Generic selectors
Exact matches only
Search in title
Search in content
Post Type Selectors

รีวิวหนังสือ Socrates and Self-Knowledge ของ Christopher Moore

รีวิวหนังสือ Socrates and Self-Knowledge ของ Christopher Moore

ผู้เขียนเสนอประเด็นที่ striking มาก ว่า know-thyself หรือการรู้จักตนเองแบบโสเกรติสนั้น ไม่ใช่เรื่องของการค้นหาตัวตนเพื่อให้ตัวเองตระหนักถึงสิ่งที่ตนเป็นจริงๆ เพราะต้องไม่ลืมว่า self เป็นสิ่งที่ขึ้นอยู่กับบริบทเฉพาะที่เปลี่ยนแปลงได้เสมอ ขณะที่ความรู้ (หรือสิงที่เรารู้ได้) ตามคติของกรีกโบราณ ต้องเป็นสิ่งที่ timeless เป็น universal ไม่เปลี่ยนแปลง ดังนั้นการเข้าใจว่า self-knowledge หรือการรู้จักตนเองคือการค้นหาเพือมีความรู้ถึงตัวเองจึงเป็นสิ่งที่ขัดแย้งกัน (เพราะไม่มีตัวตนหรือ self ที่ timeless ไม่เปลี่ยนแปลงให้รู้ถึงได้) ด้วยเหตุนี้ ผู้เขียนจึงเสนอว่าแนวคิดเรื่องการรู้จักตนเองของโสเกรติสนั้น ไม่ใช่เรื่องของการค้นหาตนเอง แต่เป็นเรื่อง self-constitution หรือการประกอบสร้างตนเอง ซึ่งภายใต้ข้อเสนอแบบนี้ self หรือตัวตนจะไม่ใช่สิ่งที่มีมาก่อน (และรอให้ค้นพบ) แต่จะเป็นโครงการหรือ project บางอย่าง การรู้จักตนเองจึงเป็นเรื่องของกระบวนการในการสร้างและทำความเข้าใจว่าตัวตนของเราเองเป็นอย่างไร ผ่านการพิจารณาว่าอะไรคือจุดยืน/เป้าหมาย/ความเชื่อที่เราคิดว่าแทนสิ่งที่เราเป็นหรือบ่งบอกความเป็นตัวเราได้จริงแท้ที่สุด

การรู้จักตนเองแบบโสเกรติสจึงเป็นเรื่องของ judgement หรือการตัดสินในปัจจุบันขณะ มากกว่าการกลับไปหาสิ่งที่เรา (คิดว่าเรา) เป็น ในแง่นี้ ความรู้หรือ “การรู้” ในการรู้จักตนเองจึงไม่ใช่อะไรเลยนอกจากการรู้ว่าตนเองคือผู้ที่คิดและเลือกคุณค่า/จุดยืน/เป้าหมายต่างๆของตนเอง การรู้จักตนเองในฐานะของการประกอบสร้างตัวตน จึงเป็นเรื่องของการตระหนักรู้หรือ recognition ว่าตนเองคือผู้ที่ใช้เหตุผลในการไตร่ตรองและเลือกจุดยืน/คุณค่า/เป้าหมายบางอย่างซึ่งสะท้อนสิ่งที่ตนเองเห็นว่าเป็นความจริงที่สำคัญในชีวิตของตน เพราะแม้ตัวตนอาจเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์ แต่สิ่งที่ไม่เปลี่ยนแปลงคือความสามารถในการไตร่ตรองครุ่นคิดและเลือกสิ่งที่สะท้อนตัวเราในขณะนั้นๆ การประกอบสร้างตัวตนของเราจึงเป็นการประกอบสร้าง ผ่านกระบวนการไต่สวนเพื่อทำให้ตระหนักว่าเราเป็นผู้ใช้เหตุผลตัดสินเลือกว่าจุดยืนแบบไหน คุณค่าแบบไหนและเป้าหมายแบบไหนคือสิ่งที่เป็นตัวเรา อันจะทำให้ตัวเรารู้จักตนเองมากขึ้นตามไปด้วยเสมอ

ด้วยเหตุนี้ ปรัชญาของโสเกรติสที่ให้ความสำคัญกับการรู้จักตนเอง/การประกอบสร้างตนเอง จึงเป็นสิ่งที่แยกไม่ขาดจากการสร้างบทสนทนากับคนอื่นๆ เพราะการสร้างบทสนทนาคือการสร้างสายสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงให้ตัวตนของตนเองมองเห็นตนเองผ่านความแตกต่างจากการสนทนากับผู้อื่น การรู้จักและประกอบสร้างตัวตนจึงต้องอาศัยการดำรงอยู่ของคนอื่น/จุดยืนแบบอื่นๆ/ความเชื่อแบบอื่นๆ ในฐานะกระจกมาเป็นเงื่อนไขสะท้อนให้ความเป็นตนเองชัดมากขึ้น เราประกอบสร้างตนเองผ่านการรู้จักตนเอง ด้วยการรู้จักและทำความเข้าใจคนอื่นๆ/ความคิดแบบอื่นๆ ผ่านการสนทนาซึ่งจะเป็นตัวกำหนดลักษณะอันแตกต่างที่จะทำให้เรามองเห็นจุดยืนของเรา/ความคิดของเรา/ตัวเรา ชัดขึ้น

ท้ายที่สุด ผู้เขียนจึงสรุปให้เห็นอย่างแหลมคมว่าเป้าหมายทางปรัชญาของโสเกรติสซึ่งให้ความสำคัญกับการรู้จักตนเอง คือเป้าหมายที่กินอาณาเขตทั้งในทางอภิปรัชญา(ความสัมพันธ์ระหว่างการดำรงอยู่กับความจริง) ญาณวิทยา(ความสัมพันธ์ระหว่างความรู้กับสิ่งที่รู้) และจริยศาสตร์การเมือง(ความสัมพันธ์ระหว่างเรากับคนอื่น) การทำปรัชญาของโสเกรติสจึงเป็นปฏิบัติการทางอภิปรัชญาที่เป็นญาณวิทยาและจริยศาสตร์การเมืองไปพร้อมๆกันเสมอ เพราะตัวตนที่เรารู้จักคือตัวตนที่ถูกประกอบสร้างบนความจริงของตัวเราในฐานะผู้ที่ตระหนักและเลือกคุณค่าสากลต่างๆท่ามกลางความเป็นอื่น/คนอื่นที่แตกต่างหลากหลายไปจากเรา

                                                                                                                                                                      รีวิวโดย : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อรรถสิทธิ์ สิทธิดำรง

                                                                                                                                                                                                      อาจารย์ประจำหลักสูตรรัฐศาสตร์ 

                                                                                                                                                                                      สำนักวิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ 

                                                                                                                                                                                                                   มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

Facebook Comments Box