Generic selectors
Exact matches only
Search in title
Search in content
Post Type Selectors

โพรไบโอติกส์ (Probiotics) จุลินทรีย์นักรบช่วยปกป้องร่างกาย

โพรไบโอติก

โพรไบโอติกส์ (Probiotics) จุลินทรีย์นักรบช่วยปกป้องร่างกาย

ในร่างกายของคนเรานั้นมีจุลินทรีย์หลากหลายชนิดอาศัยอยู่ อันได้แก่ เชื้อรา ไวรัส แบคทีเรีย และโพรโตซัวอาศัยอยู่ โดยจะมีชนิดหนึ่งที่รู้จักกันในชื่อว่า โพรไบโอติกส์ (Probiotics) ซึ่งมีลักษณะโดดเด่น คือ รอดชีวิตจากการถูกย่อยด้วยน้ำย่อยในกระเพาะอาหารและเดินทางไปถึงลำไส้ได้ มีประโยชน์ต่อสุขภาพและรับประทานได้ปลอดภัย โพรไบโอติกส์เป็นจุลินทรีย์ที่มีชีวิตที่มีประโยชน์ ช่วยกำจัดแบคทีเรียที่ไม่ดีที่มีมากเกินไป สร้างความสมดุลให้กับร่างกาย

พรีไบโอติกส์คืออะไร

พรีไบโอติกส์ (Prebiotics) คืออาหารชนิดหนึ่ง เป็นสิ่งไม่มีชีวิต ซึ่งร่างกายไม่สามารถย่อยและดูดซึมได้ที่ลำไส้เล็ก อาหารเหล่านี้จึงสามารถเข้าสู่ลำไส้ใหญ่ได้ในรูปไม่เปลี่ยนแปลง และจะถูกย่อยสลายโดยแบคทีเรียโพรไบโอติกส์ ทำให้กระตุ้นการเจริญเติบโตและการทำงานของแบคทีเรีย พบได้ในหัวหอม กระเทียม ถั่วเหลือง ถั่วแดง ไฟเบอร์ในผักและผลไม้ต่าง ๆ เป็นต้น

ชนิดของโพรไบโอติกส์

ในร่างกายของเรามีโพรไบโอติกส์อยู่หลายชนิด แต่ชนิดที่พบได้บ่อยได้แก่ Lactobacillus และBifidobacterium ซึ่งรวมไปถึง Saccharomyces boulardii ซึ่งเป็นโพรไบโอติกส์เชื้อราเซลล์เดี่ยว โดยปกติแล้วโพรไบโอติกส์ที่เป็นประโยชน์นั้นสามารถพบได้ในลำไส้ โดยเฉพาะลำไส้ใหญ่ ปาก ผิวหนัง ปอด ช่องคลอด และระบบทางเดินปัสสาวะ

ประโยชน์ของโพรไบโอติกส์

– ต่อสู้กับแบคทีเรียตัวร้ายที่รุกรานเข้ามา
– เสริมสร้างการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันเพื่อลดการอักเสบ
– ระบบย่อยอาหารทำงานได้ดีขึ้น
– สร้างวิตามินที่จำเป็นต่อร่างกาย
– ป้องกันไม่ให้แบคทีเรียที่ไม่ดีต่อร่างกายเติบโตมากจนเกินไป
– เสริมสร้างความแข็งแรงให้กับเซลล์บุผนังที่ช่วยป้องกันไม่ให้แบคทีเรียที่ไม่ดีเข้าสู่กระแสเลือด
– ช่วยร่างกายในการเผาผลาญและดูดซึมอาหารและยา
จากงานวิจัย โพรไบโอติกส์มีส่วนช่วยในบรรเทาอาการเจ็บป่วยบางอย่าง เช่น ท้องผูก ท้องเสียจากยาปฏิชีวนะและเชื้อแบคทีเรีย Clostridioides difficile โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง โรคลำไส้แปรปรวน กระเพาะปัสสาวะอักเสบ ตกขาวจากเชื้อรา ติดเชื้อในกระเสเลือดในเด็กทารก หูชั้นกลางอักเสบ หวัดตามฤดูกาล และไซนัสอักเสบ อย่างไรก็ตามผลลัพธ์อาจแตกต่างไปในแต่ละบุคคล
โพรไบโอติกส์2

อาหารที่มีโพรไบโอติกส์

การรับประทานอาหารเสริมโพรไบโอติกส์นั้นไม่จำเป็น เนื่องจากการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ครบห้าหมู่ มีกากใยสูงก็เพียงพอต่อการสร้างความสมดุลของจำนวนแบคทีเรียในร่างกาย หากต้องการเพิ่มจำนวนโพรไบโอติกส์ในร่างกาย เราสามารถรับประทานอาหาร เช่น โยเกิร์ต บัตเตอร์มิลค์ ขนมปังซาวโดว์ คอทเทจชีส ชาหมัก (kombucha) นมหมัก (kefir) เทมเป้ (tempeh) ผักดอง กิมจิ และซุปมิโซะ อย่างไรก็ตามไม่ควรรับประทานอาหารชนิดใดชนิดหนึ่งเพียงอย่างเดียว เนื่องจากจะทำให้ร่างกายขาดสารอาหารได้
ในบางราย แพทย์อาจแนะนำให้รับประทานผลิตภัณฑ์เสริมโพรไบโอติกส์ ซึ่งอาจจะอยู่ในรูปของเครื่องดื่ม ยาเม็ด หรือผง ซึ่งผลิตภัณฑ์เสริมโพรไบโอติกส์อาจจะมีพรีไบโอติกส์ เช่น อินนูลิน เพกติน แป้งทนการย่อย ซึ่งเป็นอาหารของแบคทีเรียที่ดีที่อยู่ในลำไส้อยู่ด้วย การรวมโพรไบโอติกส์และพรีไบโอติกส์เข้าไว้ด้วยกันมีชื่อเรียกว่า ซินไบโอติกส์ เนื่องจากโพรไบโอติกส์บางสายพันธุ์นั้นไวต่อแสง ความร้อน ออกซิเจน และความชื้น จึงจำเป็นต้องเก็บรักษาอย่างถูกต้องเหมาะสม และไม่ควรรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมโพรไบโอติกส์ที่หมดอายุ
อย่างไรก็ตาม ควรปรึกษาขอคำแนะนำจากแพทย์ทุกครั้งก่อนที่จะเริ่มรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารใด ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตร หรือเด็ก
 • เพกติน เป็นแป้งที่มีลักษณะคล้ายเจล พบได้ในผลไม้ เช่น แอปเปิ้ล แอปริคอต ลูกพีช ราสเบอร์รี่ มะเขือเทศ มันฝรั่ง และในผัก เช่น แครอทและถั่วเขียว เพกตินมีสารต้านอนุมูลอิสระและต้านมะเร็งสูง ช่วยเพิ่มเยื่อบุลําไส้ ลดแบคทีเรียที่เป็นอันตราย และเพิ่มความหลากหลายของจุลินทรีย์ในลําไส้
• อินนูลิน พบได้ในหน่อไม้ฝรั่ง โกโบ กระเทียม ต้นหอมญี่ปุ่น หัวหอม และถั่วเหลือง อินนูลินช่วยให้ร่างกายรู้สึกอิ่มนานขึ้น ทำให้ลำไส้เคลื่อนไหวดีขึ้น ลดคอเลสเตอรอล LDL (คอเลสเตอรอลที่ไม่ดี) ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด และเพิ่มแบคทีเรียที่ดีในลําไส้ และยังช่วยลดความเสี่ยงของโรคมะเร็งลําไส้ใหญ่ด้วย
• แป้งทนการย่อย เป็นแป้งที่ไม่ถูกย่อยระหว่างที่เดินทางผ่านไปยังลำไส้ใหญ่ พบได้ในข้าวโอ๊ต ข้าวบาร์เลย์ พืชตระกูลถั่วกล้วยดิบ และมันฝรั่งต้มทิ้งไว้ให้เย็น เมื่อถูกย่อยโดยจุลินทรีย์ บิวไทเรต (Butyrate) และกรดไขมันสายสั้นอื่นๆ จะถูกผลิตออกมา โดยสารดังกล่าวจำเป็นต่อการสร้างภูมิคุ้มกัน ต่อต้านการอักเสบ และการดูดซึมน้ำและอิเล็กโทรไลต์

ผลข้างเคียงของโพรไบโอติก หากกินมากเกินไป

ในผู้ที่ภูมิคุ้มกันบกพร่อง ผู้ที่ได้รับการผ่าตัดมาไม่นานมานี้ หรือผู้ที่มีปัญหาสุขภาพรุนแรง การรับประทานโพรไบโอติกส์อาจไปเพิ่มความเสี่ยงของการติดเชื้อ การดื้อยาปฏิชีวนะ และการที่จุลินทรีย์โพรไบติกส์เองสร้างสารที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย
Facebook Comments Box