Generic selectors
Exact matches only
Search in title
Search in content
Post Type Selectors

ความรัก ความสุข จากปู่ย่าตายาย ในการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

“  การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ แสนวิเศษ มีประโยชน์มากมาย ทั้งต่อตัวแม่เอง และลูกน้อย ทั้งด้านร่างกายและจิตใจ  ตลอดจนความสุข รอยยิ้มของคนในครอบครัว แผ่ขยายไปถึงระดับเศรษฐกิจชุมชนและพัฒนาสังคมให้ดีขึ้น เริ่มต้นจากอิ่มอุ่นนมแม่ สู่การสร้างคนคุณภาพของประเทศ  ”

ซึ่งสำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้ให้ความสำคัญในเรื่องของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เพื่อพัฒนาเป็นสถาบันต้นแบบการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ตามกรอบแนวคิดEPA

การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวโดยไม่ให้สารน้ำหรือสารอาหารอื่น ๆ ผสมในระยะ 6 เดือนหลัง คลอด (Exclusive Breastfeeding) ลดลงจากอดีตเป็นอย่างมากจนน่าตกใจ  จากการสำรวจ พบว่า ปู่ย่าตายาย เป็นคนสำคัญที่สามารถให้การช่วยเหลือดูแลมารดาในการเลี้ยงดูทารกแรกเกิดได้ดีเยี่ยม ไม่น้อยไปกว่าสามีหรือพ่อของลูกเลย  หลายบ้านมีปู่ย่าตายายช่วยกันเลี้ยงหลานน้อย ตั้งแต่แรกคลอดใหม่ๆ มีการส่งต่อประสบการณ์การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในแง่มุมต่าง ๆเป็นอย่างดี ตลอดจนช่วยปกป้อง ส่งเสริม สนับสนุน การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ให้ยั่งยืนอีกด้วย

ความรัก ที่ปู่ย่าตายายมีต่อหลานน้อยนั้น ไม่น้อยไปกว่าความรักที่มีต่อลูกแท้ ๆของตนเองเลย  ออกจะรักหลานน้อย มากกว่าลูกแท้ๆของตนด้วยซ้ำ ดังที่เห็นคุ้นตาตามท้องถิ่นทั่วไปในประเทศไทย  หลานน้อยสามารถสร้างรอยยิ้ม สร้างพละกำลังของผู้ใหญ่ในบ้านได้เป็นอย่างดี  ก่อเกิดความสุขกันถ้วนหน้าในครอบครัว

ประโยชน์หนึ่งที่แสนดีเลิศของการเลี้ยงลูกด้วยแม่ คือ ความประหยัด เพราะไม่ยุ่งยาก ไม่ต้องใช้อุปกรณ์ มีเพียงสองเต้า ก็สามารถทำให้ทารก อิ่มอุ่น เติบโตเป็นคนคุณภาพของสังคมได้แล้ว ทำให้คนในครอบครัวมีความสุข สุขที่ได้เห็นพัฒนาการที่ดีเยี่ยมของลูก และสุขที่มีเงินเก็บมากขึ้น เนื่องจากลูกกินนมแม่อย่างเดียวก็อิ่มท้องเพียงพอแล้ว

ความรัก ความสุข สู่การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ให้สำเร็จได้  จึงไม่ใช่เพียงเรื่องของแม่-ลูก สองคนอีกต่อไป บ้านหลังไหนที่มีทั้งสามีคอยดูแลสนับสนุนอย่างใกล้ชิด มีปู่ย่าตายายคอยชี้นำทางด้วยความรัก ความเข้าใจ บ้านหลังนั้นจะเป็นบ้านที่ปลอดภัย ไม่ว่าเจออุปสรรคใด สามารถช่วยกันแก้ไข ให้การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่สำเร็จไปได้ด้วยดี อย่างราบรื่น

ขอขอบคุณภาพจาก canva และข้อมูลจาก WHO

เขียนโดย

อาจารย์ปฤษดาพร ผลประสาร

หัวหน้ากลุ่มสาขาวิชาการพยาบาลมารดาทารกและผดุงครรภ์

อาจารย์ประจำสำนักวิชาพยาบาลศาสตร์

ม.วลัยลักษณ์

Facebook Comments Box