมู่บ้านเล็กๆ ได้ส่งผลต่อทั้งผู้คนและธรรมชาติ บ่อขยะแบบฝังกลบที่ได้รับการจัดการไม่ดีพอ และพลาสติกที่ต้องใช้เวลามากกว่าชั่วอายุคนในการย่อยสลาย ย่อมส่งผลกระทบไปอีกนานแสนนาน แต่เรื่องราวของบ่อขยะยังมีอะไรมากกว่านั้น

 

วิถีชีวิตของหมู่บ้านก่อนการสร้างบ่อขยะ

หมู่ 6 ตำบล ก. ช่วงก่อนการเข้ามาตั้งบ่อขยะโดยองค์การบริหารส่วนตำบล อุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติและป่าต้นน้ำ ภูมิประเทศเป็นที่ราบสลับกับภูเขา ในบริเวณที่ตั้งบ่อขยะนั้น แต่เดิมเป็นป่าดงดิบอายุมากที่กินพื้นที่กว้างขวาง มีต้นไม้ใหญ่สูงเหยียดเป็นจำนวนมาก โดยบริเวณภูเขานั้นจะเป็นพื้นที่ต้นน้ำซึ่งไหลลงสู่พื้นที่ราบที่มีลักษณะเป็นแอ่งรับน้ำ นั่นทำให้เกิดระบบนิเวศแบบป่าพรุขึ้นในบางพื้นที่ ด้วยความที่มีความหลากหลายสูงของพืชพรรณ คนในพื้นที่จึงเรียกป่านั้นว่าเป็น “ป่าแก่” ในความหมายของการเป็นป่าต้นน้ำที่หล่อเลี้ยงชุมชน ใช้ทำการเกษตร สายน้ำจากบริเวณนี้ยังไหลไปลงแม่น้ำตรังอีกด้วย ขณะที่ในด้านภูมิอากาศ ด้วยสภาพพื้นที่ภูเขาและที่ราบลุ่ม และอยู่ใกล้ไปทางฝั่งอันดามัน บริเวณนี้จึงมีฝนตกชุกมากกว่าหลายอำเภอในนครศรีธรรมราช น้ำไหลเวียนอยู่ตลอด สามารถนำน้ำจากลำธารมาบริโภคได้โดยไม่ต้องกังวล

ผู้คนเริ่มเดินทางเข้ามาจับจองที่ดินในบริเวณพื้นที่ป่าหมู่ 6 บ้านเรือนที่อยู่อาศัยเพิ่มมากขึ้นจนกลายเป็นหย่อมชุมชนขนาดเล็กกระจัดกระจายกันไปตามแนวเขาและพื้นที่ราบ มีการขยายพื้นที่ทำกิน ทำไร่ทำสวน และใช้สอยทรัพยากรธรรมชาติจากป่าแก่นี้อย่างประปราย ป่าแห่งนี้ก่อนการดำเนินการของบ่อขยะยังเต็มไปด้วยต้นไม้ใหญ่ น้ำในลำห้วยจากต้นน้ำบนภูเขายังคงไหลตลอดทั้งปี สามารถบริโภค และจับสัตว์น้ำอย่างปลา หอย กบ เต่า ตะพาบน้ำไปจำหน่ายได้

ก่อนการเข้ามาของบ่อขยะไม่นาน ทั้งสังคมและวิถีชีวิตของผู้คนเริ่มผันเปลี่ยน จากเดิมที่คนเคยอยู่ร่วมและใช้สอยทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างจำกัดนั้นอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัย ผู้คนหลั่งไหลเข้ามามากขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้หมู่ 6 จากเดิมที่บ้านเรือนตั้งกระจัดกระจายเป็นหย่อมๆ กลายเป็นหมู่บ้านที่มีกลุ่มชุมชนขนาดใหญ่ขึ้น มีการลักลอบบุกรุกป่าไม้ดั้งเดิมเพื่อทำไร่สวนการเกษตร แนวโน้มการไม่แยแสธรรมชาติเริ่มเห็นชัดขึ้น กระทั่งการเข้ามาของบ่อขยะ

 

บ่อขยะหมู่ 6

การเปิดบ่อขยะหมู่ 6 ตำบล ก. เกิดขึ้นเมื่อปี 2548 เมื่อหนึ่งในสมาชิกหมู่บ้านได้รับเลือกตั้งเป็นหนึ่งในสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล ก. และได้เสนอให้มีการจัดตั้งบ่อขยะสำหรับรองรับขยะจากตัวอำเภอ ข. ซึ่งขยายใหญ่ขึ้นตามความเจริญ การเพิ่มจำนวนประชากรและจำนวนโรงงานได้เพิ่มปริมาณขยะจำนวนมากขึ้นพร้อมกัน องค์การบริหารส่วนตำบล ก. ในตอนนั้นจึงพยายามหาพื้นที่ที่จะสามารถรองรับและจัดการขยะเหล่านี้ หมู่ 6 เป็นพื้นที่เหมาะเหม็ง

ตามรัฐธรรมนูญปี 2540 โครงการใดของรัฐที่จะส่งผลกระทบต่อชุมชนจะต้องผ่านการกระบวนการประชาพิจารณ์โดยคนในชุมชน ด้วยเหตุนี้ จึงได้มีการเสนอโครงการบ่อขยะดังกล่าวต่อประชาคมหมู่บ้าน ให้มีการลงมติ แต่การทำประชาพิจารณ์ครั้งนั้นมีคนเข้าร่วมไม่ถึง 20 คน ฝ่ายสนับสนุนให้เหตุผลว่าหากยอมให้องค์การบริหารส่วนตำบลเข้ามาใช้พื้นที่สร้างบ่อขยะ จะทำให้การเสนอขอโครงการต่างๆ ของหมู่บ้านในอนาคตผ่านมติได้ง่ายขึ้น ซึ่งนั่นจะรวมถึงการได้เส้นทางคมนาคมสัญจรสะดวกสบาย ทำให้ขนส่งสินค้าเกษตรสะดวก ที่ดินที่เคยราคาต่ำก็จะราคาสูงขึ้น ได้น้ำประปาหมู่บ้าน และมีไฟฟ้าใช้ เหตุผลเหล่านี้ทำให้คนที่เคยลังเลไม่เอาบ่อขยะเริ่มเปลี่ยนความคิด แล้วบ่อขยะก็ได้รับการอนุมัติจากประชาคมหมู่บ้าน เริ่มสร้างและดำเนินงาน

ในส่วนของปริมาณขยะที่นำมาทิ้งยังบ่อขยะแห่งนี้ ได้เริ่มมีการบันทึกข้อมูลขยะอย่างเป็นทางการตั้งแต่ปี  2556 (ดูข้อมูลตัวเลขในตาราง) ในขณะที่แหล่งที่มาของขยะสู่บ่อขยะแห่งนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นขยะจากครัวเรือน รองลงมาจะเป็นจากโรงงาน และโรงพยาบาลตามลำดับ จากข้อมูลแสดงให้เห็นว่าปี 2562 เป็นปีที่มีการนำเข้าขยะจำนวนมากขึ้นมากกว่าสามเท่าจากปีก่อนๆ ปีดังกล่าวเป็นปีหลังสุดที่มีการจดบันทึกข้อมูล อาจสันนิษฐานต่อไปได้ว่า ในปีต่อๆ มาปริมาณนำเข้าขยะอาจยิ่งเพิ่มมากขึ้นจากปัจจัยของโรคระบาดที่ผู้คนกักตัวอยู่ในบ้าน และมีการสร้างขยะพลาสติกเพิ่มสูงขึ้น รวมถึงขยะที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งอย่างหน้ากากอนามัยอีกจำนวนมหาศาล นอกจากนี้ การที่บ่อขยะหมู่ 6 ได้นำเข้าขยะจากพื้นที่กว้างขวางมากขึ้นภายหลังจากหมดสัญญา จึงย่อมมีส่วนทำให้การนำเข้าขยะมีจำนวนที่พุ่งสูงขึ้นมากกว่าเดิมในช่วงหลังปีที่ได้รับการบันทึก

 

ปี

ปริมาณขยะที่เกิดขึ้น (ตัน/วัน)

ปริมาณขยะที่เกิดขึ้นในพื้นที่ให้บริการ (ตัน/วัน)

ปริมาณขยะที่เก็บขนไปกำจัด (ตัน/วัน)

ปริมาณขยะที่ถูกนำไปใช้ประโยชน์ (ตัน/วัน)

ปริมาณขยะ ที่กำจัดไม่ถูกต้อง (ตัน/วัน)

2556

4.00

4.00

4.00

0.00

4.00

2557

5.00

5.00

1.00

4.00

2558

5.00

5.00

4.00

1.00

4.00

2559

4.50

4.50

3.00

1.50

3.00

2560

4.50

4.50

3.50

1.00

3.00

2561

3.50

3.50

3.00

1.00

2.50

2562

15.15

15.15

3.00

12.95

2.20

ที่มา: ระบบสารสนเทศด้านการจัดการขยะมูลฝอยชุมชน กรมควบคุมมลพิษ, ปี 2566

 

บ่อขยะหมู่ 6 มีช่วงอายุสัญญา ปัจจุบันได้หมดสัญญาดำเนินการแล้ว แต่กระนั้นก็ยังมีการนำขยะเข้ามาทิ้งเนื่องจากยังไม่มีแผนงานบ่อขยะแห่งใหม่ ตรงนี้เองที่ทำให้ปัญหาเกี่ยวกับขยะยิ่งบานปลาย พอไม่มีคนเข้ามาดูแลจัดการอย่างจริงจังและเป็นทางการ ได้เกิดภาวะไร้ระเบียบและช่องโหว่สำหรับการหาประโยชน์ บ่อขยะแห่งนี้ไม่จำเป็นที่จะต้องรับขยะจากแค่หน่วยงานขององค์การบริหารส่วนตำบลอีกต่อไป ชาวบ้านเริ่มเห็นรถขยะจากพื้นที่อื่น อย่างเช่นจากบางอำเภอของจังหวัดกระบี่ เข้ามาทิ้งขยะ หรือมีรถของโรงงานเอกชนจากพื้นที่ใกล้เคียง ชาวบ้านบางคนเล่าว่า ตนเคยนำขยะเข้าไปทิ้งที่บ่อขยะ ทุกคนรู้กันอยู่ว่าเป็นบ่อขยะที่คนในหมู่บ้านสามารถใช้ร่วมกัน แต่แล้วกลับมีคนมาเก็บเงินค่าทิ้งขยะ โดยอ้างว่าเจ้าของที่อนุญาตให้เขาเก็บค่าทิ้งขยะได้ และยังอ้างว่าเขาได้จ่ายค่าเช่าที่ดินเป็นรายเดือน ให้สามารถนำขยะเข้ามาทิ้งและคัดแยกขยะเพื่อเอาไปขาย

 

ผลกระทบของบ่อขยะต่อพื้นที่ใกล้เคียง

เมื่อมีขยะเพิ่มมากขึ้น และปริมาณที่ไม่ถูกกำจัดมีมากกว่าขยะที่ถูกนำไปใช้ประโยชน์ การจัดการแบบฝังกลบก็ยิ่งทำให้มีขยะทับถมกันไปเรื่อยๆ ที่บ่อขยะหมู่ 6 เริ่มปรากฏวิธีการจัดการขยะที่ไม่ตรงกับข้อตกลงกับประชาคม จากที่เคยสรุปกันว่าการดำเนินการบ่อขยะนี้ต้องใช้วิธีการจัดการแบบฝังกลบเท่านั้น กลับพบว่าได้มีการลักลอบเผาขยะอย่างต่อเนื่อง กระทั่งเริ่มส่งผลกระทบต่อชาวบ้านที่อาศัยอยู่รอบๆ ชาวบ้านเล่าว่าเคยมีเหตุการณ์ไฟจากหลุมขยะลุกลามไปยังบริเวณป่าและสวนยางพาราของชาวบ้าน กลายเป็นไฟป่าที่กินพื้นที่ไปไม่น้อย โดยเหตุการณ์ไฟไหม้ป่าครั้งไม่มีผู้ใดที่ออกมายอมรับและรับผิดชอบในสิ่งที่เกิดขึ้น

ในเรื่องของแหล่งน้ำ จากการที่ภูมิประเทศที่ดำเนินการบ่อขยะเป็นพื้นที่บริเวณตีนเขาลาดเอียง และเมื่อการจัดการปัญหาขยะทำแบบหละหลวมโดยการเททิ้งเพียงอย่างเดียว ทำให้เมื่อฝนตก น้ำฝนจะไหลชะขยะเหล่านี้ลงสู่แม่น้ำและผืนดินซึ่งรวมแล้วคือแหล่งต้นน้ำสำคัญที่คอยหล่อเลี้ยงคนในพื้นที่ใกล้เคียง การชะล้างขยะบางประเภททำให้มีสารเคมีไหลลงไปยังแหล่งน้ำ ทำให้น้ำบางแหล่งเป็นสนิมไม่สามารถนำไปใช้ได้ บ้างก็มีกลิ่นเหม็นรับรู้ได้ชัดเจน ไม่ต้องพูดถึงสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำนั้น หลังการเข้ามาของบ่อขยะ สัตว์น้ำพื้นถิ่นบางประเภทไม่สามารถพบเห็นได้อีกต่อไป สัตว์จำพวกหอย ปลาซิว ปลากระดี่หม้อ นาก ปลาไหล ซึ่งก่อนหน้านี้ยังมีจำนวนมาก ในปัจจุบันกลับหาไม่ได้อีกแล้วในแหล่งน้ำบริเวณใกล้เคียงกับบ่อขยะ

ป่าไม้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากบ่อขยะในหลายประการและจากหลายปัจจัย ปัจจัยแรก การจัดการขยะแบบผิดวิธีโดยการลักลอบเผา ขยะเหล่านั้นต่างประเภทและไม่ได้รับการแยกให้ถูกต้องเสียก่อน เมื่อมีการลักลอบเผา บ่อยครั้งที่ไฟลุกลามรวดเร็วเพราะไม่อาจรู้ได้เลยว่าภายใต้ขยะที่ทับถมกันนั้นเป็นขยะแบบใดบ้าง ประกอบกับในช่วงที่มีการลักลอบเผาเป็นฤดูแล้ง ทำให้เปลวไฟรุนแรงมากขึ้น จนในที่สุดก็ถาโถมไปยังพื้นที่ป่าใกล้เคียง เกิดการลุกลามอย่างกว้างขวาง แผดเผาผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์ รวมถึงพื้นที่ทางการเกษตรของชาวบ้าน

ปัจจัยที่สอง คือ การที่ผู้คนรุกเข้าป่ามากขึ้นจากโครงการบ่อขยะ ในช่วงก่อนการเปิดบ่อขยะ ป่าไม้และธรรมชาติยังคงอุดมสมบูรณ์ แต่เมื่อบ่อขยะได้เริ่มดำเนินการ จำเป็นที่จะต้องจัดการขยายพื้นที่เทขยะ เกิดการแผ้วถางที่ดินอย่างต่อเนื่อง มีการปรับหน้าดินให้มีลักษณะเป็นบ่อ และทำถนนไปยังบ่อขยะที่อยู่สูงขึ้นไปบนเนินเขาเหนือแหล่งชุมชน ทั้งหมดเหล่านี้คือการปรับพื้นที่ป่าไม้รองรับโครงการบ่อขยะที่วางแผนไว้ นำไปสู่การทำลายป่าไม้อันเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า การทำลายป่านี้เป็นการทำลายสมดุลอันซับซ้อนของระบบนิเวศ บ่อขยะเข้าไปแทนที่พันธุ์พืชและสัตว์พื้นเมือง สัตว์หลายชนิด โดยเฉพาะสัตว์ที่ต้องการแหล่งที่อยู่อาศัยเฉพาะ จะต้องดิ้นรนปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน ซึ่งสัตว์บางชนิดไม่สามารถปรับตัวได้ นำไปสู่ความหลากหลายทางชีวภาพที่ลดลง

การนำเข้าขยะมายังตำบล ก. ทำให้ชาวบ้านต้องอยู่อาศัยกับของเสียเหล่านั้นอย่างเลี่ยงไม่ได้ เกิดผลกระทบต่อวิถีชีวิตในหลายประการเช่นกัน ผลกระทบที่เห็นได้ชัด คือ กลิ่นไม่พึงประสงค์ที่ออกมาจากบ่อขยะอย่างต่อเนื่อง การเพิ่มปริมาณของสัตว์พาหะนำโรคอย่างไม่เคยมีมาก่อน จากการพูดคุยกับชาวบ้านซึ่งบ้านอยู่ห่างจากบ่อขยะในระยะไม่ถึงหนึ่งกิโลเมตร เขาเล่าว่าในช่วงแรกที่บ่อขยะเริ่มดำเนินการ เขายังไม่ได้กังวลเรื่องผลกระทบอะไรมากนัก จนอยู่มาสักพักจนก็เริ่มรู้ตัวว่าได้รับกลิ่นขยะและของเสียที่ลอยมาตามลม กระทั่งในบางช่วงถึงขนาดใช้ชีวิตลำบากเพราะกลิ่นจากขยะเน่าเสียนั้นรุนแรงมาก แล้วในที่สุดก็เริ่มสังเกตเห็นการเพิ่มจำนวนของสัตว์พาหะนำโรค

“มันแตกต่างกันมาก จากเมื่อก่อนที่ไม่มีแม้แต่แมงมาไต่ไรมาตอม แต่ตอนนี้มันเปลี่ยนไปจนปรับตัวแทบไม่ทัน บ้านมีแต่แมลงวัน บ้างก็มีแมลงสาบ มีหนูเต็มไปหมด โชคดีที่วันนี้ฝนมันตกไม่งั้นคงได้เจอฝูงแมลงวันบินเต็มไปทั่ว” เขาพูด

แมลงวันนั้นบินจากบ่อขยะไปยังบ้านเรือน และขยายพันธุ์ไม่หยุดหย่อน นี่เป็นปัญหาน่ากังวลใจใช่น้อย เพราะเมื่อในบ่อขยะมีของเสียที่ไม่ทราบแหล่งที่มาแน่ชัดคั่งค้างอยู่มากมาย นั่นเป็นแหล่งเพาะเชื้อชั้นดี สามารถทำให้เกิดการเพาะเชื้อโรคที่อาศัยแมลงวันและสัตว์ชนิดอื่นเป็นพาหะนำ อย่างโรคท้องร่วง ฉี่หนู ภูมิแพ้ รวมไปจนถึงโรคที่เกิดจากการจัดการขยะที่ไม่ดีพอ เช่น ตับอักเสบ ไทฟอยด์ และกระทั่งเอชไอวีในกรณีที่สัมผัสกับขยะประเภทติดเชื้อ

ผลกระทบสืบเนื่องต่อผู้คนโดยรอบก็คืออาชีพที่เปลี่ยนไปตามสิ่งแวดล้อมที่พวกเขาอยู่อาศัย พวกเขาจำนวนหลายบ้านไม่ประสงค์ หรือไม่สามารถที่จะย้ายบ้านหรือที่ดินหนีไปจากบ่อขยะนี้ได้ เพราะที่ดินนั้นเป็นของพวกเขาก่อนที่บ่อขยะจะตั้งขึ้น สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือการต้องทนปรับเปลี่ยนไปตามเงื่อนไขใหม่ เพราะสภาพแวดล้อมที่เสื่อมโทรมและที่ทำกินน้อยลง จากการที่เมื่อก่อนชาวบ้านบางส่วนยังสามารถหาประโยชน์ใช้สอยจากธรรมชาติ เช่น ทำสวน หาของป่า จับสัตว์น้ำ แต่ปัจจุบันนี้ไม่สามารถเป็นเช่นนั้นได้อีกแล้ว ถึงแม้จะรู้และเข้าใจดีว่าธรรมชาติและทรัพยากรนั้นไม่อาจสมบูรณ์ได้ตลอดไป แต่การเข้ามาของบ่อขยะทำให้ชีวิตพวกเขาเปลี่ยนไปเร็วขึ้น บีบให้พวกเขาบางส่วนต้องแสวงหาอาชีพและหนทางใหม่ในการทำมาหากิน หลายคนยอมรับอาชีพที่มาพร้อมบ่อขยะ อย่างเช่น แยกขยะ เก็บของขาย หรือเป็นลูกจ้างของ อบต. ในการเข้าไปดูแลบ่อขยะ

 

เหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นที่บ่อขยะแห่งเดียว ในขณะที่เราทราบกันดีว่าขยะจำนวนมหาศาลถูกขนไปทับถมอยู่ในอีกหลายแหล่งในจังหวัดนครศรีธรรมราช ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและผู้คนก็ย่อมมากมายเกินกว่าคนทั่วไปจะตระหนัก ทุกวันนี้ ยังไม่มีการรณรงค์เรื่องการจัดการขยะกันอย่างจริงจัง หน่วยงานที่รับผิดชอบก็แทบมองไม่เห็นทางที่จะจัดการปัญหาขยะได้อย่างมีประสิทธิภาพ ปัญหาขยะยังเกี่ยวพันอยู่กับอำนาจทางการเมืองและผลประโยชน์ ซึ่งยิ่งทำให้เรื่องราวซับซ้อนขึ้นเป็นทวีคูณ

ไม่เพียงเป็นปัญหาในวันนี้ แต่สามารถคาดหมายได้อย่างไม่ยากเย็นว่าจะเป็นปัญหาใหญ่ต่อไปในอีกหลายปีข้างหน้

                                                                                                                                                              เขียนโดย : นันทพล แก้วกาญจน์ และพศิน เพียรดี

                                                                                                                                                                              นักศึกษาหลักสูตรรัฐศาสตร์ เอกอาเซียนศึกษา

                                                                                                                                                                                     สำนักวิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์

Facebook Comments Box