Generic selectors
Exact matches only
Search in title
Search in content
Post Type Selectors

ภาพยนตร์ในฐานะภาพสะท้อนชีวิต สังคมและประตูสู่กระบวนการเดินทางภายในของมนุษย์ (Movie as personal introspection mediatory and socio-cultural journey)

“นักจิตวิทยากล่าวไว้ว่าการดูภาพยนต์ดีๆ สักเรื่อง สามารถทำให้วิญญาณของเราสะอาดขึ้น ดังนั้น หลายๆ ครั้งการเรียนรู้ถึงหนทางของการแก้ปัญหาชีวิต เราสามารถใช้บทเรียนบางอย่างที่อยู่ในภาพยนต์มาประยุกต์ใช้กับตัวเองได้ และในท้ายที่สุดแม้เวลาเพียงสองชั่วโมงกับภาพยนต์สักเรื่องอาจจะไม่ได้นำทางเราไปสู่คำตอบ หรือทางออกของปัญหาสารพัดในชีวิตได้แบบทันทีทันใจก็ตาม แต่อย่างน้อยช่วงเวลาของภาพยนต์ที่มีแง่มุมด้านบวกสักเรื่องนั้นตั้งแต่เริ่มฉายจนถึงตอนจบ จิตใจของเรากำลังถูกปลอบประโลมทีละเล็กละน้อยไปในตัวอย่างแน่นอน” (Thamonwan Kuana, 2562)

ภาพยนตร์นับได้ว่าเป็นสื่อศิลปะรูปแบบหนึ่งที่อยู่คู่สังคมมนุษย์มาเนิ่นนาน ในอดีตก่อนมีนวัตกรรมการถ่ายทำลงบนแผ่นฟิล์มมนุษย์เราใช้เรื่องเล่า และการแสดงสดอย่างละครเวที โอเปร่า หมอลำเรื่อง  ลำตัด การเล่านิทาน และสารพัดรูปแบบกลวิธีการเล่าเรื่อง (Storytelling) ที่ผสานเอาทั้งโลกแห่งความจริงและจินตนาการเข้าไว้ด้วยกันทำหน้าที่สร้างความบันเทิงพร้อมกับถ่ายทอดความหมาย บันทึกเรื่องราว เชื่อมโยงผู้คนในสังคมจากที่หนึ่งไปยังอีกพื้นที่หนึ่ง จากคนรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่ง  คำถามที่น่าสนใจประการหนึ่งคือ ทำไมมนุษย์เราจึงชื่นชอบที่จะเสพย์ และเลือกใช้ศิลปะแขนงนี้ในการสื่อสารมาทุกยุคทุกสมัย  เสน่ห์และคุณค่าของภาพยนตร์ต่อผู้ชมที่ซ่อนอยู่นั้นคืออะไร

หากพิจารณาเบื้องต้น “ความบันเทิง” ดูจะเป็นคำตอบแรกในใจใครหลายคน ซึ่งนั้นก็ไม่ผิดอะไร เพราะในแง่มุมของจิตวิทยาได้มีการศึกษาวิจัยจำนวนไม่น้อยที่ช่วยยืนยันว่า องค์ประกอบต่างๆของภาพยนต์ 1 เรื่องนั้นสามารถเชื่อมโยงเอาความรู้สึกของผู้ชมไว้ได้หลายแง่มุม บ้างทำให้เกิดความคล้อยตาม หรือชี้ชวนให้เกิดปความรู้สึกร่วมจากการมีประสบการณ์ที่คล้ายคลึงกับเนื้อเรื่อง บ้างกระตุ้นเตือนให้เกิดความตื่นเต้น สะเทือนใจผ่านบทเพลง ลำดับภาพ ที่ถูกออกแบบมาให้ทำหน้าเที่คล้ายดึงให้ผู้ชมได้เข้าไปมีพื้นที่โลดแล่นไปกับปรากฏการณ์ใหม่ร่วมกับการเดินเรื่อง หรือการเติบโตของตัวละคร นักวิทยาศาสตร์ได้ทำการพิสูจน์สื่อประสาทและสารเคมีในสมองของอาสาสมัครผู้ดูภาพยนต์ประเภทต่างๆพบว่า เมื่อเราดูภาพยนต์และเริ่มการการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ไปกับเรื่องราวที่สายตาเราประจักษ์ กลไกทางสมองจะเริ่มทำการหลั่งสารเคมีอย่างโดปามีน (Dopamine) อะดรีนาลีน (Adrenaline) และเซโรโทนิน (Serotonin) ได้ซึ่งสารสื่อประสาททั้ง 3ตัวนี้ทำหน้าที่สำคัญในการควบคุมอารมณ์ ความรู้สึกของมนุษย์ จนได้รับชื่อเรียกว่า “สารแห่งความสุข” นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไม่หลายคนจึงรู้สึกเสพติดการดูภาพยนต์ที่มีตอนจบแบบ Happy Ending หรือ ชอบดูภาพยนต์เมื่อรู้สึกเครียดนั่นเอง

ในมุมมทองทางมานุษยวิทยาและสังคมวิทยา “ภาพยนต์” มีหน้าที่ และอิทธิพลที่หลากหลายและลุ่มลึกมากกว่าการเป็นเครื่องมือกระตุ้นสารสร้างสุขในสมองมนุษย์ หากแต่ทำหน้าที่คล้ายกล่องแพนดอร่า (Pandora Jar) ที่ผู้กำกับ นักเขียนบท นักแสดงได้ร่ายมนต์ ซุกซ่อนรหัสเอาไว้ บางครั้งเป็นประเด็นการเมืองที่ถูกห้ามพูดถึงในโลกแห่งความจริง บ้างเป็นภาพบันทึกความโหดร้ายของประวิติศาสตร์ หรือปรากฏการณ์ทางสังคมที่ห่างไกลคำว่า “ เพื่อความบันเทิง” สิ่งเหล่านี้ถูกถักทอไว้ในทุกรายละเอียดตั้งแต่บท ฉาก สี แสง เพลงประกอบ แววตาท่าทางของผู้เล่นในแต่ละบทบาท ส่วนผู้ชมเองก็มีสลักลึกลับภายในใจที่รอคอยให้ตัวละคร และเรื่องราวของภาพยนต์เข้าไปสัมผัสเพื่อปลดล็อค โดยแต่ละคนต่างมีระดับความลึกของจุดศูนย์กลางความสั่นสะเทือนหรือความอ่อนไหวทางอารมณ์ต่อประเด็นต่างๆที่ภาพยนต์นำเสนอแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับภูมิหลังทางสังคมและวัฒนธรรมของแต่ละคน เช่น ตัวละครตลกในบางเรื่องอาจเรียกน้ำตาของใครสักคนเพราะได้นำเสนอภาพความเหลื่อมล้ำต่ำต้อยของชีวิตคนชนบทที่เพิ่งเข้ามาพบความตื่นตาตื่นใจของเมืองใหญ่จนกลายเป็นความน่าขบขันในสายตาคนเมืองกรุง หรือบทสนทนาของตัวละครบางตอนอาจพาผู้ชมเดินทางย้อนกลับในห้วงทรงจำวัยเด็กและสั่นคลอนความเป็นตัวตนในปัจจุบันได้อย่างอัศจรรย์ ด้วยเหตุนี้แรงสั่นสะเทือนที่ภาพยนต์สักเรื่องหนึ่งกระทำต่อผู้ชมและสังคมจึงมีความเฉพาะตัวยากจะคาดเดาได้ว่าจะไปสิ้นสุดที่จุดใด ยกตัวอย่างเช่น ในกรณีของประเทศเกาหลีใต้ภาพยนต์เกี่ยวกับสตรีที่ถูกจับไปเป็นเชลยบำเรอ (Comfort Woman) ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เช่น Spirits’ homecoming ที่ the Apology (2016) ที่ถูกสร้างขึ้นไม่ใช่เพื่อความบันเทิง หากแต่ถูกใช้เป็นเครื่องมือบันทึกความรวดร้าวหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์ชาติ โดยกระทรวงวัฒนธรรมเกาหลีได้สนับสนุนการสืบค้นข้อมูลทางประวัติศาสตร์เชิงลึก ตลอดจนสมทบทุนสร้างเพื่อความสมจริงโดยให้เหตุผลว่าความโหดร้ายที่ชาวเกาหลีได้รับนั้นจะต้องไม่ถูกลบเลือนไปจากทรงจำของเยาวชนในชาติ และผู้คนบนโลกใบนี้ จนกว่าจะประเทศเกาหลีใต้จะได้รับการแถลงของโทษอย่างเป็นทางการจากรัฐบาลของประเทศที่เกี่ยวข้อง ในหลายครั้งภาพยนต์ที่กล่าวถึงสงครามนี้ถูกใช้เป็นเครื่องกระตุ้นลัทธิชาตินิยมภายในชาติและใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองระดับระหว่างประเทศของเกาหลีใต้

แม้ผู้ชมต่างรู้ดีว่าภาพยนตร์ถูกประกอบสร้างขึ้นด้วยการแต้มแต่งของนักประพันธ์บท ผู้กำกับ และการแปลงสารผ่านทักษะการแสดงของตัวละครแต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าในความ “ไม่จริง” กลับแฝงเร้นไว้ด้วยภาพสะท้อนของยุคสมัย ค่านิยมทางสังคม ตลอดจนชุดความจริง ที่อาจโหดร้ายเกินกว่าจะบอกเล่ามันในฐานะอื่น เพราะบางเรื่องการพบเจอในชีวิตจริงอาจกระทันหันและชวนเจ็บปวดเกินจะถ่ายทอดในฐานะประสบการณ์ตรง อาทิ ปัญหาความรุนแรงในโรงเรียน ความแตกสบายของสถาบันครอบครัว หรือแม้กระทั่งอาจเป็นเรื่องที่ไม่ควรบอกเล่าตามบรรทัดฐานความเชื่อ หรือศีลธรรมในสังคมนั้น ๆ ได้โดยง่าย ภาพยนต์จึงทำหน้าที่เป็นพื้นที่บอกเล่าความจริงบางอย่างที่สังคมไม่สะดวกจะเอื้อนเอ่ยทางตรง (Inconvenient Truth) ในแง่นี้ภาพยนตร์ทำหน้าที่เป็น “เครื่องมือ” ในการสื่อสารผ่านนามของศิลปะที่มนุษย์ใช้ส่งต่อเรื่องราวทั้งที่เป็นข้อเท็จจริง จินตาการ องค์ความรู้ แรงบันดาลใจจากคนกลุ่มหนึ่งในสังคมไปถึงคนอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งแน่นอนว่าความบันเทิงเป็นเพียงหนึ่งในสรรพคุณพื้นฐานของมัน หากผู้ชมรู้วิธีสกัด ถอดรหัส แล้วบริโภคอย่างถูกวิธีแน่นอนว่าภาพยนต์เพียงเรื่องเดียวอาจทำหน้าที่เยียวยาเราได้ไม่ต่างจากการเข้าพบจิตแพทย์ หรืออาจเป็นดั่งตั๋วเครื่องบินชั้นดีที่จะพาใจและโลกทัศน์ของเราท่องไปเรียนรู้บริบทของวัฒนธรรม สังคม และวิถีชีวิตของผู้คนในแต่ละมุมโลกในวันที่สองเท้าของเรายังมิอาจออกเดินทาง

ทุกวันนี้ความทันสมัยของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมากมายทำให้เราเข้าถึงภาพยนตร์ได้หลายช่องทางมากขึ้น จากในอดีตที่เป็นภาพยนต์กลางแปลงเร่ฉายตามลานหมู่บ้าน ลวนสาธารณะ จนมาเป็นโรงภาพยนตร์ ที่กว่าได้ชมในแต่ละครั้งต้องเสียทั้งต้นทุนค่าเดินทาง ค่าสถานที่ ไปสู่แพลตฟอร์มออนไลน์ที่มีสารพัดแอปพลิเคชั่น และเครื่องมือช่วยให้การเข้าถึงเป็นไปอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ในแง่ของผู้ผลิตเทคโนโลยีที่ล้ำหน้าอย่าง AI (Artificial Intelligence) และ CG (Computer Graphics) ยังทำให้ภาพยนตร์ทุกวันนี้สามารถทำหน้าที่รังสรรค์โลกเสมือนจริง หรือแม้กระทั่งโลกเหนือจินตนาการคนเราได้อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ ทำให้ ปัจจัยที่เคยเป็นกำแพงขวางกั้นการเข้าถึงภาพยนตร์ในชีวิประจำวันของเราทั้งทางทางกายภาพ เศรษฐกิจ หรือ ภาษา ถูกกร่อนสลายไปด้วยปฏิบัติการของยุคโลกาภิวัตน์ (Globalization) ทำให้ปัจจุบันนี้ภาพยนตร์กลายเป็นสื่อราคาย่อมเยาว์ที่หอบหิ้วเอาความรู้ ความคิด ของผู้คน ข้ามภาษาและวัฒนธรรมไปสู่ประตูครัวเรือนของผู้คนแทบทุกช่วงชั้นทางสังคม สัญชาติของภาพยนต์อย่างภาพยนต์ไทย ภาพยนต์ฮอลลีวูด ภาพยนต์บอลลีวูด ภาพยนต์เกาหลี ถูกแปะฉลากใหม่ในฐานะสินค้าสากลทางวัฒนธรรม ที่ไร้พรมแดน นอกจากนี้ภาพยนต์ยังมิได้เพียงนำพาเอาเรื่องราวจากผู้กำกับไปเผยแพร่สู่สาธารชนเท่านั้นแต่ยังพ่วงเอาอิทธิพลทางความงาม (Beauty Standard) วัฒนธรรม ค่านิยมการบริโภค แฟชั่น เรื่อยไปจนถึงประเด็นทางสังคมข้ามประเทศ ปรากฏการณทางสังคมเช่นนี้เป็นอำนาจ Soft Power ที่แทรกซึมพรมแดนการควบคุมของรัฐไปได้อย่างง่ายดาย ในบางประเทศอย่างอเมริกา และเกาหลี ภาพยนตร์เหล่านี้ยังสามารถสร้างรายได้ทางเศรษฐกิจ และขยายเขตอิทธิพลทางวัฒนธรรมได้อย่างหมาศาลไม่แพ้ภาคการผลิตอื่นๆในประเทศ

จะเห็นได้ว่าผ่านการนั่งชมภาพยนตร์สักเรื่อง เราได้สร้างปรากฏการณ์ทางสังคม ได้เดินทางท่องโลกกว้างทั้งโลกใต้ติน โลกในอวกาศ เรื่อยไปจนถึงโลกอนาคตในจินตนาการ และที่สำคัญที่สุดบ่อยครั้งเราได้เดินทางเข้าไปพบตัวเอง หรือได้เข้าใจบริบทของชีวิตและสังคมผ่านตัวละครและเส้นทางการเล่าเรื่อง หรือการเติบโตของตัวละครอย่างน่าอัศจรรย์ หลายครั้งที่ชะตากรรมของตัวละครอาจทำให้บางคนสะท้อนใจจนหลั่งน้ำตาและตั้งคำถามกับตัวเองว่าหากเรื่องนี้เกิดขึ้นกับชีวิตตนเองจะสามารถรับมือได้เอย่างไร บางครั้งบทสนทนาและแววตาของนักแสดงได้พาเราเดินทางกลับไปเข้าใจครอบครัว เพื่อน หรือแม้กระทั่งบริบทของเหตุการณ์บ้านเมืองที่เราอาจเคยมองข้ามหรือปัดมันซ่อนไว้ที่ใดสักแห่งในใจเพราะไม่สามารถจะเข้าใจหรือคลี่คลายมันได้ในจังหวะแรกปะทะ เรื่องราวระหว่างบรรทัดของบทภาพยนตร์ คุณค่าทางสังคม หรือทรงจำของชีวิตล้วนเป็นบทเรียนอันมีค่าที่ถูกลงรหัสไว้รอให้เราเดินทางไปสัมผัส ภาพยนต์ดีๆสักเรื่องเมื่อแรกเริ่มดูเรามักรู้สึกว่าตัวเองเป็นเพียง “ผู้ชม” คล้ายเป็นคนนอก (Outsider) แต่เมื่อเส้นเรื่องค่อยๆคลี่คลายสยายปมของตัวละครออกไป เรากลับพบว่าห้วงความคิด ปัญหา ความปวดร้าว หรือ รูปแบบการเติบโตของตัวละครแต่ละตัวกลับคลล้ายกับเรา หรือฉายทับไว้ด้วยเงาของผู้คนรอบตัวอย่างไม่น่าเชื่อ ด้วยเหตุนี้ภาพยนต์จึงไม่ใช้เพียงเรื่องของคนอื่น แต่เป็นพื้นที่ที่เราสามารถเรียนรู้ เข้าใจ และค้นพบตัวตนของเรา ผู้คนและสังคมที่หลากหลาย การรู้จักวิธีพิเคราะห์ภาพยนต์จึงสามารถเป็นเครื่องมือชิ้นเอกที่จะพาทุกคนไปสำรวจ โลกทั้งภายในและภายนอกที่เราอาจไม่เคยจินตนาการถึง

บทความนี้ตัดตอนมาจากส่วนหนึ่งเอกสารประกอบการแนะนำรายวิชาเลือกเสรี ภาพยนตร์และศิลปะการแสดงเพื่อสุนทรียะของชีวิต (Cinemas and Performing Arts for the Aesthetics of Life) ของสำนึกวิชาพหุภาษาและการศึกษาทั่วไป มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โดย อ.ดร.พรรณยุพา ธรรมวัตร

บรรณานุกรม

กฤษดา เกิดดี (2559). ภาพยนตร์วิจารณ์. สำนักพิมพ์ The Writer’s secret.กรุงเทพฯ
จักรกริช สังขมณี(2564). เสวนาเรื่อง’เกาหลียุคปัจจุบัน’ มองการเมืองและสังคมผ่านสื่อบันเทิงเกาหลีใต้. ประชาไทย
อริสา พิสิฐโสธรานนท์ (2559). เข้าใจภาพยนต์ เข้าใจจิต: วิเคราะห์ 3 มหากาพย์ภาพยนตร์แบบจิตวิทยาวิเคราะห์. สำนักพิมพ์สวนเงินมีมา.กรุงเทพฯ
Psychology Of Filmmaking: What You Need To Know To Make Your Ideas Stick • Filmmaking Lifestyle (filmlifestyle.com) Retrieved from https://filmlifestyle.com/psychology-of-filmmaking/
Thamonwan Kuana(2562). Aday Bulletin, https://adaybulletin.com/talk-painkiller-11-movies-and-the-meaning-of-life/42662) เข้าชมเมื่อ 4/5/2566
The Matter (2021).Soft Power มูลค่า 5 พันล้านดอลลาร์ฯ : K-pop ความบันเทิงที่ทำให้เศรษฐกิจเกาหลีใต้เติบโต https://thematter.co/brief/154899/154899 เข้าชมเมื่อ 4/5/2566

รู้จักผู้เขียน

อ.ดร.พรรณยุพา ธรรมวัตร ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำสำนักวิชาพหุภาษาและการศึกษาทั่วไป จบการศึกษาระดับปริญญาตรีและโทด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปริญญาเอกด้านพัฒนศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น นอกเหนือจากความสนใจด้านการพัฒนาพื้นที่เศรษกิจชายแดนในอนุภูมิภาคแม่น้ำโขง และการลดปัญหาความยากจนในพื้นที่ดังกล่าวแล้ว ยังชื่นชอบการท่องโลกทั้งภายนอกและภายในผ่านแผ่นฟิล์ม ดนตรีและสารพัดสื่อบันเทิงบนแพลตฟอร์มออนไลน์

Facebook Comments Box