
ภาษากาย หรือ Body Language เกิดจากสมองมนุษย์ส่วนลิมบิกเพื่อสั่งการผ่านมาทางสีหน้า แขน ขา ลำตัว ปรากฏต่อภายนอกที่คนอื่นสามารถสังเกตเห็นได้ และเป็นปฏิกิริยาตอบสนองที่ซื่อตรง ทำให้ถือว่าเป็นการสื่อสารอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งผู้อื่นสามารถสังเกตได้ และมีคำพูดที่พูดต่อๆกันมาว่า หากเราเชื่อคำพูดของผู้พูดไม่ได้ ให้สังเกตปฎิกิริยาภาษากายดู เพราะร่างกายไม่สามารถโกหกได้
ถ้าถามว่า ทำไมเราต้องเรียนรู้ภาษากาย ? จะบอกว่าประโยชน์ที่เราสามารถรับรู้เรื่องภาษากายนั้นมีมากมายจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นการเข้าใจและรับรู้ถึงอารมณ์ ความคิดของผู้ที่เราสนทนาด้วย การวิเคราะห์ท่าทางที่ดีที่ถูกต้อง ซึ่งเราสามารถนำมาประยุกต์ปรับใช้ในการทำงาน ติดต่อธุรกิจ หรือสร้างบุคลิกภาพของเราให้ดูดีและสามารถสื่อสารกับคนอื่นได้อย่างมั่นใจ
การสังเกตภาษากายในลักษณะอาการต่างๆ
ภาษากายที่จะแสดงออกมาเมื่อ โกหก เช่น การเอามือปิดปากหรือยิ้วปิดปากทันที,การนำมือมาถูหรือแตะจมูกรวดเร็ว เพราะมีงานวิจัยพบว่า ในเวลาโกหกจะมีสารเคมีหลั่งออกมาทำให้จมูกมีอาการพองขึ้น และมีอาการระคายเคือง,การถูตา หรือบางคนจะไม่ใช้มือถูตาแต่จะกรอกตาหรือมองไปทางอื่นแทน,การดึงคอเสื้อหรือปกเสื้อ เพราะบริเวณลำคอ จะมีความดันโลหิตที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้เหงื่อออกบริเวณลำคอ และเกิดปฎิกิริยาดังกล่าวขึ้น,ไม่สบตาผู้สนทนาหลีกลี่ยงไม่มองตาระหว่างพูดคุยกันและมักจะกระพริบตาถี่ๆ เนื่องจากมีความรู้สึกกดดันนั้นเอง
ภาษากายที่จะแสดงออกมาเมื่อ เครียด เช่น การกัดเล็บมือ,การกัดริมฝีปากหรือเม้มปาก,ยืนกระสับกระส่ายหรือลุกลี้ลุกลน,มือสั่น,ม้วนผมเล่นบ่อยๆ รวมถึงกระพริบตาบ่อยๆ
ภาษากายที่จะแสดงออกมาเมื่อ มีความสนใจ เช่น การจ้องตา,การเบิกตากว้าง,นั่งตัวยืดตรง
ภาษากายที่จะแสดงออกมาเมื่อ กลัว เช่น การหลุบตาลงต่ำ กระพริบตาเร็วและถี่
รวมถึงการแสดงท่าท่างต่างๆออกมา ก็สามารถบ่งบอกอารมณ์และความรู้สึกได้เช่นกัน
การนั่งไขว้ขา หรือนั่งไขว่ห้าง เป็นสัญญาณที่สื่อถึงการกีดขวางไม่ว่าจะทางจิตใจ อารมณ์ หรือร่างกายจากฝ่ายตรงข้าม และท่าทางนี้ยังหมายถึงการเบื่อหรือการหมดความอดทนได้อีกด้วย
การเอามือเท้าเอว หมายถึง การแสดงความพร้อมในการรับมือสถานการณ์และยังหมายถึงท่าทางที่แสดงถึงความก้าวร้าวและไม่เข้าใจได้อีกด้วย
การนั่งค้อมตัวไปข้างหน้า หมายถึง การไม่สนใจ การไม่มีสมาธิ แต่การยืดตัวตรง หมายถึงการตั้งใจ การสนใจ
การนั่งแยกขากว้าง ๆ หมายถึง รู้สึกปลอดภัย ผ่อนคลาย และสบายใจ
การหันฝ่ามือออกด้านนอก หมายถึง การปฏิเสธ
วิธีการพัฒนาภาษากายของเราให้ดูดียิ่งขึ้น
- เริ่มต้นจากการสังเกตท่าทางของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นการสนทนา ท่าทางการยืน การนั่ง การเดิน เพราะจะทำให้คนอื่นที่สังเกตท่าทางของเราเกิดความเข้าใจผิดได้
- การสบตา การสบตา มองตา จะทำให้ทุกคนรับรู้ถึงความรู้สึก ยิ่งการสบตาในที่ประชุมหรือการนำเสนอต่างๆ จะทำให้เพิ่มการเข้าถึงและเป็นการแสดงออกถึงความตั้งใจอีกด้วย
- การใช้โทนเสียง การคุมโทนเสียงสำคัญพอๆกับการวางท่าทางกิริยา เพราะส่งผลต่อความเข้าใจของผู้ฟัง เช่น ไม่ตะคอก พูดเสียงดัง และ ไม่พูดเบาจนฟังไม่เข้าใจ
- การวางมือ การวางมือของเราในท่าทางต่างๆ เช่น การซ่อนมือไว้ข้างหลังจะแสดงถึงความไม่มั่นใจ รวมถึงการแกว่งไปแกว่งมา นอกจากจะทำให้บุคลิกภาพไม่ดีแล้วยังทำให้ดูเหมือนไม่ตั้งใจอีกด้วย
ภาษากายที่ควรหลีกเลี่ยงในขณะพูดคุย
- การเล่นหัวแม่มือ หมายถึง การไม่มีสมาธิและจิตใจกำลังคิดเรื่องอื่นอยู่ ไม่ตั้งใจในการพูดคุย
- การเคาะโต๊ะ หมายถึง แสดงถึงไม่มีความเกรงใจผู้สนทนาและเบื่อหน่ายในการพุดคุย
- การชี้นิ้ว หมายถึงเป็นการแสดงแง่ลบ ก้าวร้าว และไม่ให้เกียรติผู้สนทนา
- การกอดอก หมายถึงรู้สึกกลัว ประหม่า ไม่เปิดใจ และแสดงถึงความเย่อหยิ่ง ไม่มีความอ่อนน้อม
- การแกะเกาสิ่งต่างๆ หมายถึงแสดงถึงความรู้สึกไม่ปลอดภัย ไม่มั่นใจ และเสียบุคลิก