
"เนื้อทราย" กวางน้อยแห่งธรรมชาติ
เนื้อทรายเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองที่มีขนาดกลาง ขนสีน้ำตาลเข้ม ด้านล่างลำตัวสีจางกว่า มีเขาเฉพาะในตัวผู้ข้างละ 3 กิ่ง ผลัดเขาทุกปี ลูกเกิดใหม่มีลายจุดขาวตามตัว ลายจะหายไปเมื่อโตขึ้น
ที่ อุทยานพฤกษศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มีหอชมฟ้าและสถานเพาะพันธุ์สัตว์ป่า ได้เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2567 โดยในระยะแรกได้มีการนำสัตว์ 3 ชนิดมาจัดแสดง ได้แก่ คาปิบาร่า จำนวน 6 ตัว อีเก้ง 2 ตัว และเนื้อทราย 20 ตัว เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านสัตว์ให้แก่นักท่องเที่ยว
อดิรุจ ละม้าย
ลำดับอนุกรมวิธาน
อาณาจักร (Kingdom): Animalia
ไฟลัม (Phylum): Chordata
ชั้น (Class): Mammalia
อันดับ (Order): Artiodactyla
วงศ์ (Family): Cervidae
สกุล (Genus): Axis
ชนิด (Species): Axis porcinus
รู้จัก “เนื้อทราย” สัตว์ป่าแสนพิเศษ
เนื้อทราย หรือ “ตามะแน” (Hog Deer) เป็นกวางขนาดกลางที่มีรูปร่างอ้วนป้อมและขาค่อนข้างสั้น แม้ตัวจะเล็กแต่กลับมีบทบาทสำคัญต่อระบบนิเวศ ด้วยลักษณะที่เป็นเอกลักษณ์ ขนของเนื้อทรายจะเปลี่ยนสีไปตามฤดูกาล ช่วงฤดูร้อนมีสีน้ำตาลแดง ส่วนในฤดูหนาวจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเข้ม
เนื้อทรายอาศัยอยู่ที่ไหน?
เดิมทีเนื้อทรายมีการกระจายพันธุ์กว้างขวาง ตั้งแต่ภาคเหนือของอินเดีย เนปาล ศรีลังกา ไปจนถึงพม่า จีนตอนใต้ ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันประชากรของเนื้อทรายลดลงจากภัยคุกคามต่าง ๆ ทำให้ต้องมีโครงการเพาะเลี้ยงและปล่อยคืนสู่ป่าเพื่อฟื้นฟูประชากร
พฤติกรรมที่น่าทึ่งของเนื้อทราย
เนื้อทรายเป็นสัตว์ที่ค่อนข้างขี้ระแวงและระมัดระวังตัวสูง มักจะตื่นตัวในช่วงเช้าตรู่และช่วงบ่ายแก่ ๆ ใช้เวลากลางวันไปกับการพักผ่อน ชอบอาศัยอยู่ตามลำพังหรือเป็นคู่แม่ลูก บางครั้งรวมกลุ่มเป็นฝูงใหญ่ถึง 40-80 ตัว และที่น่าสนใจคือ เมื่อเจอภัยคุกคาม เนื้อทรายจะไม่หนีกันเป็นฝูง แต่จะแยกตัววิ่งกระจัดกระจายเพื่อเอาตัวรอด
อนาคตของเนื้อทราย และภารกิจการอนุรักษ์
เนื้อทรายถูกจัดให้เป็น สัตว์ป่าคุ้มครอง ตาม พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ซึ่งหมายความว่า สัตว์ป่าที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศ หรือจำนวนประชุากรของสัตว์ป่าชนิดนั้นมีแนวโน้มลดลง ซึ่งอันอาจส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ จึงห้ามล่า ห้ามครอบครอง และห้ามค้าขายโดยเด็ดขาด เว้นแต่ได้รับใบอนุญาตให้เพาะพันธุ์สัตว์ป่าสงวนหรือสัตว์ป่าคุ้มครอง ปัจจุบันมีโครงการอนุรักษ์หลายโครงการที่ช่วยฟื้นฟูประชากรเนื้อทราย โดยนำเนื้อทรายจากสถานที่เพาะเลี้ยงปล่อยคืนสู่ธรรมชาติเพื่อสร้างสมดุลให้กับระบบนิเวศ
อนาคตของเนื้อทราย และภารกิจการอนุรักษ์
เราทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์เนื้อทรายได้โดยการ ไม่สนับสนุนการค้าสัตว์ป่า หลีกเลี่ยงการทำลายแหล่งที่อยู่อาศัย และช่วยกันเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับสัตว์ป่าคุ้มครอง เพราะทุกชีวิตในธรรมชาติล้วนมีความสำคัญ และเมื่อเราอนุรักษ์ธรรมชาติ เราก็กำลังดูแลอนาคตของโลกไปพร้อมกัน
สำหรับผู้ที่สนใจอยากสัมผัสความน่ารักของเนื้อทรายอย่างใกล้ชิด สามารถมาเที่ยวชมได้ที่ “หอชมฟ้าและสถานเพาะพันธุ์สัตว์ป่า” อุทยานพฤกษศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ซึ่งเป็นศูนย์เพาะพันธุ์และอนุรักษ์สัตว์ป่าแห่งหนึ่งของไทย ที่นี่ไม่เพียงแต่ให้โอกาสทุกคนได้เรียนรู้เกี่ยวกับเนื้อทราย แต่ยังเป็นแหล่งศึกษาธรรมชาติที่เต็มไปด้วยพืชพรรณและสัตว์ป่านานาชนิดอีกด้วย
มาเดินเล่น ท่องเที่ยว เรียนรู้ และสัมผัสความงดงามของธรรมชาติไปด้วยกัน!
เพราะทุกชีวิตในธรรมชาติล้วนมีความสำคัญ และเมื่อเราอนุรักษ์สัตว์ป่า เราก็กำลังช่วยรักษาความสมดุลของระบบนิเวศไปพร้อมกัน
อ้างอิง แหล่งที่มาของข้อมูล
Brent Huffman. (2567). Axis porcinus Hog deer. เข้าถึงได้จาก
https://www.ultimateungulate.com/Artiodactyla/Axis_porcinus.html
พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562. (2562, 29 พฤษภาคม). ราชกิจจานุเษกษา. เล่มที่ 136
ตอนที่ 71 ก, หน้า 104-144.
วิกิพีเดีย. (ม.ป.ป). เนื้อทราย. วันที่สืบค้น 9 ธันวาคม 2567,
จาก https://th.wikipedia.org/wiki/เนื้อทราย