Generic selectors
Exact matches only
Search in title
Search in content
Post Type Selectors

พยากรณ์อากาศแบบไทยไทย (๑)

บทความโดย อาจารย์ธีรวัฒน์ กล่าวเกลี้ยง (หัวหน้าสาขาวิชาภาษาไทย สำนักวิชาศิลปศาสตร์)

ช่วงนี้มีฝนตกบ่อย แทบจะทุกภาคของประเทศ  การติดตามข่าวพยากรณ์อากาศอาจช่วยให้เราสามารถรับมือกับสภาพดินฟ้าได้ไม่มากก็น้อย  การพยากรณ์อากาศนับว่ามีความสำคัญมาก โดยเฉพาะกับประเทศเกษตรกรรมอย่างไทย หรือสำหรับนักท่องเที่ยวเวลาจะเดินทางไปไหนก็ต้องมั่นใจว่าที่นั่นปลอดโปร่ง ไร้เมฆฝน  ไม่เช่นนั้นการพักร้อนอาจกลายเป็นเรื่องน่าเบื่อไปได้ง่าย ๆ เพราะไม่ตรวจสอบสภาพอากาศให้ดี  นักบินและนักเดินเรือก็เช่นกัน  อาชีพเหล่านี้ต้องติดตามการพยากรณ์อากาศอยู่เสมอ   เพราะทุกครั้งที่ปฏิบัติงานท่ามกลางสภาพอากาศต่าง ๆ ย่อมหมายถึงความปลอดภัยในชีวิตของตนเองและผู้ร่วมเดินทางด้วยกันทั้งสิ้น  

ข่าวพยากรณ์อากาศปรากฏตามสื่อต่าง ๆ แทบทุกชนิด  ไม่ว่าจะเป็นโทรทัศน์  วิทยุ  หนังสือพิมพ์  หรือแม้แต่อินเตอร์เนตก็สามารถรายงานสภาพอากาศได้อย่างฉับไว  อย่างไรก็ดี  เมื่อการจัดอันดับความนิยมในการติดตามข่าวต่าง ๆ ของประชาชน  ปรากฏว่า ข่าวพยากรณ์อากาศมักติดอับดับรั้งท้ายเสมอ  ผู้รู้หลายท่านพยายามอธิบายปรากฎการณ์ดังกล่าว  พบข้อสรุปที่สอดคล้องกันอยู่สองประเด็นคือ  ๑) ข่าวพยากรณ์อากาศมีความคลาดเคลื่อน รายงานว่าฝนจะตกก็ไม่ตก รายงานว่าไม่มีฝนก็กลับมีฝนตกลงมาเสียอย่างนั้น  และ  ๒) ข่าวพยากรณ์อากาศอุดมด้วยศัพท์วิชาการที่เข้าใจยาก

ในประเด็นแรกนับว่าเป็นเรื่องที่น่าเห็นใจไม่น้อย  เพราะประเทศไทยตั้งอยู่ในเขตร้อน  ซึ่งมีความแปรปรวนของอากาศสูง  แค่ลมร้อนกับลมหนาว (จริง ๆ คือลมที่ร้อนน้อยกว่าลมอันแรกนิดหนึ่ง) ปะทะกัน  ก็เกิดพายุฤดูร้อนขึ้นได้ง่าย ๆ   ขณะที่พวกยุโรปหรืออเมริกาที่มีความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยี จนได้ชื่อว่าพยากรณ์อากาศได้แม่นยำ ทั้งนี้ก็เพราะเนื้อที่ส่วนใหญ่อยู่ในเขตอบอุ่นขึ้นไปถึงเขตหนาว  ความแปรปรวนของอากาศจะน้อยกว่า  ว่ากันว่าถ้านักอุตุนิยมวิทยาฝรั่งต้องมาพยากรณ์อากาศให้เมืองไทยก็คงปวดหัวเหมือนกัน

สำหรับประเด็นที่สองว่าด้วยศัพท์วิชาการนั้น  ต้องยอมรับว่าการพยากรณ์อากาศถือเป็นศาสตร์เฉพาะแขนงหนึ่ง   ศัพท์ที่ใช้จึงไม่ใช่คำที่เป็นที่เข้าใจในวงกว้าง  ลองดูตัวอย่างต่อไปนี้

                                ท้องฟ้ามีเมฆมากปกคลุม  และมีฝนฟ้าคะนองเกือบทั่วไป

                                กับมีฝนตกหนักบางพื้นที่    

ฟังเผิน ๆ ก็ดูคล้ายจะเข้าใจ แต่เมื่อถามต่อไปว่า “เมฆมาก” นั้น มากแค่ไหน  “ฝนฟ้าคะนอง”  กับ “ฝนตกหนัก”  เหมือนกันหรือไม่    คำว่า “เกือบทั่วไป” กับ “บางพื้นที่”  ต่างกันอย่างไร  ถึงตอนนี้ก็รู้สึกว่าภาษาอุตุนิยมวิทยานั้นใช้สื่อสารได้ไม่ง่ายเสียแล้ว 

ปริมาณเมฆบนท้องฟ้า

การอธิบายปริมาณเมฆบนท้องฟ้านั้น  นักอุตุนิยมวิทยาจะสมมุติพื้นที่บนท้องฟ้าเป็น ๑๐ ส่วน  หากมองขึ้นไปแล้วพบว่าไม่มีเมฆ หรือมีเมฆน้อยกว่า ๑ ส่วนก็จะเรียกว่า  ท้องฟ้าแจ่มใส (fine)  เมื่อเรียงลำดับปริมาณเมฆแล้วจะได้สภาพท้องฟ้ารูปแบบต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

                                มีเมฆน้อยกว่า ๑ ส่วน                            >        ท้องฟ้าแจ่มใส (fine sky)

                                เมฆ ๑ ส่วน ถึง ๓ ส่วน                           >          ท้องฟ้าโปร่ง (fair sky)   

                                เมฆมากกว่า ๓ ส่วนถึง ๕ ส่วน             >          เมฆบางส่วน ( partly cloudy sky )

                                เมฆมากกว่า ๕ ส่วนถึง ๘ ส่วน             >          เมฆเป็นส่วนมาก ( cloudy sky )

                                เมฆมากกว่า ๘ ส่วนถึง ๙ ส่วน              >          เมฆมาก (very cloudy sky )  

                                เมฆมากกว่า ๙ ส่วนถึง ๑๐ ส่วน            >          เมฆเต็มท้องฟ้า (overcast sky )

ศัพท์อีกคำที่พบได้เสมอในข่าวพยากรณ์อากาศคือคำว่า ฟ้าหลัว (dry haze ) หมายถึง สภาพอากาศที่มีฝุ่นหรือควันปะปนอยู่  แต่ไม่หนาพอที่จะทำให้รู้สึกเป็นฝุ่น  แต่ก็ทำให้ทัศนวิสัยลดลง  เช่น ทิวเขามัวลง  มองเห็นตึกไกล ๆ ในกรุงเทพฯ ไม่ชัด  เป็นต้น   โดยปกติทัศนวิสัยจะเห็นได้ไกลกว่า ๑๐ กิโลเมตรโดยประมาณ  แต่ถ้าใกล้กว่านั้นก็สันนิษฐานว่าเพราะฟ้าหลัวนั่นเอง

ฝนฟ้าคะนอง

ฝนฟ้าคะนอง (thundery rain) หมายถึง  ฝนที่ตกลงมาเป็นระยะ เดี๋ยวแรง เดี๋ยวค่อย มักจะมีฟ้าแลบ ฟ้าร้องร่วมด้วย  ในความหมายกว้างจะรวมลูกเห็บและหิมะเข้าไปอีกกลุ่มหนึ่ง

สำหรับ ปริมาณน้ำฝน นั้น  จะวัดจากจำนวนน้ำฝนที่ลงมาใน ๒๔ ชั่วโมงโดยอาศัยเครื่องวัดน้ำฝนเป็นเครื่องมือ   หน่วยปริมาณน้ำฝนจะวัดความสูงเป็นมิลลิเมตรตามลำดับต่อไปนี้

                                น้อยกว่า ๐.๑ มิลลิเมตร                        >          ฝนวัดจำนวนไม่ได้ (trace)

                                ๐.๑ – ๑๐.๐  มิลลิเมตร                        >          ฝนเล็กน้อย (slight rain)

                                ๑๐.๑ – ๓๕.๐ มิลลิมตร                       >          ฝนปานกลาง (moderate rain )

                                ๓๕.๑ – ๙๐.๐ มิลลิเมตร                      >          ฝนหนัก ( heavy rain )

                                ๙๐.๑ มิลลิเมตรขึ้นไป                          >          ฝนหนักมาก (very heavy rain ) 

นอกจากนี้ยังมีเกณฑ์การกระจายของฝน เพื่อบอกว่าฝนตกครอบคลุมพื้นที่มากน้อยเพียงใด  โดยดูจากร้อยละของพื้นที่ดังนี้

                                 < ร้อยละ ๒๐ ของพื้นที่                       >          บางแห่งหรือบางพื้นที่

                                 > ร้อยละ ๒๐ < ร้อยละ ๔๐                 >          เป็นแห่ง ๆ 

                                 > ร้อยละ ๔๐ <  ร้อยละ ๖๐                >          กระจาย

                                 > ร้อยละ ๖๐  < ร้อยละ ๘๐                >          เกือบทั่วไป

                                 > ร้อยละ ๘๐                                        >         ทั่วไป                      

ลักษณะทะเล

ชาวเรือมักจะคุ้นเคยกับคลื่นลมเป็นอย่างดี ลักษณะทางทะเลต่อไปนี้อาศัยความสูงของคลื่นเป็นเกณฑ์

                                คลื่นสูงไม่เกิน ๐.๕ เมตร                       >          ทะเลเรียบ

                                คลื่นสูงกว่า ๐.๕ เมตรถึง ๑.๒๕ เมตร  >          ทะเลมีคลื่นเล็กน้อย

                                คลื่นสูงกว่า ๑.๒๕ เมตรถึง ๒.๕ เมตร  >          ทะเลมีคลื่นปานกลาง

                                คลื่นสูงกว่า ๒.๕ เมตรถึง ๔ เมตร        >          ทะเลมีคลื่นจัด

                                คลื่นสูงกว่า ๔ เมตร ถึง ๖ เมตร            >          ทะเลมีคลื่นจัดมาก

                                คลื่นสูงกว่า ๖ เมตร ถึง ๙ เมตร             >          ทะเลมีคลื่นใหญ่

                                คลื่นสูงกว่า ๙ เมตร ถึง ๑๔ เมตร          >          ทะเลมีคลื่นใหญ่มาก

                                คลื่นสูงกว่า ๑๔ เมตร                             >          ทะเลเป็นบ้า

ในทางปฏิบัตินั้นจะไม่ค่อยใช้ศัพท์เหล่านี้เพราะฟังไม่เข้าใจได้ทันที  ผู้สื่อข่าวมักจะรายงานลักษณะทะเลโดยการระบุความสูงของคลื่นไปเลย  เพื่อสื่อสารกับผู้ฟังอย่างตรงไปตรงมา

Facebook Comments Box