Generic selectors
Exact matches only
Search in title
Search in content
Post Type Selectors

เล่นสนุกให้สมาร์ทโฟนมองสี โชว์เห็นเป็นตัวเลข

เมื่อแสงจากดวงอาทิตย์หรือหลอดไฟตกกระทบวัตถุแต่ละชิ้น เกิดการสะท้อนแสงความยาวคลื่นที่ต่างกัน ทำให้เรามองเห็นวัตถุเป็นสีต่างๆ ได้ กระบวนการทางวิทยาศาสตร์นี้ คือพื้นฐานในการใช้ชีวิตประจำวัน เป็นส่วนสำคัญเป็นของการพิจารณาสิ่งรอบตัว และตัดสินการเปลี่ยนแปลง เช่น ประเมินความอุดมสมบูรณ์ของดินและพืช  หรือ ความสุกของอาหารเมื่อปรุงด้วยความร้อน  

 

สี ยังสื่อความหมายสำคัญทางสุนทรียะและศิลปะ เป็นปัจจัยก่อเกิดอารมณ์ความรู้สึกที่แตกต่าง มีผลกับการเลือก ยานพาหนะ เสื้อผ้า เฟอร์นิเจอร์ ของใช้ ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ตามรสนิยม รวมถึง การตกแต่งที่อยู่อาศัย สร้างเอกลักษณ์แบรนด์ร้านค้า อาคาร ในทุกภาษาจึงมีการบรรยายสีอย่างแตกต่างหลากหลาย โดยใช้จินตนาการประกอบ เป็นคำเรียกที่งดงาม เช่น เขียวมรกต น้ำเงินอมม่วง แดงเลือดนก ชมพูหวานหวาน 

 

อย่างไรก็ตาม การบรรยายสี แยกแยะให้ละเอียดที่สุด ต้องวัดว่าแสงที่วัตถุสะท้อนออกมาแต่ละความยาวคลื่น มีความเข้มมากน้อยเพียงใด อาศัยหลักพื้นฐานเดียวกับ การทำงานของจอภาพอิเล็กทรอนิกส์  ที่แสดงสีเลียนแบบธรรมชาติได้ถึงหลักล้านเฉด คือการใช้ระบบสี RGB จำแนกองค์ประกอบแม่สีของแสงทั้งสาม คือ แดง (R) เขียว (G) น้ำเงิน (B) เป็นตัวเลขคู่ลำดับในปริภูมิสี เครื่องมือที่สามารถมองเห็นว่าแต่ละสีเกิดจากการผสมแสงความยาวคลื่นใดบ้าง แล้วแยกเป็นองค์ประกอบตามระบบ RGB หรืออื่นๆ ที่เหมาะสมในกรณีต่างๆ กัน ได้แก่ ระบบ CIE Lab  และ HSV เป็นต้น คือ สเปกโตรโฟโตมิเตอร์ หรือ เครื่องวัดสี ในห้องปฏิบัติการ   

 

ในปัจจุบัน สมาร์ทโฟนที่ใช้ถ่ายภาพกันอย่างแพร่หลาย มีเซนเซอร์พร้อมจำแนกองค์ประกอบแม่สีของแสงทั้งสาม เมื่อดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน เช่น Color Grab หรือ ColorMeter Free มาเปิดใช้งาน จะแสดงผลค่าสีของวัตถุ เป็นตัวเลขคู่ลำดับในปริภูมิสี RGB พร้อมกับแปลงเป็นระบบสีอื่นๆได้ด้วย  ทำให้การวัดสีไม่จำกัดเพียงการใช้เครื่องมือจากห้องปฏิบัติการอีกต่อไป  จึงเพิ่มความสะดวก รวดเร็ว และเปิดกว้างให้ทุกคนที่ใช้สมาร์ทโฟนทำได้อย่างสนุกสนาน  เป็นของเล่นวิทยาศาสตร์สำหรับเด็กเล็กๆ ได้ จุดประกายความเป็นนักวิทยาศาสตร์ วิศวกร นักออกแบบ หรือ ศิลปินแนวโมเดิร์นอาร์ต ในอนาคต 

 

คณาจารย์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้นำการวัดสีด้วยสมาร์ทโฟน ประยุกต์ส่งเสริม เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ชุมชน และสืบสานมรดกทางวัฒนธรรม คือ วัดสีสะตออบแห้งที่คืนรูปเมื่อแช่น้ำเทียบกับสีสะตอสด [1] วัดสีของผ้าบาติกที่สะท้อนถึงความคิดของศิลปินผู้สร้างสรรค์ [2] วัดสีของเครื่องปั้นดินเผาโบราณว่ามาจากว่ามาจากแหล่งดินและมีกระบวนการที่ต่างกันอย่างไร [3] เผยแพร่ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ 

 

สิ่งที่พึงคำนึงในการใช้สมาร์ทโฟนวัดสี คือ ความคลาดเคลื่อนเกิดขึ้นได้จากแอปพลิเคชันที่ใช้ และ สมาร์ทโฟนที่มีฟังก์ชันปรับภาพให้แจ่มโดยอัตโนมัติ จะบิดเบือนค่าสีที่แท้จริง นอกจากนี้ การจัดแสงที่ตกกระทบ และการจัดวางอุปกรณ์ในการวัด ล้วนเป็นปัจจัยส่งผลถึงตัวเลขค่าสีที่อ่านได้

 

เอกสารอ้างอิง

[1] M. Nisoa, K. Wattanasit, A. Tamman, Y. Sirisathitkul and C. Sirisathitkul, “Microwave drying for production of rehydrated foods: A case study of stink bean (Parkia speciosa) seed. Applied Sciences, vol. 11, article no. 2918, 2021. 

[2] Y. Sirisathitkul and S. Kaewareelap, “Color analysis of batik fabric by facile smartphone colorimetry.” International Journal of Advanced Science, Engineering and Information Technology, vol. 11, pp. 84-91, 2021.

[3] C. Sirisathitkul, K. Ekmataruekul, Y. Sirisathitkul and W. Noonsuk, “Smartphone colorimetry of fine-paste ware in Hindu-Buddhist rituals,” European Journal of Science and Theology, vol. 16, pp. 179-186, 2020.

Facebook Comments Box