
โรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของโลก ทั่วโลกพบผู้เสียชีวิตด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือดมากกว่า 20.5 ล้านคนต่อปี และร้อยละ 85 ของการเสียชีวิตเกิดจากอาการหัวใจวายและโรคหลอดเลือดสมอง สำหรับประเทศไทยข้อมูลจากระบบคลังข้อมูลด้านการแพทย์และสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข (Health Data Center) ปี 2566 พบว่ามีจำนวนผู้ป่วยสะสมด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือดมากกว่า 2.5 แสนราย และเสียชีวิต ด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือดมากถึง 4 หมื่นราย
การสูบบุหรี่ และการได้รับควันบุหรี่มือสองเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตร้อยละ 12 จากโรคหัวใจทั้งหมดการสูบบุหรี่เป็นสาเหตุสำคัญลำดับที่ 2 ของการเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือด รองจากโรคความดันโลหิต
นิโคตินของบุหรี่มีผลกระทบต่อการทำงานของหัวใจและหลอดเลือด อย่างไร ?1. ทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น
นิโคตินกระตุ้นระบบประสาทซิมพาเทติก (Sympathetic nervous system) ทำให้หัวใจเต้นเร็วและแรงขึ้น
เพิ่มภาระการทำงานของหัวใจ → เพิ่มความเสี่ยงหัวใจล้มเหลวในระยะยาว
2. เพิ่มความดันโลหิต
นิโคตินทำให้หลอดเลือดหดตัว (Vasoconstriction) → ความดันโลหิตสูงขึ้น
หลอดเลือดตีบลง → เลือดไหลเวียนยากขึ้น
3. ทำลายเยื่อบุหลอดเลือด (Endothelium)
เยื่อบุหลอดเลือดที่เสียหายจะไม่สามารถขยายตัวเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของร่างกายได้ → เสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจ (Coronary artery disease)
4. เร่งการเกิดคราบไขมัน (Plaque) ในหลอดเลือด
นิโคตินและสารพิษอื่น ๆ จากควันบุหรี่ส่งเสริมให้ไขมัน LDL (ไขมันเลว) เกาะที่ผนังหลอดเลือด
กระบวนการนี้เรียกว่า “ภาวะหลอดเลือดแข็ง” (Atherosclerosis)
5. เพิ่มความเสี่ยงลิ่มเลือด
นิโคตินกระตุ้นการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือด (platelet aggregation)
เพิ่มโอกาสเกิดลิ่มเลือดอุดตัน → เสี่ยง หัวใจวาย หรือ หลอดเลือดสมองตีบ
6. ลดออกซิเจนในเลือด
คาร์บอนมอนอกไซด์จากควันบุหรี่แย่งจับกับฮีโมโกลบิน → ออกซิเจนไปเลี้ยงหัวใจได้น้อยลง
หัวใจต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อชดเชย

ที่มาข้อมูล : https://ddc.moph.go.th/brc/news.php?news=37372&deptcode=brc