
การวางแผนนับว่ามีความสำคัญอย่างมากที่จะทำให้งานดำเนินไปอย่างราบรื่น และประสบผลสำเร็จ ไม่ว่าจะองค์กรไหน จะเล็กหรือใหญ่ ล้วนแล้วแต่เริ่มต้นจากการวางแผนทั้งสิ้น แต่ก็มีจำนวนไม่น้อยที่มัวแต่วางแผนจนไม่ได้เริ่มจริง ๆ สักที
อาจเพราะเราเสพติดความเพอร์เฟค ทุกอย่างต้องไร้ที่ติ แต่ยิ่งคิดเท่าไหร่ ปัญหายิ่งมากขึ้นทุกที ยิ่งแก้เท่าไหร่ยิ่งยุ่งเหยิงขึ้นทุกที จะเดินทางไหนก็ดูจะมีข้อเสียไปหมด ไม่เพอร์เฟคสักที แต่เอ๊ะ? ทำไมแผนการของเรามันต้องเพอร์เฟคขนาดนั้นละ ใครกันที่เป็นคนกำหนดความเพอร์เฟคนี้ คิดไปคิดมา ก็เราเองนี่แหละ แหม ปัญหาอยู่ใกล้นิดเดียวก็ถามตัวเองดู ว่าที่ต้องการความเพอร์เฟค เพราะไม่อยากโดนวิจารณ์หรือเปล่า ?
เคยเป็นไหม ? “แค่คิดก็เหนื่อยแล้ว” แม้ยังไม่ได้ลงมือทำเลย แต่รู้สึกเพลียเหลือเกิน ทำไมสมองมันหนักอึ้งแบบนี้ ปวดหัวปวดคอไปหมด สมองหยุดคิดไม่ได้เลย ต้องรีบหาทางแก้ไขให้ได้ แต่ยิ่งคิดลึกเท่าไหร่ก็ยิ่งมืดมน ยิ่งสับสน จะดีกว่าไหม ? ถ้าเราจัดการกับเจ้าความเพอร์เฟคจอมปัญหานี้เสียก่อน แต่จะเริ่มจากตรงไหนดีละ !
– ยกคันเร่ง และแตะเบรกช้า ๆ
– ลองผ่อนความเร่งลงมาอยู่กับปัจจุบันก่อน หยุดกลัวปัญหาที่ยังมาไม่ถึง อย่าปล่อยให้ความกลัวเหล่านั้นมาควบคุมตัวเรา จนไม่กล้าที่จะออกจากเซฟโซน
– ไม่ตรงตามแผนเป๊ะ ๆ ทุกอย่างคงไม่พังครืนลงมาหมดหรอก ลองลดความเพอร์เฟคลงหน่อยลองยอมให้แผนคลาดเคลื่อนได้บ้าง เพราะไม่ว่าจะวางแผนมาอย่างรอบคอบแค่ไหน แต่ก็ไม่สามารถควบคุมทุกอย่างได้หรอก
– แม้แต่การคำนวณโครงสร้างทางวิศวกร ก็ย่อมมีการคำนวณถึงความคลาดเคลื่อนของระยะโครงสร้างที่ยอมรับได้ โดยอยู่บนพื้นฐานของความมั่นคงและปลอดภัยของผู้อยู่อาศัย
– ฉะนั้น เราต้องลองเปิดใจเปิดสมองให้กว้าง ลองผิดลองถูกกับความคิดนอกกรอบเพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ และเรียนรู้วิธีการแก้ปัญหาที่เราเองยอมรับได้ ให้สามารถก้าวไปข้างหน้าต่อ
– หยุดพักสักหน่อย ให้สมองได้พักผ่อน ถ้าวิธีพักสมอง คือการหยุดคิด แต่ไม่ได้หมายความว่าให้เลิกคิดนะ แค่รอให้เครื่องยนต์เย็นลงสักหน่อย แล้วค่อยเดินทางต่อ ยังไม่ถึงจุดหมายสักหน่อยจริงไหม อาจจะลองทำอย่างอื่นดู เช่น ดูหนัง ฟังเพลง สร้างแรงบัลดาลใจสักเรื่อง หรือท่องโลกอินเตอร์เน็ตสักหน่อย ไม่แน่นะ การพักผ่อนของคุณอาจจะผุดไอเดียเจ๋ง ๆ ขึ้นมาก็ได้
ถ้าคุณกำลังเผชิญกับปัญหาความสับสนวุ่นวายที่ คิดไม่ตก ยิ่งแก้ปัญหาเหมือนยิ่งเพิ่มปัญหา จนยังไม่ได้เริ่มลงมือทำอะไรจริงๆ จังๆ สักที ลองจัดการกับเจ้าความเพอร์เฟคจอมปัญหานี้เสียก่อน การยอมรับความไม่สมบูรณ์แบบไม่ได้หมายความว่าเราขี้เกียจ มาตรฐานต่ำ พอใจกับความล้มเหลว ไม่ใส่ใจต่อความเป็นเลิศ ไม่ปรับปรุงตัวเอง หรือขาดความกระตือรือร้น แต่แท้จริงแล้ว คือ การเริ่มลงมือทำให้บรรลุเป้าหมาย โดยไม่ต้องหวังให้มันสมบูรณ์แบบมากจนเกินไป โดยให้ความสำคัญกับการลงมือทำมากกว่าจะต้องทำได้อย่างดีเยี่ยม แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าให้ตัดเรื่องการลงมือทำให้ดีเยี่ยมออกไป แต่ให้กำจัดความกลัวว่าจะทำไม่ดีพอออกไปต่างหาก
อ้างอิง https://amarinbooks.com/product/how-to-be-an-imperfectionist/
ผู้เขียน ภานุชนาถ รูปโอ