
การท่องเที่ยงเชิงนิเวศ เป็นอย่างไร...
what is tourism...?
ในสังคมปัจจุบันการเจริญเติบโตและการเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เกิดจากกระแสการพัฒนาหลักๆ คือ การเติบโต การขยายตัวของการค้า รวมไปถึงการแข่งขันระหว่างประเทศ กระแสการเจริญเติบโตก้าวหน้า ต่างๆ ทั้งทางด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี เช่น สารสนเทศ และด้านอุตสาหกรรมต่างๆ (บุญเลิศ จิตตั้งวัฒนา)
จากการขยายตัวและพัฒนาข้างต้น มีผลโดยตรงในการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ทำรายได้ให้กับประเทศในลำดับต้นๆ เมื่อเทียบกับ หลายๆ อุตสาหกรรม ตลอดระยะเวลามากกว่า 10 ปีที่ผ่านมา หลายหน่วยงานเข้ามามีบทบาทในการศึกษา ค้นคว้า ทำวิจัยเพื่อนำไปสู่การพัฒนาอย่าง ยั่งยืน (Sustainable tourism Development) ดังคำกล่าวของ ภราเดช พยัคฆ์วิเชียร 2543:99 “การท่องเที่ยวช่วยกู้เศรษฐกิจ ช่วยชุบชีวิตสิ่งแวดล้อม” แต่หากเราไม่มีคนที่มีคุณภาพหรือมีความรู้ที่เหมาะสมรวม ทั้งเข้าใจในระบบการบริหารจัดการทรัพยากร อุตสาหกรรมท่องเที่ยวของเรา ก็คงเป็นเพียงแค่การ “ขายบริการ” หรือ “ขายทรัพยากร” ไปจนกระทั่งหมดสิ้นเท่านั้น
ภายใต้การสร้างสมดุลระหว่างการพัฒนาด้านต่างๆ ควบคู่กับการอนุรักษ์แล้ว จึงเกิดแนวคิดด้านการท่องเที่ยว แบบใหม่ขึ้นในรูปแบบการท่องเที่ยวที่มีความยั่งยืน หรือ “การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ Eco tourism” คำว่า Eco tourism มาจากคำ 2 คำ คือ Eco ที่แปลว่า บ้าน ที่อยู่อาศัยส่วน Tourism แปลว่า การท่องเที่ยว เพราะฉะนั้นรวมกันจึงแปลว่าการท่องเที่ยวที่เน้นไปด้านสิ่งแวดล้อม และความเป็นอยู่

แหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ : อุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า-หมู่เกาะเสม็ด จังหวัดระยอง
ในปัจจุบันพบว่าการท่องเที่ยวมีหลากหลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆในการแบ่งประเภท โดยการท่องเที่ยวที่เราได้ยินบ่อยมากในปัจจุบัน คือ “การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ Eco tourism” แต่รู้หรือไม่การท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ที่แท้จริงนั้น มีจุดมุ่งหมายและความสำคัญ รวมไปถึงมีลักษณะทางการท่องเที่ยวอย่าง ไร

แหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ : น้ำตกวังสายทอง จังหวัดสตูล
องค์การสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติและสมาคมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ได้ให้นิยาม การท่องเที่ยวประเภทนี้ว่าเป็นการท่องเที่ยวที่จะต้องไม่รบกวนลักษณะปกติทางธรรมชาติ โดยมีจุดมุ่งหมายในด้านการศึกษา ตอบสนองความพึงพอใจต่อทัศนียภาพ พืชพันธุ์ไม้ พันธุ์สัตว์ตามธรรมชาติ และความเข้าใจในวัฒนธรรมอย่างดี Ceballos Lascurain ได้ให้ความหมายว่าเป็นการเดินทางไปยังแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติโดยไม่รบกวนหรือทำความเสียหายแก่ธรรมชาติมีวัตถุประสงค์เพื่อชื่นชมและศึกษาเรียนรู้ ส่วน Western ได้ให้ความหมายไว้ว่า การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ คือ การท่องเที่ยวที่รับผิดชอบต่อแหล่งธรรมชาติ ซึ่งมีการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ความเป็นอยู่ของชุมชนในท้องถิ่น ให้มีชีวิตดีขึ้น (อ้างอิงจาก Western 1993:8) ปรีชา แดงโรจน์ ให้ความหมาย เพิ่มเติมว่าการท่องเที่ยวต้องมี 3 เงื่อนไขหลักคือ 1 มีการเดินทาง 2 มีสถานที่จุดหมายปลายทาง 3 มีวัตถุประสงค์หรือจุดมุ่งหมายของการเยี่ยมเยือน อ้างอิงจากองค์การสหประชาชาติ 2544 เพิ่มเติมจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยให้ความหมายไว้ว่าการเดินทางภายใต้เงื่อนไขที่มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษา ชื่นชม เพลิดเพลิน โดยมีการเดินทางจากที่อยู่อาศัยเดิม ไปอีกที่หนึ่งเดินทางโดยความสมัครใจ เป็นการเดินทางที่ไม่เป็นการประกอบอาชีพ หรือเพื่อหารายได้

แหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ : ถ้ำภูผาเพชร
การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ที่แท้จริงจึงเป็นการท่องเที่ยวในรูปแบบของแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ หรือท้องถิ่นที่มีทรัพยากรภูมิปัญญา และวิถีชีวิตดั้งเดิม โดยผู้เดินทางมาท่องเที่ยวต้องไม่ก่อให้เกิดความเสียหาย ทำลาย ก่อกวนสิ่งแวดล้อมในสถานที่นั้นๆ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อชื่นชมความงาม ความเพลิดเพลิน หรือเพื่อการศึกษาหาความรู้ในธรรมชาติเหล่านั้นด้วย โดยการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ มีลักษณะสำคัญ คือ ในการท่องเที่ยวมีการควบคุมจำนวนของนักท่องเที่ยวให้มีความสมดุล กับความสามารถในการรองรับได้ของพื้นที่นั้นๆมีจุดสนใจหลักอยู่ที่สิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติหรือวัฒนธรรมที่ยังคงเป็นความดั้งเดิมและบริสุทธิ์ 3 มีการมุ่งเน้นให้คนในท้องถิ่นได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ ได้รับผลตอบแทนทางด้านเศรษฐกิจให้มากที่สุด


การท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่แท้จริงมิใช่เพียงแค่การเดินทางไปถ่ายภาพกลางป่าทึบ แต่เป็นการเดินทางไปพักผ่อนหย่อนใจโดยไม่เปลี่ยนแปลงธรรมชาติและวิถีชีวิตดั้งเดิม ของสถานที่นั้นๆโดยนักท่องเที่ยวได้ลงไปสัมผัสกับบรรยากาศจริงเพลิดเพลินกับการเรียนรู้เรื่องราวต่างๆผ่านกิจกรรมทางการท่องเที่ยวโดยมีธรรมชาติเป็นสื่อกลางในการเชื่อมโยงระหว่างนักท่องเที่ยวและแหล่งท่องเที่ยวนั้นๆ

อ้างอิงแหล่งที่มา
กรมป่าไม้. (2548). การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 20 กรกฎาคม 2567
เข้าถึงได้จาก : http://www.forest.go.th/WEFCOM /Part2TAT.html
ฉลองศรี พิมลสมพงศ์. (2544). อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว. งานวิชาการคณะมนุษยศาสตร์. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.
บุญเลิศ จิตตั้งวัฒนา. (2548). อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวธุรกิจที่ไม่มีวันตายของประเทศไทย. (พิมพ์ครั้งที่ 1).
กรุงเทพมหานคร: ซี.พี.บุ๊ค สแตนดาร์ด.
ประชิด สกุณะพัฒน์, วิมล จิโรจน์พันธุ์, อุดม เชยกีวงศ์. (2554) การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ.
สำนักพิมพ์แสงดาว 304 หน้า. 2554
ปรีชา แดงโรจน์. (2544). อุตสาหกรรมท่องเที่ยวสู่ศตวรรษที่ 21. (พิมพ์ครั้งที่ 1)
กรุงเทพฯ: บริษัทไฟว์
แอนด์โฟร์พริ้นติ้ง จำกัด
พาราเดช พยัคฆ์วิเชียร. รายงานวิจัยการดำเนินการเพื่อกำหนดนโยบายการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ. สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย.
พิมพ์ครั้งที่ 2 กรุงเทพฯ.