
ผมเชื่อว่า มีหลายคนที่ไม่ค่อยชอบอะไรที่เกี่ยวกับภาษี คุณก็เป็นอีกคนหนึ่งในนั้นใช่ไหมละครับ เพราะคิดว่าเป็นเรื่องวุ่นวาย ยุ่งยาก แต่ถึงแม้จะไม่ค่อยชอบยังไง ก็ต้องมีสักครั้งในชีวิตแหละที่แอบคิดหรือ แอบกังวัลในใจว่า เอ๊ะ!! เราต้องมีรายได้เท่าไหร่ ถึงจะต้องเสียภาษี แล้วถ้าเรามีรายได้น้อยๆ ที่ยังไม่ถึงเกณฑ์ต้องเสียภาษี ต้องทำอะไรบ้าง วันนี้ผมจะบอกให้คุณทราบว่า คุณจะปล่อยเนียนๆ แล้วคิดว่า ฉันไม่รู้ ฉันไม่ทำ ฉันก็ไม่ผิด คุณจะคิดแบบนั้นไม่ได้อีกแล้วนะ เพราะอะไรนะหรอ ? วันนี้ผมจะพาคุณไปรู้จัก แล้วคุณจะทั้งรัก ทั้งห่วง ทั้งหน่วงๆ เสียวสันหลัง กันเลยทีเดียว Let’s gooooooooo……

ก่อนอื่นผมอยากให้คุณรู้ที่มาที่ไปแบบสั้นๆกระชับๆ กันก่อนครับ
คุณรู้หรือไม่ว่า กรมสรรพากรเป็นหน่วยงานที่จัดเก็บรายได้สูงสุด เป็นอันดับ 1 จาก 5 กลุ่มหน่วยงาน ที่มีหน้าที่จัดเก็บรายได้ให้กับรัฐบาล เพื่อใช้ในการบริหารประเทศ ซึ่งหนึ่งในการจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพากรคือ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ที่จัดเก็บจากเราๆ ที่เป็นคนธรรมดาทั่วไปนี้แหละครับ ซึ่งรายได้ของเราถ้าดูตามประมวลกฎหมายรัษฎากร มาตรา 40 กำหนดไว้ ประกอบด้วย (1) เงินเดือน โบนัส ค่าล่วงเวลา (2) ค่าจ้างทำงานให้เป็นครั้งคราว (3) ค่าลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร (4) ดอกเบี้ย เงินปันผล ส่วนแบ่งกำไร (5) ค่าเช่า (6) ค่าวิชาชีพอิสระ (7) ค่ารับเหมาก่อสร้าง (8) รายได้อื่น ๆ ที่นอกเหนือจาก (1)-(8) เช่น เงินได้จากธุรกิจพาณิชย์ ร้านค้า ขายสินค้าออนไลน์ การขนส่ง โรงแรม ร้านตัดผมเสริมสวย นักร้อง นักแสดง เป็นต้น แต่…คำถามคือ!!
เราต้องมีรายได้เท่าไหร่? ถึงจะต้องเริ่มเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
งั้นเรามาช่วยกันไขข้อสงสัยนี้ไปพร้อม ๆ กันนะครับ เริ่มจากที่เราต้องรู้จักวิธีการคำนวณภาษีฯ ซึ่งอาจดูเหมือนรายละเอียดเยอะ เข้าใจยาก แต่ไม่เลยครับ มันไม่ได้มีอะไรวุ่นวายซับซ้อนเลย รายละเอียดขั้นตอน ดังนี้ครับ

เริ่มจากขั้นตอนที่ 1. ให้เรานำรายได้ทั้งปีของเราไม่ว่าจะเป็นค่าอะไร มาหักค่าใช้จ่ายตามอัตราที่กำหนด เมื่อได้แล้วก็นำมาหักค่าลดหย่อน ซึ่งในแต่ละปี รายละเอียดการลดหย่อนจะไม่เหมือนกัน แต่ก็มีบางส่วนที่ยังคงเดิมเหมือนกันในทุกๆปี ซึ่งข้อมูลเหล่านี้สามารถดูได้จากหลายๆแหล่งเลยข้อมูล แต่ถ้าจะให้ชัวร์และครอบคลุม ให้เข้าไปดูที่เว็บไซต์ของกรมสรรพากรได้เลยครับ เมื่อเอารายได้หักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนเรียบร้อยแล้ว เราจะได้ยอดเงินได้หรือยอดรายได้สุทธิที่จะนำไปคำนวณในขั้นตอนที่ 2

ในขั้นตอนที่ 2. เราก็เอายอดเงินได้หรือรายได้สุทธิจากขั้นตอนที่ 1 มาเทียบกับอัตราภาษีแบบขั้นบันได ซึ่งถ้ามีเงินเหลือจากขั้นตอนที่ 1 ไม่ถึง 150,000 บาท ก็ได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษี แต่ถ้ามีรายได้ที่ว่ามากกว่า 150,000 บาท ให้นำมาเทียบกับอัตราภาษีในขั้นถัดไป จะได้จำนวนเงินที่เราต้องเสียภาษีให้กับกรรมสรรพากรนั้นเองครับ

คุณลองนึกตามไปพร้อมกับผมนะ หากคุณเป็นคนโสด ย้ำว่า โสดดด !! จะโสดแสนดีมีแค่พี่น้อง หากไม่จดทะเบียนสมรส ก็ถือว่าโสดนะครับ แล้วคุณมีรายได้เฉพาะเงินเดือนเพียงอย่างเดียว และสามารถหักค่าลดหย่อนได้เฉพาะตัวคุณเองคือ 60,000 บาท ดังภาพการคำนวณตัวอย่างจะเห็นได้ว่า คุณต้องมีเงินเดือน ตีเป็นตัวเลขกลมๆคือ เดือนละ 26,000 บาท จึงจะต้องเสียภาษีฯ แล้วยิ่งถ้าคุณสามารถหักลดหย่อนรายการอื่นๆได้อีก ก็ต้องมีเงินเดือนมากกว่านั้นอีก ถึงจะต้องเสียภาษีฯ เห็นไหมครับว่า การคำนวณเบื้องต้นง่ายนิ๊ดดดเดียว คุณจะได้รู้ตัวเองไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ สามารถวางแผนอนาคตทางภาษีสำหรับตัวเองได้
แต่ๆๆๆๆๆๆ !!!!!!
สิ่งที่ไม่ต้องรออนาคต สิ่งที่ต้องรู้ตอนนี้ คืออะไรรู้ไหม ??

ยังมีอีกหลายคนที่คิดว่า ฉันเงินเดือนน้อย รายได้น้อย คำนวณแล้ว ไม่ถึงเกณฑ์ต้องเสียภาษีฯ ก็ไม่ต้องยื่น ไม่ต้องทำอะไรเลย ไม่ๆๆๆๆ!!! คุณเข้าใจผิดครับ เนื่องจากกรมสรรพากรกำหนดให้ ผู้ที่มีรายได้ไม่ถึงเกณฑ์ต้องเสียภาษี หากเป็นคนโสด มีรายได้เฉพาะเงินเดือน ตั้งแต่ 120,000 บาท หรือมีรายได้อื่นนอกเหนือจากเงินเดือน ตั้งแต่ 60,000 บาท และบุคคลที่สมรส(คู่สมรสไม่มีรายได้) มีรายได้เฉพาะเงินเดือน ตั้งแต่ 220,000 บาท หรือมีรายได้อื่นนอกเหนือจากเงินเดือน ตั้งแต่ 120,000 บาท มีหน้าที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ไม่ต้องเสียแต่ต้องยื่นนะครับ) ภายในวันและเวลาที่กรมสรรพากรกำหนด ซึ่งในปี พ.ศ. 2567 ถ้ายื่นแบบกระดาษ ณ กรมสรรพากร สิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2568 แต่ถ้ายื่นภาษีออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ https://efiling.rd.go.th สิ้นสุดวันที่ 8 เมษายน 2568 ครับ

สุดท้าย ท้ายสุดของเนื้อหาที่เล่ามาทั้งหมด คือต้องการเน้นย้ำให้คุณได้ทราบว่า หากมีรายได้ไม่ถึงเกณฑ์ต้องเสียภาษี แต่ไม่ยื่นแบบรายการภาษี ระวัง !! จะโดนค่าปรับ ตามที่กฎหมายกำหนด รู้แล้วก็ไปยื่นแบบภาษีภายในวันและเวลาที่กรมสรรพากรกำหนดกันด้วยนะ ด้วยความปราถนาดีจาก นายเจษฎา รักสินทร์ ตำแหน่งผู้ตรวจสอบภายใน หน่วยตรวจสอบภายใน มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ขอบคุณและสวัสดีครับ..

