Generic selectors
Exact matches only
Search in title
Search in content
Post Type Selectors

ชาร้อนก็ได้…ชาเย็นก็ดี  ดื่มให้ถูกวิธีและดีต่อสุขภาพ

ชาร้อนก็ได้...ชาเย็นก็ดี ดื่มให้ถูกวิธีและดีต่อสุขภาพ
          “ชา” เป็นเครื่องดื่มยอดนิยมของผู้คนมาช้านาน สามารถชงดื่มได้ทั้งแบบร้อนและเย็น ถือเป็นเครื่องดื่มที่เหมาะกับทุกสภาพภูมิอากาศ และไม่ว่าเราจะดื่มชาเพื่อความอบอุ่นในวันที่อากาศหนาวเย็น หรือดื่มเพื่อให้ร่างกายได้สดชื่นในวันที่ร้อนผ่าว การดื่มชาก็ช่วยให้ร่างกายผ่อนคลายได้อย่างน่าอัศจรรย์เสมอ
ชาร้อนก็ได้...ชาเย็นก็ดี ดื่มให้ถูกวิธีและดีต่อสุขภาพ

          ประโยชน์ของชาต่อสุขภาพมีมากมาย โดยเฉพาะสรรพคุณทางยาที่พบว่า การดื่มชาในปริมาณที่เหมาะสมสามารถยับยั้งการเกิดโรคภัยไข้เจ็บได้ เช่น ช่วยต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดโรคต่าง ๆ มากมาย ต้านการอักเสบ รักษาระดับน้ำตาลในเลือด ป้องกันสารพิษเข้าสู่ตับ ช่วยเรื่องการทำงานของหัวใจและสมอง รวมทั้งยังช่วยให้ร่างกายผ่อนคลายได้เป็นอย่างดี ซึ่งในใบชามีสารต้านอนุมูลอิสระในกลุ่มโพลีฟีนอล (Pholyphenol)  ที่มีฤทธิ์ทางยาที่สำคัญหลายตัว โดยเฉพาะแทนนิน (Tannins) และคาเทชิน (Catechins) ที่มีผลวิจัยทางวิทยาศาสตร์ว่าสามารถต้านการเกิดโรคได้มากมายหากร่างกายได้รับเป็นประจำในปริมาณที่พอเหมาะ แต่ก็สามารถสลายตัวได้ง่ายเมื่อสัมผัสกับออกซิเจนและความร้อน ดังนั้น กรรมวิธีในการชงและการดื่มชาจึงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก ที่จะเป็นตัวกำหนดว่าเราจะได้รับคุณประโยชน์จากชามากน้อยเพียงใด ที่ไม่ใช่แค่ความอร่อยเพียงอย่างเดียว

          ดื่มชาให้ถูกวิธีและดีต่อสุขภาพ

1. ดื่มชาร้อนให้ได้ประโยชน์ จะต้องเป็นชาที่เข้มข้น เพราะความร้อนในกรรมวิธีชงชาจะไปทำลายสารคาเทซินที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย เหลือไว้เพียงความหอมและรสชาติของชาเท่านั้น ฉะนั้นการชงชาที่เข้มข้นจึงเป็นวิธีรักษาปริมาณของคาเทซินเอาไว้ไม่ให้สลายตัวเสียทั้งหมด รวมทั้งกระบวนการผลิตใบชาหรือสารสกัดจากชาทุกกระบวนการที่ผ่านความร้อนจะทำให้สูญเสียสารสำคัญในชาไปเช่นกัน
2. ชาชงร้อน ควรดื่มให้หมดโดยเร็ว อย่าปล่อยทิ้งไว้นานเกิน 2 ชั่วโมง เนื่องจากสารคาเทซินในชาจะเกิดการจับตัว ส่งผลเสียต่อระบบย่อยอาหารได้
3. ชาสกัดเย็น จะมีสารต้านอนุมูลอิสระมากกว่าชาร้อนถึง 2 เท่า มีปริมารคาเฟอีนน้อยกว่า รวมถึงรสชาติจะกลมกล่อม ไม่มีความขมหรือฝาด แต่จะขาดความหอมและกลิ่นเฉพาะตัวของชาไป ซึ่งการจิบชาอุ่น ๆ จะช่วยให้ผ่อนคลายได้มากกว่า
ชาร้อนก็ได้...ชาเย็นก็ดี ดื่มให้ถูกวิธีและดีต่อสุขภาพ

4. การดื่มชาทั้งเมนูร้อนและเย็น ไม่ควรปรุงแต่งด้วยนมทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นนมสด นมข้น หรือครีมนมใด ๆ เพราะโปรตีนในนมจะไปทำลายประสิทธิภาพการออกฤทธิ์ของสารที่เป็นประโยชน์ในชา ดังนั้นการดื่มชาให้มีประโยชน์ต่อสุขภาพ จึงควรดื่มน้ำชาล้วน ๆ ที่ไม่มีการปรุงแต่งใด ๆ สำหรับคอชาเย็น ชานม ก็ต้องทำใจว่า นอกจากความอร่อยแล้ว ก็จะไม่ได้รับประโยชน์ใดจากการดื่มชาเลย

5. ผู้ที่รับประทานยาที่มีธาตุเหล็ก เกลือแร่ หรือวิตามินเสริมที่ใกล้เคียงกัน ควรหลีกเลี่ยงการดื่มชา เพราะสารสำคัญจากใบชาจะไปตกตะกอนธาตุเหล็กและเกลือแร่ไม่ให้ดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย เช่นเดียวกัน หากเราดื่มชาในระหว่างรับประทานอาหาร แร่ธาตุในอาหาร ผักและผลไม้ ก็จะถูกสารในชาสกัดไม่ให้ดูดซึมเข้าสู่ร่างกายด้วยเช่นกัน

6. เด็กไม่ควรดื่มชา เพราะสารแทนนินในชา จะไปตกตะกอนโปรตีนและแร่ธาตุต่าง ๆ จากอาหารที่รับประทาน ทำให้ลดทอนการดูดซึมสารอาหารที่มีประโยชน์ ส่งผลให้ร่างกายขาดสารอาหารได้
7. ใบชามีองค์ประกอบของฟลูออไรด์ค่อนข้างสูง หากร่างกายได้รับเข้าไปเป็นประจำ ในปริมาณมาก จะเกิดการสะสม ส่งผลทำให้ไตวาย เสี่ยงต่อมะเร็งลำไส้ โรคกระดูกพรุน โรคข้อ และโรคอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับกระดูก แต่ตราบใดที่เราดื่มแต่พอดีก็คลายความกังวลในข้อนี้ไปได้

8. แม้ว่าในใบชาจะมีสารออกซาเรท (Oxalate) เพียงปริมาณน้อย แต่หากดื่มเป็นประจำและดื่มในปริมาณที่มากจนเกินไป จะเกิดการสะสมของออกซาเรทในร่างกายส่งผลเสียต่อไตได้

ชาร้อนก็ได้...ชาเย็นก็ดี ดื่มให้ถูกวิธีและดีต่อสุขภาพ
ชาร้อนก็ได้...ชาเย็นก็ดี ดื่มให้ถูกวิธีและดีต่อสุขภาพ

          “ชา” มีสารคาเฟอีนในปริมาณสูง ซึ่งอาจจะสูงกว่าในเมล็ดกาแฟ เพียงแต่การดื่มน้ำชา สารแทนนินจากชาจะช่วยลดการดูดซึมคาเฟอีนเข้าสู่ร่างกาย ทำให้ฤทธิ์การกระตุ้นหัวใจและสมองน้อยกว่าการดื่มกาแฟมาก อย่างไรก็ตาม การดื่มชาที่ถูกต้อง ในปริมาณที่เหมาะสม จะทำให้การดื่มชานั้นไม่สูญเปล่า ทั้งยังได้ดื่มด่ำในรสชาติ และได้ประโยชน์ต่อสุขภาพไปพร้อม ๆ กันอีกด้วย

อ้างอิง:
1. Nestle good food, good life. ดื่มชาอย่างเข้าใจ ได้ประโยชน์เพื่อสุขภาพเต็มที่ [เว็บไซต์]. แหล่งที่มา:
https://www.nestle.co.th/th/nhw/3e/eat/tea-benefits  [29 กุมภาพันธ์ 2567]
2. คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. ชาร้อน ชาเย็น ประโยชน์/โทษต่อ สุขภาพ [เว็บไซต์]. 2559, แหล่งที่มา: https://pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/345 [1 มีนาคม 2567]

Facebook Comments Box